ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2542-2546 และ 2547-2550

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของ ศาสตราจารย์อมร และ คุณหญิงระเบียบ ภูมิรัตน มีพี่น้อง 5 คน ได้แก่ ดร.อมรา ภูมิรัตน (พงศาพิชญ์) ดร.อมฤต ภูมิรัตน ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน และ นางผุสดี ภูมิรัตน (Braly)

พี่น้องทั้ง 5 เติบโตขึ้นมาด้วยความรักใคร่ปรองดอง ภายใต้การอบรมเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแท่ที่สอนให้ลูก ๆ รู้จักอดทนกับความยากลำบาก ไม่รักแต่ความสะดวกสบาย รู้จักการสร้างตนเองด้วยความสุจริต โดยคุณพ่อคุณแม่จะให้ความรักและให้โอกาสในการศึกษาแก่ลูก ๆ ทุกคนเสมอกัน

การศึกษา

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เริ่มเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนปวโรฬารวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนมัธยมสาธิต มศว.ประสานมิตร และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามลำดับ

ด้วยความที่คุณพ่อ (ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน) เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และต้องการเปิดโอกาสให้ลูก ๆ มีอิสระในการเลือกเรียนให้ได้สูงสุดในสาขาที่ต้องการ ในมหาวิทยาลัยที่แต่ละคนเลือกเอง จึงได้ส่งลูก ๆ ทุกคนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัว ตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย โดยตั้งใจให้ทุกคนได้เรียนจบจนถึงปริญญาเอก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน จึงได้ศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมัธยมแห่งเมืองเชาซิลล่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้าเรียนระดับปริญญาตรี สาขา Biotechnology ที่ University of California, Davis สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2513 จากนั้นเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขา Microbiology ที่ Michigan State University จนจบปริญญาเอกเมื่อ พ.ศ. 2517 เมื่ออายุได้ 26 ปี การเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อยมิได้เป็นอุปสรรคต่อความผูกพันในชีวิตครอบครัวและต่อสังคมไทย เพราะจะมีการติดต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และคุณพ่อคุณแม่จะแวะไปเยียมเยียนลูก ๆ ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสเพื่ออบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน

ชีวิตครอบครัว

ขณะกำลังศึกษาปริญญาเอกที่ Michigan State University ในปี พ.ศ. 2514 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้พบรักกับ คุณนิตยาภรณ์ สุมาวงศ์ ธิดาของ คุณพระมนูเวทย์ วิมลนาท และ คุณสำอางค์ สุมาวงศ์ ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2517 ทั้งสองได้เข้าพิธีมงคลสมรส ท่ามกลางความยินดีของทั้งสองครอบครัว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน และ คุณนิตยาภรณ์ มีธิดา 1 คน คือ นางสาวนภัทร ภูมิรัตน สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแพทยศาสตรบัณฑิต ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานเป็นแพทย์ผิวหนัง ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และ โรงพยาบาลสมิติเวช เป็นแพทย์อาสาสมัครที่โรงพยาบาลบำราษฎร์นราดูร นำความสุขและความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งมาสู่ครอบครัว

การทำงาน

ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกเมื่อ พ.ศ. 2517 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เคยได้รับการชักชวนจาก Prof. Dr.William Sawyer และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ให้กลับมาทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนจึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2532 และย้ายมาสังกัดภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532

