หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

[ แนะนำหนังสือเล่มโปรด ]

มีหนังสือที่พูดถึงเรื่องหนังมากมาย ข้าพเจ้านิยมอ่านหนังสือที่เป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะที่เขียนโดยนักวิเคราะห์หนังชั้นเซียน อาทิ คุณสิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ คุณนันทขว้าง สิรสุนทร คุณประวิทย์ แต่งอักษร และอีกท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้านิยมชมชอบคือ คุณมงคลชัย ชัยวิสุทธิ์ ซึ่งเขียนหนังสือ "ตีตั๋ว การเมืองเรื่องหนัง"

"ตีตั๋ว การเมืองเรื่องหนัง" เป็นการรวบรวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร CINEMAG โดยคัดเอาเฉพาะหนังที่มีฉากหลังว่าด้วยเรื่องการเมืองล้วนๆ ความโดดเด่นของงานเขียนของคุณมงคลชัยคือการทำการบ้านมาอย่างดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนเขียนบทวิจารณ์โดยใช้วิธี "วิจารณ์" เพียงอย่างเดียว แต่งานเขียนของคุณมงคลชัยจะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ข้าพเจ้าชอบใจ และเชื่อว่าคนดูหนังหลายคนก็คงชอบเช่นกัน

บทวิจารณ์ในหนังสือเล่มนี้จะแบ่งออกเป็น ๑๒ เรื่อง โดยแต่ละเรื่องจะเริ่มต้นด้วยการเท้าความถึงเบื้องหลังความเป็นมาของเหตุการณ์ในท้องเรื่อง โดยมีการหยิบยกเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์จริง บทวิจารณ์สังคม หรือเอกสารที่อ้างอิงได้มานำเสนอเพื่อปูพื้นความเข้าใจต่อตัวหนังเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ โยงเข้ากับเรื่องราวในหนัง เล่าเรื่องย่อเพียงสังเขป โดยทุกเรื่องจะพยายามไม่เฉลยปมสำคัญเพื่อไม่ให้ผู้ที่ยังไม่เคยชมเสียอรรถรส ส่วนในตอนท้ายก็จะวิจารณ์ถึงเนื้อหนัง นักแสดง โปรดักชั่นต่างๆ เรียกได้ว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ที่ละเอียดครบถ้วนจริงๆ

หนังทั้ง ๑๒ เรื่องที่หยิบยกมาล้วนแต่เข้มข้นด้วยเนื้อหาทางการเมือง อาทิ Hoffa ชีวประวัติ จิมมี่ ฮอฟฟา ผู้นำสหภาพแรงงานที่หายสาบสูญ The Devil's Own โศกนาฏกรรมของชาวไอริชที่พยายามต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ In the Name of the Father สร้างจากชีวิตจริงของ เจอร์รี่ คอลลอน ไอริชหนุ่มที่ถูกขังฟรีนานเกือบ ๓๐ ปี จากข้อหาก่อการร้าย Clear and Present Danger เบื้องหลังอำนาจที่ชั่วช้าของอเมริกา (จากนิยายขายดีของ ทอม แคลนซี) Braveheart ชีวประวัติของ วิลเลียม วอลเลซ วีรบุรุษของชาวสก็อตแลนด์

ความสนุกของการดูหนังคือการเสพความบันเทิง แต่หากสามารถกลั่นเอาสาระที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อหนังออกมาได้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ดู อย่างหนังทั้ง ๑๒ เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้เก็บทั้งสาระและความสนุก โดยเฉพาะความรู้เรื่องการเมืองและสังคมที่น่าสนใจจนต้องไปค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม

สำหรับชาว MUSC ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นนักอ่านโดยสายเลือด แน่นอนว่าที่อ่านกันเป็นหลักคงจะหนีไม่พ้น Text Book ที่อ่านกันหน้าดำคร่ำเครียด แต่หากมีเวลาว่างอยากให้ลองเงยหน้ามองรอบๆ ตัวกันบ้าง ปิดตำราซักครู่ หาเวลาอ่านหนังสือที่ช่วยเปิดหูเปิดตา เพราะยังมีหนังสืออีกมากมายที่รอให้เราเข้าไปทำความรู้จัก

 

 

อภิชัย อารยะเจริญชัย

บรรณารักษ์ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
หัวหน้าหน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
และรักษาการหัวหน้าหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 2 มิถุนายน 2565 stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair2011