หนังสือเล่มโปรด
|
หนังสือหลายเล่มที่แต่งโดย Arthur Hailey
เช่น Detective, The evening news, Strong Medicine, Overload, The Money
Changers,
Wheels, Air-port, Hotel, In high places, The Final Diagnosis.
|
ผู้ให้สัมภาษณ์
|
ศ.ดร. อมเรศ ภูมิรัตน
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
|
ทำไมจึงชอบ? |
เมื่อมีเวลาว่าง ผมมักชอบอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษ
โดยมักจะอ่านนวนิยายในแบบ pocket book เป็นประจำ
ผมได้อ่านนวนิยายที่แต่งโดยนักประพันธ์หลายคน เช่น Robin Cook, Sidney Sheldon,
John
Grisham, Jeffrey Archer และท่านอื่นๆ แต่ในมุมมองของผมเองนักประพันธ์เหล่านี้
ไม่มีใครสู้ Arthur Hailey ได้…
ผมจำไม่ได้แล้วว่าเริ่มต้นที่เล่มไหน อาจจะเป็นเรื่อง "Air-port"
เมื่อหลายปีมาแล้ว
จากนั้นก็ได้อ่านเกือบทุกเรื่องที่แต่งโดยนักประพันธ์ผู้นี้
ในแต่ละเรื่องที่ได้อ่าน นอกจากความตื่นเต้นแล้ว
การเรียบเรียงเนื้อเรื่องให้มีความรู้สึกว่าหน้าต่อๆ
ไปจะเป็นเรื่องที่น่ารู้มากกว่าหน้าที่ผ่านมาแล้ว ทำให้วางหนังสือเหล่านี้ยาก
นอกจากความสนุกสนานจากเรื่องที่ได้อ่านแล้ว Arthur Hailey
ยังแสดงให้เห็นว่าเขาได้
"วิจัย"
อย่างลึกซึ้งในแต่ละเรื่องที่เขาเขียน
เนื้อหาในแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกันมาก
ทำให้เราได้ทราบรายละเอียดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและเบื้องหลังของธุรกิจที่หลากหลายสาขา
...หนังสือเหล่านี้อ่านแล้วสนุกและได้รับความรู้มากจริงๆ
|
ข้อเสนอแนะที่มีต่องาน มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ |
อยากให้งานนี้มีเป็นประจำปีละครั้ง
โดยให้เป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งที่ชาวพญาไทโดยทั่วไป
ได้ดำเนินการร่วมกับชาวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
|
หนังสือเล่มโปรด
|
Harry Potter
/ J.K. Rowling
|
ผู้ให้สัมภาษณ์
|
ดร. ประพัฒน์ สุริยผล
อาจารย์ / สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Bioinformatician, Head of SNP Database
Development Project /
Gene Identification Department , Centre National de
Génotypage, ประเทศฝรั่งเศส
|
ทำไมจึงชอบ? |
Harry Potter คงเป็นหนังสือชุดโปรดของผู้อ่านหลายคน
ผมได้มีโอกาสอ่านภาคภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เล่ม 1 จนเล่ม 6 (เล่มล่าสุด)
สิ่งที่ประทับใจจากการอ่านเล่มแรก ครั้งแรก คือความสนุกสนาน จินตนาการ
แล้วการวางพล็อตเรื่องของผู้เขียน ที่ทำให้ต้องติดตามอ่านรวดเดียวจนจบเล่ม
และรอคอยอ่านเล่มต่อไป
เมื่อย้อนกลับมาอ่านครั้งที่สอง
ผมเห็นความสามารถของผู้เขียนในการใช้ภาษาและศัพท์ง่าย ๆ
แต่สามารถบรรยายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่นคำกริยาที่แสดงความเคลื่อนไหวของตัวละคร
ผู้เขียนเลือกใช้คำมากกว่า