ให้การต้อนรับ Prof. William N. Lipscomb นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 1976
ในโอกาสเยือนคณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้จนประสบผลสำเร็จ ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตครอบครัว ด้านการทำงานนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการสอนและการวิจัย โดยพยายามเตรียมการสอนเป็นอย่างดี ให้เวลากับนักศึกษาอย่างเต็มที่ ในการดูแลให้คำแนะนำการวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ลูกศิษย์ทุกคนจึงรักและศรัทธาในตัวศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันท่านก็พยายามตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศ และนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของประเทศ โดยมีผลงานและความสำเร็จของคุณพ่อ ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแรงบันดาลใจ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนได้ผลิตผลงานวิชาการคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาบัณฑิตปริญญาโท-เอก จำนวน 20 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในตำราและวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนมาก สามารถเลื่อนตำแหน่งวิชาการในระดับต่าง ๆ ได้ตามกำหนดเวลาที่สมควร คือ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ในเวลาไม่ถึง 3 ปี หลังเข้ารับราชการ (พ.ศ. 2519) เป็นรองศาสตราจารย์ในเวลา 5 ปี ต่อมา (พ.ศ. 2524) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาจุลชีววิทยา ในปี พ.ศ. 2533 และศาสตราจารย์ ระดับ 11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของข้าราชการประจำ ในปี พ.ศ. 2544

ผลงานการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีคุณภาพ นอกจากจะทำให้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนก้าวไปตามเส้นทางวิชาชีพของอาจารย์นักวิจัยในมหาวิทยาลัยจนถึงจุดสูงสุดในเวลารวดเร็วแล้ว ยังทำให้ได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ

  • - รางวัลโครงการวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2530
  • - รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาทั่วไป ซึ่งเป็นสาขาที่ผู้ได้รับรางวัลต้องมีผลงานดีเด่นทั้งด้านการเรียน การสอน การวิจัย การเขียนตำรา และสิ่งประดิษฐ์ ใน พ.ศ. 2534
  • - รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2535 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูถัมภ์
  • - ไดรับเชิญเป็นเมธีวิจัยอาวุโส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2540
  • - ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ณ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2540
  • - ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษา International Foundation for Science ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน
  • - เข้ารับพระราชทานเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2557 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558

เข้ารับพระราชทานรางวัลมหิดล สาขาทั่วไป ประจำปี พ.ศ. 2534 จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

งานวิจัยและการบริการวิชาการสู่สังคม

ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน จำแนกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืชและพาหะนำโรค ผลงานหลักได้แก่การศึกษาแบคทีเรียชนิด Bacillus thuringiensis ที่มีฤทธิ์ฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืชและลูกน้ำยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนได้ศึกษาคุณสมบัติของแบคทีเรียชน้กนี้ครอบคลุมทั้งคุณสมบัติด้านสรีรวิทยาของแบคทีเรีย วิธีการเพาะเลี้ยงให้แบคทีเรียสร้างผลึกสารพิษอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงสายพันธุ์แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการถ่ายทอดยีนระหว่างสายพันธุ์โดยขบวนการคอนจูเกชันและการปรับปรุงสายพันธุ์โดยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม การศึกษาการผลิต Bacillus thuringiensis ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมโดยอาหารเลี้ยงราคาถูกที่ได้พัฒนาขึ้น และการพัฒนาสูตรสำเร็จที่เหมาะสมของแบคทีเรียชนิดนี้ จึงทำให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่ภาคเอกชน คือ บริษัท ทีเอฟไอกรีน ไบโอเทค จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายในท้องตลาด นับได้ว่าความมุ่งมั่นทำงานวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้ประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เป็นแบบอย่างที่ดี และมีนัยสำคัญต่อนักวิจัยรุ่นหลังเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนยังทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชื้อราแมลงเพื่อการควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อรา Nomuraea rileyi ซึ่งเป็นเชื้อราแมลงที่สามารถแยกได้จากพืชผักชนิด หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย Nomuraea rileyi เป็นเชื้อที่สามารถควบคุมหนอนผีเสื้อในพืชผักเศรษฐกิจได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถนำมาคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อนำมาพัฒนาสูตรสำเร็จที่เหมาะสม ในการใช้ควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืชร่วมกับ Bacillus thuringiensis เพื่อให้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและยั่งยืน

