หนังสือเล่มโปรด ปี 2559 (My Favorite Book)

นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

หัวหน้าหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์

ฟีลดิ้ง ฮอล, แฮโรลด์. (2558). ราชินีศุภยาลัต : จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน.
แปลจาก Thibaw's Queen. แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ. กรุงเทพ : มติชน.

เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพม่าช่วงสุดท้ายของราชวงศ์คองบอง ก่อนที่จะถูกอังกฤษกลืนกินกลายเป็นเมืองขึ้น ถูกเล่าขานจนกลายเป็นตำนาน โดยเฉพาะเรื่องในราชสำนักเกี่ยวกับการบริหารราชกิจและชีวิตส่วนพระองค์ของ พระเจ้าธีบอ และ สมเด็จพระราชินีศุภยาลัต ที่ถูกใส่สีจนแยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือความจริงสิ่งใดคือเรื่องเล่า

มีหนังสือหลายเล่มที่เล่าถึงชีวิตในราชสำนักของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบอง และสมเด็จพระราชินีศุภยาลัต ที่ว่ากันว่าผู้กุมอำนาจของประเทศที่แท้จริงคือพระนาง หาใช่กษัตริย์ไม่ เรื่องเล่าที่ว่ากันว่าพระนางเป็นคนใจคอโหดเหี้ยม ทะเยอทะยาน และอยู่เบื้องหลังการนองเลือดที่เป็นตำนานของพม่า ขนาดหนังสือ ประวัติศาสตร์พม่า (History of Burma) ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับของพม่าเองอย่าง หม่อง ทิน อ่อง ก็ยังบันทึกเรื่องนี้ไว้ หรือหนังสือ พม่าเสียเมือง ของ อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็บรรยายเรื่องของพระนางไว้อย่างละเอียด เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเป็นตำราเล่มไหนๆ ส่วนใหญ่มักจะบันทึกเรื่องของพระนางไว้ในทำนองเดียวกันนี้

หนังสือ Thibaw's Queen เล่มนี้เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์นางกำนัลที่เคยถวายงานรับใช้สมเด็จพระราชินี โดย แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง เขาเป็นอดีตข้าราชการอาณานิคมของอังกฤษประจำอินเดียและพม่า เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากตำราเล่มอื่นๆ ที่ไม่ได้บรรยายถึงความโหดร้ายของพระนาง แต่จะพาผู้อ่านเข้าไปค้นคว้าเบื้องลึกในจิตใจของพระนาง เราจะพบว่าแท้จริงพระนางก็ไม่ต่างไปจากปุถุชนทั่วไปที่มีความรัก ความเกลียดชัง ความหวัง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวส่วนบุคคลมากกว่าจะทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง


จากซ้าย สมเด็จพระพี่นางศุภยาคยี (พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชินีศุภยาลัต) สมเด็จพระราชินีศุภยาลัต
และพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของประเทศพม่า

 

"... ที่ว่าพระนางศุภยาลัตโหดร้ายกระหายเลือด ก็ไม่เห็นว่าพระนางจะต่างจากสตรีพม่าอื่นๆ ตรงไหน ใครรู้จักผู้หญิงพม่าคงไม่อาจกล่าวหาสตรีจิตใจอ่อนโยนและกิริยานุ่มนวลอย่างที่พวกเรายกย่องว่าโหดร้ายได้ พระเจ้าธีบอรักพระนางมาก และพระนางก็รักพระองค์มากเช่นกัน หากพระนางร้ายกาจอย่างที่คนกล่าวหาจะทรงเป็นที่รักและผู้ได้รับความรักเยี่ยงนี้หรือ..."

เนื้อหาถูกเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ เป็นประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (Oral History) จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการสอดแทรกทัศนส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์ หรือความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง แต่ในช่วงเวลานั้นคงจะหาใครสักคนที่เคยใกล้ชิดและอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากเท่านางกำนัลผู้นี้ จึงมีหลายท่านวิจารณ์ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่อาจเป็นข้อมูลอ้างอิงหรืออาจขาดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างน้อยก็เป็นบันทึกที่ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตของสตรีผู้หนึ่งที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจากสตรีอื่นทั่วไป

Thibaw's Queen เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2442 ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 โดย บรรจบ ชุวานนท์ ในชื่อ มเหษีสีป๊อ จนกระทั่งถูกนำมาปัดฝุ่นแปลและเรียบเรียงใหม่โดยสำนักพิมพ์มติชน