10 คำในการนำเสนอ คำที่แสดงสีหน้า หรือท่าทางของตัวละครก็เป็นเช่นเดียวกัน
ในการอ่านครั้งที่สอง
ผมจึงให้ความสนใจไปกับเรื่องการใช้คำและภาษาของผู้เขียน
ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษมากทีเดียว
ผมย้อนกลับมาอ่านอีกหลายครั้ง
เพื่อศึกษาการวางพล็อตเรื่องและการเล่าเรื่องของผู้เขียน ผมเข้าใจว่า
การเขียนหนังสือชุดในลักษณะนี้ จะประสบความสำเร็จได้นั้น
ผู้เขียนจำเป็นจะต้องสร้างโลกสมมตินั้นจริง
ต้องพาตัวเองเข้าไปสู่โลกสมมตินั้นแล้วนำมาบรรยาย
รายละเอียดของโลกสมมติสำหรับผู้เขียนนั้นจะต้องมีมากกว่าที่นำเสนอในหนังสือเป็นอย่างมาก
ผู้เขียนจำเป็นต้องคิดถึงที่มา อุปนิสัย และสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ของตัวละครอย่างครบถ้วน เพื่อให้ได้เรื่องราวที่มีมิติ
ตัวละครมีบุคลิกเฉพาะตัว
และไม่มีความขัดแย้ง เมื่อครั้งที่ผมอ่าน Harry Potter เล่มที่ 3 จบ
ผมต้องย้อนกลับไปเปิดเล่มที่ 1 และ 2 แล้วผมรู้สึกเหมือนกับว่า
ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนหนังสือเล่มที่ 1
ผู้เขียนได้วางแผนการเขียนไปถึงเล่มที่ 3 หรือเล่มต่อ ๆ ไปไว้แล้ว
ว่าจะทิ้งเบาะแสใดไว้ แล้วนำไปเฉลยหรือนำเสนอรายละเอียดในเล่มใด อย่างไร
จุดเด่นอีกข้อที่ผมเห็นชัดเจนจากหนังสือ Harry Potter
คือผู้เขียนสามารถนำผู้อ่านเข้าสู่โลกใหม่ของเวทมนตร์ได้อย่างราบรื่น
การแนะนำสิ่งใหม่จะกระทำโดยการบรรยายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
หรือเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้อ่านทราบอยู่แล้วอย่างกลมกลืน
แล้วสามารถนำศัพท์นั้นมาใช้ในภายหลังได้อย่างไม่เคอะเขิน เช่น
ผู้เขียนบรรยายถึง
Hippogriff ในช่วงต้นของหนังสือเล่ม 3 แล้วนำมาใช้ในภายหลัง
โดยแทนที่จะใช้ภาษาปกติว่า So hungry I could eat a
horse.
กลับใช้ว่า So hungry I could eat a
hippogriff.
แทน ทำให้เกิดอารมณ์ขัน ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วม
เพราะเป็นศัพท์ที่เฉพาะผู้อ่านที่อ่านมาตั้งแต่ต้นจะเข้าใจ
และเป็นการตอกย้ำศัพท์ใหม่ให้กับผู้อ่าน ลักษณะการแนะนำสิ่งใหม่
แล้วนำมาใช้ใหม่นี้ สามารถเห็นได้ในหนังสือทุกเล่ม
สิ่งสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับหนังสือทุกเล่ม
คือจุดประสงค์ที่หนังสือต้องการสื่อออกมา ซึ่ง Harry Potter
แสดงจุดยืนให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า
ต้องการเป็นกระจกเงาแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเด็ก
สู่วัยรุ่นและกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่
โดยใช้โลกเวทมนตร์เป็นเวทีแสดง
ผู้เขียนประสบความสำเร็จในการนำเสนอ ปฎิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
ความดีและความเลว ความกล้าหาญ ความเป็นเพื่อน และอีกหลายประการ
รวมไปถึงความซับซ้อนยอกย้อนในระบบอำนาจการเมือง ได้อย่างสนุกสนาน
และเพลิดเพลิน
|
ข้อเสนอแนะที่มีต่องาน มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ |
อยากให้มีกิจกรรมเสริม เพื่อให้คนไทยเขียนหนังสือกันเยอะ ๆ
ด้วยครับ
อ่านหนังสือว่ายากแล้ว เขียนหนังสือให้ดียากยิ่งกว่าครับ ถ้าใช้โอกาสนี้
นำคนรักหนังสือ มารวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่เป็นคนเขียนหนังสือด้วย น่าจะดีครับ
|
หนังสือเล่มโปรด
|
หมอฮา / ยิ้มก่อนเห่า / ยิ้มสี่ขา
/ แต่งโดย เจมส์ เฮอร์เรียต แปลโดยคุณปาริฉัตร เสมอแข
(สำนักพิมพ์ผีเสื้อ)
|
ผู้ให้สัมภาษณ์
|
คัทรินทร์ ธีระวิทย์
นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เจ้าของรางวัล Outstanding TGIST Student Award ของ สวทช. ปี พ.ศ. 2547
นักเรียนทุนศรีตรังทอง, ทุนTGIST และทุน Woman for Engineering and Science
(WES)
จาก National Research Council ประเทศแคนาดา
|
ทำไมจึงชอบ? |
จริงๆ แล้ว ที่บ้านได้ปลูกฝังเรื่องการอ่านมาให้ตั้งแต่เล็กๆ
ตั้งแต่
ป. 2 - ป.3 ค่ะ โดยจะให้เราอ่านหนังสือที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน ตอนเด็กๆ
ยังไม่มีสตางค์ซื้อก็จะไปขอยืมคุณป้าที่เป็นครูสอนภาษาไทยอ่าน
โดยที่ยืมมาหนึ่งเล่มก็ผลัดกันอ่านในหมู่พี่น้อง 5 คน จนครบ นำไปคืน
แล้วก็ยืมเล่มใหม่มา ... พอโตขึ้นมาหน่อยพี่ๆ น้องๆ เริ่มมีเงินเก็บ
ก็จะผลัดกันซื้อ
ผลัดกันอ่าน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นหนังสือชุด มีหลายชุดที่อ่านแล้วชอบใจ เช่น
ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ ชุดห้าสหายผจญภัย ชุดสี่สหายผจญภัย
ชุดเชอร์ล้อคโฮมส์ เป็นต้น
แต่ว่าที่ประทับใจที่สุด อ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ
และเหมือนว่าตอนอ่านนั้นเราได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องนี้
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหนังสือชุดก็ตาม
แต่ว่าถ้าได้อ่านเล่มใดเล่มหนึ่งก็จะทำให้อยากอ่านเล่มอื่นๆ ไปด้วย
เนื้อหาในหนังสือ จะเป็นตอนๆ ที่เล่าเรื่องราว
ชีวิตสัตวแพทย์ชื่อ เจมส์ เฮอร์เลียต (ก็ผู้แต่งนั่นแหละค่ะ)
ทำงานอยู่ในชนบทของประเทศอังกฤษ อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า
สัตว์ทุกตัวในโลกมีความน่ารักอย่างจำเพาะของแต่ละตัว แต่ละประเภทไป
เขามีนิสัยที่เฉพาะตัวจริงๆ ..
ความสนุกก็อยู่ตรงความน่ารักของสัตว์เหล่านี้แหละค่ะ
นอกจากนี้ทำให้เราได้รู้จักความอดทน และเป็นคนที่คิดในแง่ดีมากขึ้น
เพราะถึงแม้ว่าคุณหมอต้องไปตรวจตามคอกปศุสัตว์ที่หนาว และลำบากมาก
(ก็เป็นเรื่องจริงของคนที่มีอาชีพสัตวแพทย์นี่คะ) เขาก็มีความอดทน
อยากให้สัตว์เหล่านี้หาย เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก
ก็สามารถมองเห็นความยากลำบากและปัญหาเป็นเรื่องสนุกได้
และเก็่บมาเล่าให้คนอ่านฟัง
ชอบหนังสือเหล่านี้มากจนพยายามหาซื้อฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ (อ่านง่ายดีค่ะ)
แต่มันแพงมากๆ ค่ะ แล้วตอนนั้นก็มีเงินไม่พอด้วย เลยอดซื้อ (ว้า...)
แต่ว่าถ้าคราวหน้าเจออีก จะต้องซื้อให้ได้ค่ะ เพราะประทับใจเหลือเกิน
|
ข้อเสนอแนะที่มีต่องาน มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ |
อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาที่อยู่สถาบันอื่นๆ
หรือบุคคลทั่วๆไปมาร่วมงานด้วย (เท่าที่ทราบ เพื่อนๆ
ต่างสถาบันบอกว่าไม่เห็นได้รับข่าวสารเลย)
เพราะว่าไม่อยากให้นักศึกษามหิดลเท่านั้นที่มีโอกาสดีๆ อย่างนี้
อยากแบ่งปันโอกาสนี้ไปให้คนอื่นด้วย
และจะได้มีคนหลายประเภทมาอุดหนุนคนขายหนังสือมากมาย
ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นไงคะ
|
หนังสือเล่มโปรด
|
แรงดลใจ - มุมมองโลกและชีวิตจากภาพถ่ายและการเดินทาง
/ ธีรภาพ โลหิตกุล
|
ผู้ให้สัมภาษณ์
|
ร.ต. คมสัน จ้อยลี ร.น.
นายทหารเรือ / นักเขียนสารคดีและช่างภาพสมัครเล่น / เคยเป็น
วิทยากรรับเชิญของคณะวิทยาศาสตร์
มหิดล
|
ทำไมจึงชอบ? |
" …เพราะแท้ที่จริงแล้ว การถ่ายภาพเป็นเรื่อง ใจ กับ สมาธิ
ยากเหลือเกินที่ใครสักคนหนึ่งซึ่งกำลังวุ่นวาย วอกแวก สับสน ซีเรียส
แล้วจะนึกอยากจับกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ... "
ด้วยประโยคสั้นๆเพียงเท่านี้ หนังสือชุด " แรงดลใจ " ของ ธีรภาพ โลหิตกุล
ก็มาอยู่ในมือของผม เป็น
ของขวัญปีใหม่ชิ้นพิเศษให้กับตัวเอง
ผมเองรักการถ่ายภาพและมีงานเขียนเป็นงานอดิเรก
ดังนั้นหนังสือที่ผมจะซื้อมาอ่านก็มักจะเป็นหนังสือแนวสารคดีเชิงท่องเที่ยวและการเดินทางเสียเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งหนังสือเหล่านี้ล้วนเป็น " แรงดลใจ "
และช่วยเติมไฟให้ผมมีความพยายามสร้างสรรค์งานที่ดีอยู่ตลอดเวลา
ชื่อของ "ธีรภาพ โลหิตกุล" เป็นที่รู้จักกันดีในวงการสารคดีของเมืองไทย
ด้วยท่านผู้นี้มีผลงานคุณภาพกับหลายๆองค์กรเช่น นิตยสาร ไฮ-คลาส,อนุสาร
อสท.,บทสารคดีในรายการ โลกสลับสี,ผลงานสารคดีชุด " แม่น้ำเจ้าพระยา "
หรือแม้แต่หนังสือเรื่อง " สีสันบนรอยทาง "
ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักศึกษาชั้นปีที่1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2534 ก็เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
" แรงดลใจ " คือหนังสือที่ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า " มุมมอง "
ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งมุมมองของภาพถ่าย และมุมมองของชีวิต..."
|
ข้อเสนอแนะที่มีต่องาน มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ |
" ผมอยากให้งาน " บุคแฟร์ " ไม่เป็นเพียงงาน " ขายหนังสือ
"
เพราะถ้าเราจะหาซื้อหนังสือดีๆสักเล่ม
เราคงไม่ต้องรอซื้อในงานซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
อยากให้งานมีความหลากหลายและครอบคลุมทุกทุกสาขา จัดงานให้มีบรรยากาศแบบสบายๆ
เป็นกันเอง
ไม่ใช่ตั้งใจขายหนังสือเพียงอย่างเดียว
โดยอาจจะมีวิทยากรพิเศษมาบรรยายในแต่ละสาขาที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหาทางวิชาการเสมอไป
สิ่งเหล่านี้ผมมั่นใจว่าจะให้งานเต็มไปด้วยความอบอุ่น
และเป็นที่ตั้งตารอของคนทั่วไป "
|