ประวัติ Dr. Eugene Garfield

ผู้ก่อตั้ง Institute for Scientific Information (ISI)

โดย .. รุจเรขา อัศวิษณุ (scras@mahidol.ac.th)
14 เมษายน 2543

ประวัติการทำงาน

Dr. Eugene Garfield อาชีพ Information Scientist เกิดที่เมือง New York City ในปี ค.ศ. 1925 การศึกษา :

  • ปริญญาตรี B.S. สาขา Chemistry
  • ปริญญาโท M.S. สาขา Library Science จาก Columbia University
  • ปริญญาเอกสาขา Structural Linguistics จาก The University of Pennsylvania
    (วิทยานิพนธ์เรื่อง An Algorithm for Translating Chemical Names to Molecular Formulas)

อาชีพทางด้าน Scientific Communication และ Information Science ของ Dr. Garfield เริ่มต้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1951 เมื่อเขาได้เข้าทำงานในโครงการ The Welch Medical Indexing Project ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins โครงการนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Army Medical Library (หน่วยงานแรกเริ่มของ The National Library of Medicine) เป้าหมายของโครงการคือ ตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบการสืบค้น และทดลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในการจัดทำดรรชนีช่วยค้นทางการแพทย์ วัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อปรับปรุงวิธีการจัดทำ The Current List of Medical Literature ที่ใช้กันอยู่ในตอนนั้น โดยใช้เครื่องจักรกล ต่อมา The Current List of Medical Literature ได้มีวิวัฒนาการ กลายมาเป็น "Index Medicus" ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

หนึ่งในงานที่ Dr. Garfield ได้มีส่วนร่วมในโครงการ คือ การปรับปรุงระบบการจัดทำ "บัญชีรายชื่อหัวเรื่องทางการแพทย์" ซึ่งหัวเรื่องทางการแพทย์ จำนวนมากกว่า 30,000 หัวเรื่อง ที่ใช้กันอยู่ในตอนนั้น จัดเก็บรวบรวมอยู่ในรูปกระดาษ หรือบัตรรายการเท่านั้น โครงการ Welch Project ได้โอนย้ายข้อมูลไปเข้าบัตรเจาะรู (Punched Cards) เพื่อให้สามารถจัดเรียงลำดับ และทำบัญชีคำศัพท์ โดยใช้เครื่องจักรกลได้ รายการบัญชีคำศัพท์ที่ได้จัดทำขึ้น เป็น Subject Heading Authority List ชุดแรก และเป็นต้นแบบของ Medical Subject Headings ที่ใช้ในการผลิต Index Medicus ในปัจจุบัน นอกจากนั้น โครงการฯ ยังได้วางรากฐานในการก่อตั้ง Information Services ที่สำคัญ ของ The National Library of Medicine คือ The Medical Literature Analysis and Retrieval System (MEDLARS) และ MEDLINE อีกด้วย

นอกจากนั้น การทำงานที่ Welch Project ทำให้ความสนใจในอาชีพด้าน Scientific Communication และ Information Science ของ Dr.Garfield เริ่มเด่นชัดขึ้น เรื่องหลักๆ มีอยู่ 2 หัวข้อคือ Information Discovery และ Information Recovery

Information Discovery เป็นวิธีการที่ให้นักวิจัยสามารถติดตามบทความวิจัยใหม่ๆ จำนวนนับพัน ที่ตีพิมพ์เผยแพร่อออกมาในแต่ละสัปดาห์ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ สมัยที่ทำงานอยู่กับ Welch Project เขาได้ผลิต "Contents in Advance" ซึ่งเผยแพร่หน้าสารบาญวารสารและเอกสารของห้องสมุด ในลักษณะข่าวสารทันสมัย (Current Awareness) เพื่อให้นักวิจัยสามารถติดตามบทความที่ตนสนใจ จากวารสารต่างๆ ได้ และสิ่งพิมพ์นี้เอง ที่เป็นต้นแบบในการจัดทำ "Current Contents" ในปัจจุบัน

Information Recovery เป็นวิธีการที่ทำให้นักวิจัยสามารถสืบค้นบทความ หัวข้อที่สนใจ จากข้อมูลที่มีจำนวนมากมายมหาศาลได้ ซึ่งความหมายของ Information Recovery แบบดั้งเดิม คือ ดรรชนีหัวเรื่อง (Subject Indexes) แบบที่ใช้ใน Index Medicus อย่างไรก็ตาม การจัดทำดรรชนีในลักษณะเช่นนั้น จะต้องอาศัยความชำนาญ และความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ จากบุคลากรผู้ทำหน้าที่ให้หัวเรื่อง ซึ่งมักมีข้อเสียคือ สับสน มีความซ้ำซ้อน มีต้นทุนสูง และมักล่าช้า Garfield เริ่มให้ความสนใจที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในการสร้างดรรชนีคำค้นที่สามารถสื่อความหมายของเนื้อหาเอกสารได้ แทนการใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ในการให้หัวเรื่อง ต่อมา เมื่อได้ศึกษาเรื่องของโครงสร้างทางภาษา (Linguistic Structure) เขาก็สามารถค้นพบหลักการ Citations โดยบังเอิญ และในที่สุด จึงนำมาสู่การพัฒนาแนวทางในการจัดทำ Citation Indexes สำหรับวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ และเมื่อนำ Citation Indexing กับ Natural Language Indexing มารวมกัน เขาได้สร้างต้นแบบของ "Science Citation Index" ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง Patent Citation Indexes ด้วย ในสมัยนั้น การกระทำของเขา ถูกต่อต้านอย่างมาก จากผู้ที่มีแนวความคิดดั้งเดิม ในการจัดทำดรรชนีหรือทำรายการสิ่งพิมพ์ โดยใช้หลักของบัญชีควบคุมคำศัพท์ (Controlled Thesaurus based)

ด้วยความสนใจทางด้านนี้ ทำให้ Dr. Garfield เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขา Library Science ที่มหาวิทยาลัย Columbia หลังจากเรียนจบในปี 1954 เขาได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาของ บริษัทอุตสาหกรรมเภสัชกรรม และเป็นเหตุชักนำให้ตั้งบริษัทของตนเองขึ้น มีชื่อว่า Eugene Garfield Associates ในปี ค.ศ. 1955 เขาได้ผลิตสิ่งพิมพ์หน้าสารบาญของวรรณกรรมสาขา Social Sciences และ Management ให้กับบริษัท Bell Laboratories ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรก ในราวปี ค.ศ. 1957 เขาเริ่มงานบริการที่คล้ายกันนี้ กับวรรณกรรมในสาขาที่อยู่ในความสนใจของบริษัทเภสัชกรรม โดยจัดทำสิ่งพิมพ์ Current Contents / Pharmaco-Medical & Life Sciences และเปิดให้บอกรับเป็นสมาชิก

ในปี ค.ศ. 1959 Garfield ได้รับการติดต่อจาก Dr. Joshua Lederberg นักพันธุศาสตร์รางวัล Nobel Prize ซึ่งให้ความสนใจเรื่องของดรรชนีการอ้างอิง (Citation Index) ที่ Garfield ได้เสนอบทความไว้ในวารสาร Science เมื่อปี ค.ศ. 1955 (Garfield E. Citation indexes for science: a new dimension in documentation through association of ideas. Science 1955;122: 108-111) ความคิดเห็นที่ตรงกันของเขาทั้งสอง ได้นำมาสู่การประชุมที่ NIH Genetics Study Section และได้รับทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์ Genetics Citation Index และรวมถึง Multi-disciplinary Index to the Literature ในปี ค.ศ. 1961 และเมื่อ NIH และ NSF ได้ลดการผลิตดรรชนีลง Garfield จึงได้เริ่มผลิตสิ่งพิมพ์ ที่มีชื่อว่า "Science Citation Index (SCI) ขึ้นในปี ค.ศ. 1964 ผ่านบริษัทของเขา ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1960 คือ "The Institute for Scientific Information (ISI)"

SCI มีความแตกต่างไปจากสิ่งพิมพ์ช่วยค้นชนิดอื่นๆ ตรงที่มีเนื้อหาทันสมัยกว่า และครอบคลุมสาขาวิชา ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์คือ มีการจัดทำดรรชนีรายการอ้างอิงของบทความ เพื่อให้นักวิจัยสามารถติดตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้

ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา ผลงานของ Dr. Garfield ได้ก่อให้เกิดการพัฒนา สิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามสารสนเทศการวิจัย สำหรับนักวิจัย ในเวลาต่อมา ซึ่งได้แก่ Index Chemicus, Current Chemical Reactions, Current Contents 7 สาขา, the Genuine Article (rapid document delivery service), Social Sciences Citation Index, Arts and Humanities Citation Index, Index to Scientific and Technical Proceedings and Books, Index to Scientific Reviews, เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1986 เขาได้ริเริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ชื่อ The Scientist ซึ่งให้บทความฉบับเต็มฟรี แก่นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต

ปัจจุบัน Dr. Garfield ดำรงตำแหน่งประธานเกียรติคุณของ the Institute for Scientific Information ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 [ในปี ค.ศ. 1992, ISI ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Thomson Business Information ซึ่งเป็นสาขาของบริษัท The Thomson Corporation] เขายังคงให้ความสนใจกับงานด้าน Scientific Communication และ Information Science อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เขามักมีกำหนดการ ได้รับเชิญไปบรรยายและสาธิต ในการประชุมวิชาการระดับสูง ในวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์ ต่างๆ อย่างเนืองแน่นเช่นเดิม หัวข้อการบรรยายเน้นหนักทางด้าน Science Education, Peer Review, Research Evaluation, แนวโน้มในอนาคตของ Medical Information and Documentation, the Economic and Social Impact of Basic Research, และหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เขาได้เขียนบทความประจำสัปดาห์ (Weekly Essays) ลงใน Current Contents จำนวนมากกว่า 1,000 ครั้ง และ Commentaries by the Authors ในคอลัมน์ Citation Classics มากกว่า 5,000 ครั้ง


บรรณานุกรม :
Presley RL. Interview with Dr. Eugene Garfield. Serials Review. 1999; 25(3):67-80 [Online].
Available URL : http://www.garfield.library.upenn.edu/papers/beacarawayinterviewy1999.htmlhttp://www.garfield.library.upenn.edu