หนังสือเล่มโปรด ปี 2559 (My Favorite Book)

ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล

รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศและสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

จิตตนคร นครหลวงของโลก
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ทำไมจึงชอบหนังสือเล่มนี้

รู้จักหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก จากการไปเที่ยว "งานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร ๑๐๑ จิตตนคร The Hidden Capital" ซึ่งเป็นงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฑราช สกลมหาสังฆปริณายก จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ก่อนกลับบ้านได้ซื้อหนังสือ ๕ เล่ม ที่ถือว่าเป็นสุดยอดหนังสือคำสอนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และ "จิตตนคร" เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เล่มที่ซื้อไม่ใช่หน้าปกเล่มนี้ อันที่จริง "จิตตนคร" มีด้วยกันหลายปก เพราะจัดทำขึ้นในโอกาสต่างๆ โดยคณะบุคคลจำนวนมากที่มีความศรัทธาในคำสอนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ "จิตตนคร" เป็นหนังสือที่หาอ่านได้ง่าย เป็น e-book ให้ download ฟรีก็มี เป็น mp3 ให้ฟังทางอินเทอร์เน็ตก็มี เป็นแผ่น CD หนังสือเสียงอ่านก็มี ส่วนหน้าปกที่เห็นในภาพ เป็นเล่มที่ยืมมาจากห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

โดยส่วนตัวไม่ได้มีรสนิยมการอ่านหนังสือประเภทนวนิยาย แต่เมื่อได้อ่าน "จิตตนคร" เป็นครั้งแรก รู้สึกทึ่งและประหลาดใจในพระปรีชาสามารถของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่สามารถอธิบายเรื่อง "จิต" และ "ธรรม" โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องเสมือนเป็นนวนิยายให้ชาวบ้านทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ผู้ที่แตกฉานในธรรมะอย่างลึกซึ้งและเข้าใจโลกอย่างกระจ่างแจ้งเท่านั้น จึงจะสามารถทำเช่นนี้ได้ เป็นหนังสือเล่มโปรดที่อ่านกี่รอบ ฟังกี่รอบ ก็ไม่เคยเบื่อ

 

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

เป็นเรื่องราวตามพุทธพจน์ที่ว่า "พึงรู้ว่ากายนี้มีอุปมาแตกง่ายเปรียบด้วยหม้อดิน พึงกั้นจิตที่มีอุปมาด้วยนครที่มีป้อมปราการสร้างไว้ดีแล้ว พึงรบชนะมารด้วยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ" 

จิตตนครเป็นเมืองหลวงลับแล ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก ไม่ค่อยสนใจจะไปเที่ยวชม ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เดินทางไปถึงได้ยาก แต่แท้จริงเมืองนี้อยู่ใกล้ที่สุด เพราะตั้งอยู่ในจิตของทุกคนนั่นเอง

เมือง “จิตตนคร”นี้ มีเจ้าเมืองหรือ “นครสามี”หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “จิต” สถิตอยู่ที่ถนน ๔ แพร่ง (ดิน น้ำ ลม ไฟ) มีพฤติกรรมเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายตามอารมณ์ แล้วแต่ว่าจะเชื่อฟังคำพูดกรอกหูของผู้ใด มี “คู่บารมี” (เข้าใจว่าหมายถึง พระมเหสี) เป็นฝ่ายดี และ “คู่อาสวะ” (เข้าใจว่าหมายถึง พระสนมเอก) และเพื่อนสนิทของเธอที่มีชื่อว่า “อนุสัย” (& The Gang) เป็นฝ่ายไม่ดี เพื่อนคู่หูตัวร้ายของเจ้าเมืองมีชื่อว่า “สมุทัย” มีนิสัยอยากได้ใคร่ดี (ซึ่งต่างจากคำว่า อยากดี) คิดสร้างโน่นสร้างนี่แบบ mega project ตลอดเวลา ไปไหนมาไหนจะแวดล้อมด้วยสมุนบริวารห้อมล้อมเป็นกองทัพ ได้แก่ พวกโลภ โกรธ หลง กิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘

ตัวละครตามท้องเรื่องมีจำนวนมากมาย จำชื่อได้ไม่หมด แต่ที่ชอบมากคือตัวที่เป็นหัวหน้าระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร มีชื่อว่า “มโน”ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของเจ้าเมืองและเป็นศูนย์รวมข่าวสาร รับจากระบบชั้นนอกเข้ามายังระบบชั้นในผ่านทางทวารทั้ง ๕  ทำงานตลอดเวลาไม่ได้หยุดหย่อน เพราะบางครั้งเจ้าเมืองไม่ยอมหลับ ชอบเรียกตัวมโนให้มารายงานข่าวอีก (หรือที่เรียกกันว่า ฝัน) ระบบสื่อสารของจิตตนคร ยิ่งเจริญเพียงใด เจ้าเมืองได้รับการติดต่อรู้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆ มากเพียงใด จะยิ่งได้รับความทุกข์และความวุ่นวายเพียงนั้น นอกเสียจากเจ้าเมืองจะมีสติปัญญารู้ทันพอสมควร และรู้จักทิ้งข่าวเสียบ้าง

อย่างไรก็ตาม นับเป็นบุญของเจ้าเมือง ที่คู่บารมีของท่าน มี consultant ชั้นยอด คือ “พระบรมครู” (หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มิเช่นนั้น ป่านนี้เจ้าเมืองคงเสียผู้เสียคนไปนานแล้ว ตอนจบของ จิตตนคร ก็เหมือนเมืองอื่นๆ ทั่วไป คือ ประสบภัยพิบัติตามธรรมชาติ ทรุดโทรมผุพังไปตามกาลเวลา (หรือที่เรียกว่า ความแก่ชรา) โรงงานสำคัญๆ ของเมืองเริ่มเสื่อมสภาพ ปล่อยของเสียเป็นมลพิษออกมา และผลิตของที่ด้อยคุณภาพลงไปทุกที ในที่สุดก็ถึงกาลอาวสานแห่งจิตตนคร  ภูเขามหึมาที่สูงจรดฟ้าค่อยๆ คืบคลานเข้ามาประชิดนครทุกด้าน กลิ้งบดขยี้ปราการเมือง และทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

ก่อนที่เมืองจะพัง คู่บารมีได้แนะนำให้นครสามีมีศรัทธาตั้งมั่นในองค์พระบรมครู พระองค์ส่งทูตคู่หนึ่ง คือ “สมถะ” และ “วิปัสสนา” เข้ามาช่วย นครสามีได้ฟังแล้วเกิดความปลื้มปิติว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงทอดทิ้ง ทรงช่วยในยามคับขันเป็นที่สุด ทำให้นครสามีเลิกเชื่อคำของฝ่ายสมุทัยและคู่อาสวะ สามารถเตรียมตัวเตรียมใจได้ทัน พาหมู่คณะอพยพออกไปสู่ดินแดนเกษม (นิพพาน) ก่อนที่จิตตนครจะล่มสลายไปในที่สุด

 

วลีเด็ดที่ประทับใจจากหนังสือเล่มนี้

“ทุกคนจะต้องพบภูเขาแห่งชราและมรณะที่กลิ้งมาบดชีวิต ไฉนจึงไม่แสวงหาที่พึ่งดังนครสามีในเรื่อง
และไฉนจึงจะยอมอยู่ใต้ ให้ภูเขาแห่งชราและมรณะนั้นมาบดขยี้เอาข้างเดียว
ไฉนจึงไม่ปีนอยู่เหนือภูเขาแห่งชราและมรณะนั้นบ้าง พระพุทธศาสน์ได้บอกวิธีปฏิบัติ เพื่อขึ้นอยู่เหนือไว้แล้ว