ผลงานวิจัยกลุ่มที่สอง ได้แก่การใช้ประโยชน์จากเชื้อรา Aspergillus oryzae โดยการแยกเชื้อราต่าง ๆ จากซีอิ๊วในประเทศไทย แล้วดำเนินการศึกาคุณสมบัติของเชื้อราที่คัดกรองไว้ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ที่สำคัญได้แก่การเพาะเลี้ยงหัวเชื้อ Aspergillus oryzae อย่างบริสุทธิ์ การผลิตเอนไซม์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหมักถั่วเหลืองจากเชื้อราชนิดนี้ จนกระทั่งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิจซีอิ๊วไปยังอุตสาหกรรมขนาดย่อมของประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมและการบริการ (Quality Control and Training Center : QCTC-Soy Sauce) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Carl Duisberg Gesellschaft (CDG) ประเทศเยอรมนี และจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย การดำเนินงานอย่างจริงจังของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารหมักจากถั่วเหลืองของไทยมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและยั่งยืน

งานบริหาร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นนักวิชาการที่มีความสามารถด้านการบริหารเป็นเลิศ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด จะพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อองค์กรและต่อประเทศ

  • - เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้ง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าภาควิชา ในปี พ.ศ. 2532
  • - เป็นผู้ร่วมริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2534
  • - เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย คนแรกระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537
  • - เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2538 และเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจกรรม ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540
  • ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในวาระที่ 1 และ 2
  • - เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วาระแรกระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546
  • - เป็นประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544
  • - เป็นรองอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ .2546-2547 ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ
  • ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในวาระที่ 2
  • - เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวาระที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550
  • - เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 และ 2547-2550
  • - เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2545
  • - เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550

บทบาทและหน้าที่ในฐานะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์

แม้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน จะมีความสุขกับการเป็นนักวิจัย และมักจะบอกใครต่อใครเสมอว่า "ผมไม่ชอบงานบริหารและไม่ชอบการเมือง" แต่เมื่อได้รับการสรรหาและการขอร้องให้รับตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ทั้งสองสมัย อาจารย์ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงสมอง เพื่อพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการเรียน การสอน การวิจัย และบริการวิชาการ คุณลักษณะพิเศษและผลงานการบริหารอันเป็นผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนที่น่าสนใจได้แก่

  • 1. เป็นคณบดีที่ยินดีรับฟังข้อเสนอและข้อคิดเห็นจากทุกคน ยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรองคณบดี คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา
    มีความเป็นกันเอง ย้มแย้ม แจ่มใส และดูแลเอาใจใส่ทุกคนให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในคณะวิทยาศาสตร์ โดยอาจารย์จะเดินไปทางอาหารที่โรงอาหารอย่างเป็นกันเองเหมือนทุก ๆ คน เปิด Meet the Dean Online บน Intranet ของคณะวิทยาศาสตร์ และประตูห้องทำงานของท่านจะเปิดต้อนรับทุกคนอยู่เสมอตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
  • 2. เป็นนักบริหารที่ยอดเยี่ยม สามารถแจกจ่ายงานไปยังผู้ที่เหมาะสมและคอยติดตาม ช่วยเหลือ เอาใจใส่ จนงานสำเร็จเรียบร้อย พร้อมด้วยคำขอบคุณ
    คำชมเพราะ ๆ หรือการพาไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จ ทำคนที่ได้รับมอบหมายจะไม่ต้องทำงานอยู่เดียวดาย เพราะอาจารย์จะคอยมาสอดส่องดูแล ให้คำปรึกษาเมื่อต้องการ
    คอยส่งกำลังบำรุง ตลอดจนเสบียงให้ผู้ทำงานเสมอ
  • 3. เป็นนักพูดที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะไปพูดที่ใด ในโอกาสใด อาจารย์จะเตรียมข้อมูล่วงหน้า เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญและบุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงใน
    โอกาสนั้น ๆ แขกของคณะวิทยาศาสตร์ทั้งขาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่มาเยี่ยมเยียนคณะวิทยาศาสตร์ จึงล้วนกลับไปด้วยความประทับใจ
  • 4. เป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวยง อาจารย์จะไม่เคยปฏิเสธสื่อมวลชนเลยไม่ว่าจะเป็แขนงใดที่มาขอสัมภาษณ์ ขอทำข่าว หรือขอข้อมูล เพราะเป็นโอกาสที่จะใช้ประชาสัมพันธ์คณะและกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ สู่สาธารณชน ชาวคณะวิทยาศาสตร์จึงมักได้เห็นภาพศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตนปรากฏหน้าจอทีวี หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ตลอดจนได้ยินเสียงนุ่ม ๆ ที่คุ้นหูทางสถานีวิทยุรายการต่าง ๆ อยู่เสมอ
  • 5. อาจารย์จะเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภทที่เป็นของคณะวิทยาศาสตร์หรือภาควิชา รวมทั้งกิจกรรมที่ได้รับเชิญจากบุคลากรและนักศึกษา แม้บางครั้งจะเป็นกิจกรรมที่อาจารย์ไม่ถนัด แต่หากเป็นคำขอร้องจากบุคลากรหรือคณบดีฝ่ายต่าง ๆ อาจารย์จะเข้าร่วมทุกครั้ง เพราะทราบดีว่าการให้ความสำคัญ ความร่วมมือและความใส่ใจจากผู้บริหาร จะเป็นกำลังใจและแรงผลักดันสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติงาน
  • 6. เป็นนักบริหารเชิงรุก แม้จะมีงานประจำมากมายแต่อาจารย์ยังมีเวลาคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะก่อประโยชน์แก่คณะเสมอ อาทิ การของบประมาณสร้างอาคารใหม่ 3 หลัง (อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารเลี้ยงสัตว์ทดลอง อาคารชีวการแพทย์) เพื่อการเรียน การสอน การวิจัย และเสริมสร้างสุขภาพของชาวคณะวิทยาศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณและเงินรายได้ตาม Output ของภาควิชา/หน่วยงาน เพื่อกระตุ้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การผลักดันผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ ซึ่งมีสาขาตั้งอยู่ในบริเวณคณะวิทยาศาสตร์ การจัดสรรทุนส่งเสริมการวิจัยรูปแบบใหม่ สำหรับอาจารย์รุ่นใหม่และรุ่นกลางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับออกไปชิงทุนระดับชาติและนานาชาติ ริเริ่มทุนวิจัยองค์กรสำหรับส่งเสริมให้บุคลากรทุกหน่วยงานสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยจากงานประจำ เพื่อร่วมพัฒนาคระวิทยาศาสตร์ การผลักดันให้มีระบบ Adjunct Staff การจัดตั้ง Center of Excellence เพื่อผลักดันให้เกิดกลุ่มวิจัย Multidisciplinary รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 10 ศูนย์ การจัดตั้ง International Service Unit (ISU) เพื่อส่งเสริมความเป็นนานาชาติ และบริการชาวต่างประเทศอย่างครบวงจร ฯลฯ

จากวิสัยทัศน์และความคิดริเริ่มทั้งมวลทำให้ภาระงานของคณบดี คณะผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานมีเพิ่มมากขึ้น แต่ความสำเร็จของงานที่ติดตามมาและผลงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินรายได้สมทบของคณะที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ไม่ได้ลดลง จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ของคณะในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ อยู่ในฐานข้อมูลสากลที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงกว่า 300 เรื่องในปี 2007 จำนวนบุคลากรที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติและนานาชาติมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาการเรียน การสอน และการวิจัยระดับคณะ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการจัดอันดับโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เป็นคณะวิทยาศาสตร์ อันดับหนึ่งของประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัด Ranking ให้คณะวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน ล้วนทำให้อาจารย์และชาวคณะวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีความภาคภูมิใจ จนลืมความเหนื่อยยากทั้งหมด

เรียบเรียงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน : สุภาพบุรุษผู้สร้าง ผู้ให้ และผู้เป็นที่รัก. หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิด
24 กรกฎาคม 2551.

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน"

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล