การจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" ในสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2546

ความเป็นมา

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มก่อตั้งห้องสมุดของคณะฯเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยขณะนั้นเป็น "ห้องสมุดโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เมื่อโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ห้องสมุดจึงเปลี่ยนฐานะจากห้องสมุดของโรงเรียนฯ เป็น "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" สถานที่ตั้งของห้องสมุด เดิมอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ในปัจจุบัน

เมื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ายจากที่ตั้งเดิม มายังถนนพระรามที่ 6 ห้องสมุดได้ย้ายมายังสถานที่ใหม่ โดยอยู่ที่ชั้น 2 และ 3 ของตึกฟิสิกส์ และได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึกใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อมามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 ห้องสมุดจึงใช้ชื่อว่า "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล" และเปลี่ยนชื่อเป็น "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์" พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อของคณะ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2512 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2519 ประชุมคณบดีได้มีมติให้ใช้ชื่อห้องสมุดว่า "ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ยกฐานะ กองห้องสมุด สังกัดสำนักงานอธิการบดี ขึ้นเป็นสำนักหอสมุด และมีคำสั่งให้โอนย้ายห้องสมุดคณะ/สถาบันต่างๆ มาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักหอสมุดด้วย ดังนั้น สำนักหอสมุดจึงได้ทำการโอนย้ายข้าราชการทั้งหมดของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ไปขึ้นกับสำนักหอสมุด รวมทั้งย้ายบุคลากรจำนวนหนึ่งไปปฏิบัติงาน ณ สำนักหอสมุด ศาลายา ตั้งแต่นั้นมา ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงมีฐานะเป็นห้องสมุดสาขาของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังคงได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านงบประมาณจากคณะวิทยาศาสตร์ ในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งวัสดุสิ่งพิมพ์ หนังสือ วารสาร ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบคอมพิวเตอร์ สวัสดิการและเงินช่วยเหลือบุคลากร อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 17 ปี

และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และ ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสำนักหอสมุด ได้มีมติให้คณะสามารถดำเนินการบริหารงานห้องสมุดได้เอง ด้วยมติดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความพร้อม จึงขออนุมัติเข้าบริหารงานห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข และขอรับบุคลากรห้องสมุดบางส่วน ที่มีความประสงค์จะปฏิบัติงานต่อ ณ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โอนย้ายมาสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป

เหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข"

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีภาระกิจหลักด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยมีปรัชญามุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดี เพื่อนำพาชาติสู่ความเจริญพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์มีคณาจารย์ทั้งสิ้น 321 คน (ศาสตราจารย์ 27 คน รองศาสตราจารย์ 81 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 89 คน อาจารย์ 124 คน) อาจารย์ต่างประเทศและอาจารย์ช่วยสอน 131 คน บุคลากรฝ่ายสนับสนุนสาย ข ค ลูกจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 350 คน รับผิดชอบหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาเอก 18 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 20 หลักสูตร และระดับปริญญาตรี 11 หลักสูตร ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษา ระดับปริญญาเอก 273 คน ระดับปริญญาโท 626 คน ระดับปริญญาตรี 1,100 คน และรับผิดชอบการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาตรีของคณะอื่นๆ จำนวน 3,220 คน

เนื่องจากการวิจัยพื้นฐาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต และการวิจัยที่จะประสบผลสำเร็จได้อย่างดีนั้น จำเป็นจะต้องมีบุคลากรและนักวิจัยที่มีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา มีการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอ ตลอดจนบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินงาน โดยตระหนักถึงความสำคัญในอันที่จะพัฒนาการวิจัยของคณะฯ และของประเทศสู่ความเป็นเลิศ คณะวิทยาศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง Center of Excellence ขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งประกอบด้วย

  1. หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence)
  2. หน่วยวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ (Capability Building Research Units)
  3. หน่วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technology Innovation Units)
  4. หน่วยความร่วมมือการวิจัยกับต่างประเทศ (Collaborative Research Center)

โดยเน้นงานวิจัยในลักษณะสหวิทยาการ ใช้ระบบบริหารจัดการแนวใหม่ ผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนให้มากยิ่งขึ้น

ตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543-2545) คณาจารย์และนักวิจัยของคณะฯ ได้ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับ มีการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เฉลี่ยปีละ 163 บทความ มีคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงได้รับรางวัลดีเด่น และได้รับการสดุดีเกียรติคุณจากสถาบันสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 10 ราย ดังนั้น เพื่อให้ภาระกิจด้านการศึกษาและการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2545-2559) และเป้าหมายที่วางไว้ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2545-2549) คณะฯ จึงจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นการศึกษา และเกิดผลงานวิจัยในระดับสากล จัดให้มีศูนย์ข้อมูลและสื่อการสอนทุกรูปแบบ (Resource Center) พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการปฏิรูประบบการเรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาเพื่อให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง จัดระบบบริหารและการเงินของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เสริมสร้างความสามัคคี ร่วมกันพัฒนาคณะฯ และมหาวิทยาลัย สร้างจิตสำนึกให้นักศึกษาและบุคลากรเกิดความรักความผูกพันกับสถาบัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับชุมชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะรวมหน่วยงานที่มีภาระงานด้านสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายในเมื่อต้นปีงบประมาณ 2545 และ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ที่มีภาระงานด้านการพัฒนาและบริการสารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสื่อวัสดุสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับให้มีฐานะเป็นงานงานหนึ่ง ภายใต้สังกัดสำนักงานคณบดี จัดให้มีโครงสร้างและรูปแบบที่เหมาะสม พัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมและให้บริการสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย ของคณะฯ โดยเน้นความต้องการสารสนเทศของบุคลากรและนักศึกษาของคณะฯ และมหาวิทยาลัยเป็นหลัก และให้การดำเนินงานด้านสารสนเทศ ของ "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เป็นไปตามนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดี และเป็นผู้นำทางวิชาการและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข"

การจัดตั้งงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ขึ้นในสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาระกิจทางด้านการพัฒนาและบริการสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนและการวิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ ดังต่อไปนี้

  1. ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดหา จัดเก็บ และให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภายในคณะวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงคุณภาพ ความทันสมัย และสอดคล้องกับสาขาวิชาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนและการวิจัยเป็นสำคัญ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จะได้รับการพัฒนาให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) และมีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Study Learning) ของ อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบุคลากรของคณะฯ เน้นการบริการแบบผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (Users Center)
  2. ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการศึกษา ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จะได้รับการพัฒนาให้เป็นห้องสมุดดิจิตอลทางวิทยาศาสตร์ (Science Digital Library) เพื่อให้บริการโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เป็นแหล่งบริการสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ทันสมัย (e-Resources) เป็นแหล่งจัดเก็บและรวบรวมผลงานวิจัยและสารสนเทศที่มีคุณค่าของคณะวิทยาศาสตร์ (e-Archives) และเป็นศูนย์ผลิตและให้บริการสื่อการศึกษาแบบมัลติมีเดีย (Multimedia Center) เพื่อการผลิตและให้บริการสื่อการเรียนการสอนทุกรูปแบบ สำหรับอาจารย์และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์
  3. ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จะทำหน้าที่เป็นแหล่งบริการให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา โดยประสานงานกับภาควิชาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้บริการสถานที่จัดงานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของคณะวิทยาศาสตร์ในลักษณะ Computer Training Center
  4. การจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" จะเป็นการรวบรวมภาระกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการสารสนเทศเพื่อการศึกษาและวิจัยทั้งหมดของคณะวิทยาศาสตร์ ไว้ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อความสะดวกของผู้รับบริการ นอกจากนั้น ยังเอื้อประโยชน์ต่อการประสานความร่วมมือกับภาควิชาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในคณะฯและนอกคณะฯ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ต่อคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้ชุมชนของคณะวิทยาศาสตร์ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อพัฒนาห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมสืบไป

ลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบของ "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข"

1. ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข มีภาระงานดังต่อไปนี้

งานบริหารและธุรการ

  • งานสารบรรณ ร่างหนังสือ พิมพ์หนังสือ รับ-ส่งหนังสือระหว่างหน่วยงาน หนังสือเวียนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Lotus Note) และเวียนหนังสือรับทราบภายในหน่วยงาน จัดเก็บแฟ้มเอกสาร บันทึกข้อความต่างๆ
  • งานเลขานุการ ติดตามเรื่องและประสานงานกับหน่วยงานอื่น จดบันทึก และจัดทำรายงานการประชุมหน่วยงาน
  • งานบริหารบุคลากร รวบรวมและสรุปสถิติผลการปฏิบัติงาน วันขาด ลา มาสาย ประเมินผลงาน อบรมและพัฒนาบุคลากร ดูแลเรื่องสวัสดิการ จัดการประชุมบุคลากร
  • งานนโยบายและแผน ประกันคุณภาพ จัดทำเอกสารรายงานการประเมินตนเอง (SAR)
  • งานการเงินและบัญชี บริหารค่าใช้จ่ายของหน่วยงานจากเงินงบประมาณและเงินรายได้ จัดทำบัญชีเงินรายได้จากกิจกรรมและบริการทางวิชาการ เบิกจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาช่วยปฎิบัติงาน ค่าปฏิบัติงานล่วงเวลาของบุคลากร ทำเรื่องจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน และทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด
  • งานอาคารสถานที่และพัสดุ จัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ จัดทำบัญชีรายชื่อและจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้งาน ดำเนินการเบิกวัสดุสำนักงาน งานบ้าน และแจ้งซ่อมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดูแลรักษาความปลอดภัย และปรับปรุงอาคารสถานที่ห้องสมุด ควบคุมดูแลการทำความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องสมุด

งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ

  • งานคัดเลือกและจัดหาทรัพยากร ขอบริจาคและแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ รับข้อเสนอแนะในการสั่งซื้อวัสดุสิ่งพิมพ์ หนังสือ วารสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อโสตทัศนศึกษาต่างๆ
  • งานจัดทำทะเบียนหนังสือ สิ่งพิมพ์ต่อเนื่องรายปี และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ ซีดีรอมที่มากับหนังสือ
  • งานจัดซื้อ ติดต่อสำนักพิมพ์และตัวแทนจำหน่าย ติดตามและตรวจสอบราคาทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ
  • งานบำรุงรักษาทรัพยากรห้องสมุด ส่งซ่อมเล่มหนังสือชำรุด สำรวจการสูญหาย และจำหน่ายออก

งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ

  • งานวิเคราะห์หมวดหมู่ กำหนดหัวเรื่อง ลงรายการบรรณานุกรม และจัดทำบัตรรายการหนังสือ และสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องรายปี
  • งานบันทึกรายการบรรณานุกรม / เพิ่มเลขทะเบียนหนังสือเข้าฐานข้อมูล INNOPAC
  • งานจัดเตรียมเล่ม พิมพ์บัตรยืม และติดสัน-ซองที่ตัวเล่ม ติดบาร์โค้ด เตรียมออกให้บริการ
  • งานจัดทำรายชื่อหนังสือใหม่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ของห้องสมุด

งานวารสาร

  • งานตรวจรับเล่ม ลงทะเบียนวารสาร ในรูปแบบบัตรทะเบียนวารสาร (Kardex) และลงทะเบียน วารสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบ INNOPAC
  • งานจัดทำบัญชีรายชื่อวารสารที่บอกรับ บนเว็บไซต์ของห้องสมุด และเว็บไซต์ความร่วมมืออื่นๆ อาทิ JournalLink และศูนย์ประสานงานสารสนเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
  • งานแก้คำผิดวารสาร
  • งานจัดเตรียม และเย็บรวมเล่มวารสาร ส่งซ่อมเล่มวารสารชำรุด
  • งานบอกรับ ต่ออายุการเป็นสมาชิกวารสาร ติดต่อสำนักพิมพ์และตัวแทนจำหน่ายวารสาร
  • งานตรวจสอบและทวงถามวารสารที่ส่งไม่ตรงเวลา

งานบริการยืมคืนสิ่งพิมพ์

  • งานบริการให้ยืม-รับคืนสิ่งพิมพ์ ในเวลาและนอกเวลาราชการ
  • งานบริการให้ยืม-รับคืนสิ่งพิมพ์ระหว่างห้องสมุด ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล
  • งานทำบัตรสมาชิกห้องสมุด ต่ออายุบัตร ตรวจสอบหนี้สินของสมาชิก
  • งานทวงสิ่งพิมพ์ ปรับสิ่งพิมพ์เกินกำหนดส่งหรือชำรุด
  • งานจัดเก็บและเรียงสิ่งพิมพ์ขึ้นชั้น ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชั้นวางหนังสือ วารสาร ตรวจนับและบันทึกสถิติการใช้เล่มหนังสือ วารสาร และสถิติการยืมออก
  • งานตรวจสอบสิ่งของและสิ่งพิมพ์ก่อนนำออกจากห้องสมุด และรับฝากสิ่งของ
  • งานจำหน่ายหนังสือ ตำราที่ผลิตโดยคณาจารย์ของคณะฯ จำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคณะฯ

งานบริการสำเนาเอกสาร

  • งานบริการขอสำเนาบทความจากห้องสมุดอื่น และขอสำเนาจากต่างประเทศ
  • งานบริการสำเนาบทความให้แก่ห้องสมุดอื่น ผู้ใช้บริการทั่วไป หรือผู้ใช้บริการผ่านระบบ JournalLink
  • ติดต่อ รับ-ส่งคำขอ และรับ-ส่งสำเนาเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

งานบริการสารสนเทศและช่วยการค้นคว้า

  • งานบริการสืบค้นสารสนเทศ สืบค้นวารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ของห้องสมุดบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นด้วยตนเอง
  • งานบริการตอบคำถาม ช่วยการค้นคว้า แนะนำและให้คำปรึกษาเทคนิควิธีการสืบค้นสารสนเทศ
  • งานส่งเสริมการใช้บริการสารสนเทศ ปฐมนิเทศนักศึกษา นำชมห้องสมุด จัดฝึกอบรม แนะนำการใช้ห้องสมุด
  • งานผลิตคู่มือสืบค้นเพื่อเผยแพร่ ทั้งในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ คู่มือ แผ่นพับ และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
  • งานบริการผู้อ่าน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้หนังสือและวารสารภายในห้องสมุด บริการหนังสือพิมพ์
  • งานส่งเสริมและเผยแพร่บริการวิชาการ ส่งเสริมการอ่าน ประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการ

งานเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • งานดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครื่องแม่ข่าย เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง
  • งานรับผิดชอบดูแลและแก้ไขปัญหาทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์
  • งานดูแลห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพื่อการฝึกอบรมและบริการ (Computer Training Room)
  • งานจัดทำ และพัฒนาโปรแกรม และสร้างฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อการใช้งานประสานงานกับสำนักคอมพิวเตอร์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์

2. หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีภาระงานดังต่อไปนี้

  • งานจัดทำและพัฒนาเว็บไซต์ของคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งอินเตอร์เน็ต และอินทราเน็ต ในส่วนของภาพรวมของคณะฯ และงานประชาสัมพันธ์กิจกรรม ข่าวสาร และผลงานของคณะฯ
  • งานจัดทำและพัฒนาเว็บไซต์ของงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จัดทำระบบห้องสมุดดิจิตอลทางวิทยาศาสตร์ (Science Digital Library)
  • งานจัดเก็บและรวบรวมผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์และรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผลงานอื่นๆ ที่ผลิตและเผยแพร่โดยคณาจารย์และนักวิจัยของคณะฯ ให้ครบถ้วน
  • งานวิเคราะห์สารสนเทศผลงานวิจัย เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร วิเคราะห์สถิติผลงานวิจัย และจัดทำดัชนี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการวิจัย
  • งานบริการวิชาการด้านสารสนเทศ ให้แก่หน่วยงานภายนอก
  • งานฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านสารสนเทศ
  • งานพัฒนาสารสนเทศวิทยาศาสตร์ ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหว และความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านสารสนเทศวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ต ศึกษา วิเคราะห์ และสำรวจแหล่งสารสนเทศต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จัดหาและประสานงานการบอกรับวารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นศูนย์กลางประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การใช้สารสนเทศในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัย
  • ทำการวิจัยทางด้านสารสนเทศวิทยาศาสตร์ และนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานด้านสารสนเทศ
  • ประสานงานกับสำนักหอสมุด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและบริการสารสนเทศ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

3. หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา มีภาระงานดังต่อไปนี้

  • งานให้บริการสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ซีดีรอม เทปเสียง สไลด์ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ทางการศึกษา และวิชาการ ที่อาจารย์สอนในห้องเรียน บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้นักศึกษาได้ทบทวนความรู้พร้อม แบบฝึกหัดทดสอบตนเอง สารคดีและบันเทิงคดี
  • งานจัดทำทะเบียนสื่อโสตทัศนวัสดุ และโสตทัศนูปกรณ์
  • จัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และผลิตเอกสาร อาทิ แผ่นพับ ป้ายประกาศ จดหมายข่าว โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ จัดบอร์ดนิทรรศการของห้องสมุด
  • งานจัดทำและพัฒนาศูนย์ผลิตและบริการสื่อการศึกษาแบบมัลติมีเดีย (Multimedia Center) ของคณะวิทยาศาสตร์ ผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอนทุกรูปแบบ สำหรับอาจารย์และนักศึกษาของคณะ
  • ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการศึกษา และนวัตกรรมทางการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกคณะฯ