ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2534-2542

ประวัติ

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2483 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของคุณพ่อ นายกุ่ย มาตังคสมบัติ และคุณแม่ นางสุภาพ มาตังคสมบัติ

               ในวัยเด็ก ท่านจบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จน พ.ศ. 2501 สอบเข้าเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่ รุ่นแรก ของ โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ได้เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของ "อาจารย์สตางค์" ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา

               เมื่อขึ้นเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์ปีที่ 2 ได้รับการชักชวนจากอาจารย์สตางค์ ให้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงตัดสินใจรับข้อเสนอและออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2502 พร้อมเพื่อนนักเรียนทุนอีกหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์ นพ.เทพ หิมะทองคำ ศาสตราจารย์ ดร.เรือน สมณะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ เป็นต้น

"อาจารย์สตางค์" เดินทางไปส่งลูกศิษย์เพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2503
(จากซ้าย) ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ผศ. ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ และ ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ใน พ.ศ. 2505 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขาจุลชีววิทยาควบคู่ไปกับการเรียนแพทย์ ท่านใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างคุ้มค่า โดยนอกจากจะจัดเวลาในการเรียนได้อย่างเป็นระเบียบแล้ว ยังมีเวลาในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจ ทำกิจกรรมและเล่นกีฬาอยู่เสมอ จึงเป็นผู้ที่มีความสุขในด้านการเรียน และได้สั่งสสมประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและสังคมรอบข้างมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานด้านต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

               ภายหลังสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมื่อ พ.ศ. 2511 ท่านเดินทางกลับประเทศไทยและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท ณ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

               พ.ศ.2516 เมื่อ Prof.William D.Sawyer หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เดินทางกลับภูมิลำเนา ท่านจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าาภาควิชาแทน และดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 14 ปี แม้จะดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหารแล้ว แต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ยังคงให้ความสำคัญกับงานด้านการสอน งานวิจัย และงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ลูกศิษย์ปริญญาเอกคนแรกของท่านมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Nature ถึงสองเรื่อง เป็นสิ่งที่ท่านภาคภูมิใจอย่างมาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ
ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2542-2545)

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้รับเชิญให้เขียนตำราในระดับนานาชาติหลาย Chapter ได้รับเชิญเป็นประธานหรือ Invited Speaker ใน International Congress ด้านอิมมูโนวิทยาและจุลชีววิทยาหลายครั้ง ร่วมจัดหรือเป็นประธานการจัดประชุมวิชาการนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลายครั้ง อาทิ เป็นประธานจัดการประชุม The Fifth International Conference in Global Impacts on Applied Microbiology ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาเสด็จเป็นองค์ประธาน ณ สวนอัมพร เมื่อ พ.ศ. 2520

               ด้านองค์การระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้รับเชิญเป็น Temporary Advisor ทางวิชาการอิมมูโนวิทยา ชีววิทยา โรคติดเชื้อ และการพัฒนาวัคซีน ขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็น WHO Expert Advisory Panel on Immunology ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นเลขาธิการข่ายงานจุลชีววิทยาภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของ UNESCO พ.ศ. 2516-2522 และเป็นกรรมการฝ่ายวิทยาศาสตร์ในคณะกรรมการแห่งชาติไทยสำหรับ UNESCO ตั้งแต่ พ.ศ. 2517

               ด้วยผลงานที่มีคุณภาพ ทรงคุณค่า และได้รับการยอมรับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2522 เมื่ออายุเพียง 39 ปี โดยไม่ต้องผ่านการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์มาก่อน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิตการรับราชการของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ

ชีวิตครอบครัว

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้พบกับ ดร.อรพรรณ ปฐมวาณิชย์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเภสัชวิทยา จาก University of London ประเทศอังกฤษ บรรจุเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาทำวิจัย ณ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งสองท่านได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรสในปี พ.ศ. 2514 มีธิดา 2 คน คือ คุณอรนาถ มาตังคสมบัติ และ คุณพรพรรณ มาตังคสมบัติ ธิดาทั้งสองได้ซึมซับความเป็นนักวิชาการและความเจริญก้าวหน้าในสาขาวิชาชีพของคุณพ่อและคุณแม่มาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ และเจริญรอยตามด้วยความมุ่งมั่น

               คุณอรนาถ มาตังคสมบัติ สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้าน Molecular Biology ที่มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา

               คุณพรรพรรณ มาตังคสมบัติ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2541 ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุน Fogarty International Fellowship ของ NIH และ ทำ International Medicine Residency ที่โรงพยาบาล Mettrowest ควบคู่ไปด้วย

ชีวิตการทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์

               ด้านงานบริหารและการพัฒนา

               หลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา เมื่อ พ.ศ. 2530 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคณาจารย์และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทผู้แทนคณาจารย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2534 จึงได้รับการสรรหาขึ้นเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คนที่ 5 ดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อ พ.ศ. 2534-2538 และได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งในวาระที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2538-2542

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและลึกซึ้งอย่างยิ่ง ได้วางนโยบายการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำพาคณะวิทยาศาสตร์ผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างสง่างาม

ถวายพานธูปเทียนแพ แด่สมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสที่เสด็จมาทรงเป็นประธานพิธีสงฆ์
ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543

               การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ดำเนินการให้มีการปรับปรุงอาคารสถานที่เดิมของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอายุกว่า 30 ปี ให้แข็งแรง ปลอดภัย สวยงาม ติดตั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัย ดำเนินการขออนุมัติสร้างอาคารใหม่ที่คณะวิทยาศาสตร์ ศาลายาและพญาไท พัฒนาระบบสารสนเทศและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บุคลากรของคณะสามารถใช้บริการฐานข้อมูลต่าง ๆ จากห้องสมุดคณะและจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านเครือข่าย Internet พร้อมทั้งจัดให้มีการบรรยายและอบรมให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ถวายภัตตาหารเพลแด่ สมเด็จพระพุทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในโอกาสพิธี
ทำบุญอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2543

               การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

               เน้นการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาทดแทนแกนนำของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งทยอยเกษียณอายุราชการ โดนการดำเนินการตามแนวทางของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คือเร่งบรรจุอาจารย์ใหม่ที่มีศักยภาพสูงและจัดหาทุนให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรเดิมของคณะวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ชักชวนคนดีมีฝีมือจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาทำงาน เน้นการสร้าง "ภาพลักษณ์" วิถีชีวิตของ "นักวิทยาศาสตร์" เพื่อชักจูงผู้มีความสามารถเข้ามาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ โดยผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ

แถลงข่าวการจัดการบรรยายด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชนและครู Science Lecture
และงาน Open House คณะวิทยาศาสตร์

               - การจัดงาน Open House เปิดบ้านวิทยาศาสตร์ ให้ครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องทดลอง ได้สัมผัสอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ได้เห็นโครงการต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานระดับโลก ทั้งยังได้เข้าใจและทราบชีวิตการทำงานของนักวิทยาศาสตร์

               - ริเริ่มโครงการทุนศรีตรังทองเสริมโครงการ พสวท. โดยใช้เงินรายได้คณะวิทยาศาสตร์ จัดให้ทุนการศึกษาจำนวน 48,000 บาท/ทุน/ปี จำนวน 50 ทุน เพื่อดึงดูดนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์โดยปราศจากข้อผูกมัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้สมัครสอบชิงทุนศรีตรังทองจำนวนกว่า 4,000 คนต่อปี ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ได้รับนักศึกษาที่มีคุณภาพและมีความรักที่จะศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

               - ริเริ่มการให้รางวัลแก่นักศึกษาวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลละ 10,000 บาท/คน จำนวน 13 รางวัล/ปี เพื่อเป็นรางวัลและกำลังใจให้แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม

               - ริเริ่มทุนเสริมสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และทุนอาจารย์ช่วยสอน โดยในระยะ 5 ปีแรก ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สวทช. ต่อมาได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยใช้ทุนจากเงินรายได้คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถเข้าสู่โครงการบัณฑิตศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์

               - ให้ทุนริเริ่มวิจัยสำหรับอาจารย์รุ่นใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ และทุนพัฒนาวิชาชีพนักวิจัยรุ่นกลางเพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันขอทุนวิจัยในระดับที่สูงขึ้นแก่นักวิจัยรุ่นกลาง รวมทั้งได้จัดให้มีทุนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้แก่อาจารย์ที่ต้องการพัฒนาการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศ

               - อำนวยความสะดวกพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณหมวดวัสดุครุภัณฑ์ที่พอเพียง ทำให้คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันชิงทุนวิจัยก้อนใหญ่จากภายนอก และมีผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติทั้งระดับชาติและนานาชาติมากมาย

               สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวคณะวิทยาศาสตร์ คือการที่คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการประกาศยกย่องโดย มูลนิธิโทเรเพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ให้เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 ถือเป็นดัชนีชี้วัดว่าคณะวิทยาศาสตร์ภายใต้การนำของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ก้าวไปอย่างถูกทิศทาง มีการพัฒนาและความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ

               ด้านสังคม

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ริเริ่มจัดปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพื่อเป็นเกียรติและเพื่อระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคนแรก ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานให้แก่คณะวิทยาศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ปาฐกในครั้งปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และคณะวิทยาศาสตร์ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นในด้านอินทรีย์เคมีของพืชสมุนไพรหรือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นงานในความสนใจของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข มาเป็นองค์ปาฐกซึ่งจัดเป็นประจำต่อมาทุกปี

               นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ยังได้ให้ความสำคัญกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ในการจัดงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2536 นั้น ได้รับพระกรุณาจาก สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานประกอบพิธีสงฆ์ และ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา คณะวิทยาศาสตร์ได้นำปาฐากถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข มาจัดในงานวันสถาปนาเรื่องมาจนถึงปัจจุบัน

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ยังได้ให้ความสำคัญกับศิษย์เก่า โดยส่งเสริมให้จัดงานคืนสู่เหย้าและสังสรรค์ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งริเริ่มพิจารณาให้รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างศิษย์เก่าทั้งมวล โดยในวาระครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโล่ศิษย์เก่าดีเด่นแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ทูลเกล้าฯ ถวายโล่เกียรติยศศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2541 แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ในงานเฉลิมฉลอง 40 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2541

               ด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และบริการวิชาการ

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนหาทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รณรงค์ให้มีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย จากบุคลากรและหน่วยงานภายนอก ร่วมมือกับ สสวท. British Council และ Imperial College จัด Science Lecture ซึ่งเป็นการบรรยายประกอบการสาธิตทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนและครูจากโรงเรียนต่าง ๆ เกิดความสนใจ ใฝ่รู้ เกิดความรักในวิชาวิทยาศาสตร์ และพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

               นอกจากนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ยังให้ความสำคัญกับการบริการวิชาการแก่สังคม ทั้งแก่สถาบันราชภัฎ การอบรมครูฟิสิกส์ทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้แก่กลุ่มบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เริ่มการจัดตั้งหน่วยงานเอกชนสัมพันธ์ขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่ภาคเอกชนได้อย่างคล่องตัว เป็นการส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิชาการของคณะไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมให้มีการตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติขึ้น เพื่อการประยุกต์ใช้วิชาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

หลักการทำงานและอุปนิสัยส่วนตัว

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บริหารงานโดยยึดหลักความเป็นธรรมและมนุษยธรรม มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและประสิทธิผลของงาน ส่งเสริมให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างคณะวิทยาศาสตร์ให้แข็งแกร่ง ท่านมองอนาคตอย่างมีแผนล่วงหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ระดมพลังความคิด สติปัญญา จากบุคคลากรรอบข้าง ปลูกฝังเยาวชนให้รักการเรียนวิทยาศาสตร์ สร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของนักวิทยาศาสตร์อาชีพ ท่านให้ความสำคัญกับความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ ให้โอกาสและอำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ ข้าราชการ บุคลากร ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นคนที่กล้าพูดและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเสมอ ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใด ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ในฐานะคณบดีจะเป็นผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลความกระจ่างด้วยตนเอง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ มาด้วย และจัดการประชุมเพื่อให้อาจารย์ ข้าราชการ และบุคลากรทุกระดับของคณะมีโอกาสได้ซักถามข้อสงสัย ให้ข้อเสนอแนะ มีส่วนร่วมคิดร่วมทำในทุก ๆ เรื่อง

               คุณสมบัติเด่นที่ชาวคณะวิทยาศาสตร์ทราบดีคือ ท่านคณบดีเป็นคนพูดเก่ง พูดได้นาน และพูดได้ดีโดยไม่ต้องเตรียม หรือเตรียมมาเพียงเล็กน้อย ท่านจะจดจำข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และเป็นผู้รอบรู้ในทุกเรื่อง จึงทำให้มีความเชื่อมั่นและไม่เครียดไม่ว่าจะต้องเป็นประธานหรือเป็นวิทยากรในงานใด สิ่งที่ท่านพูดจะตรงประเด็น แฝงด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ มีข้อคิดและเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเสมอ

เมื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

               เมื่อเข้ารับตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ให้แนวทางสำหรับการทำงานว่า มหาวิทยาลัยมหิดลต้องทำงานสนองตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ

              1. การผลิตบัณฑิตให้คิดเป็น มิใช่มองเฉพาะบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น แต่ต้องสนองความต้องการของสังคม โดย "เป็นผู้นำ" เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือแม้แต่ระดับโรงเรียน ต้องช่วยให้สถาบันเหล่านั้นสามารถปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ผลสุดท้าย ให้ได้คำตอบบนพื้นฐานของเหตุและผล เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถช่วยให้สถาบันเหล่านี้ได้ก็เท่ากับได้ช่วยให้ประเทศชาติสร้างคนรุ่นใหม่ให่คิดเป็น และภายใน พ.ศ. 2563 ประเทศไทยควรจะมีบัณฑิตระดับปริญญาตรี จากปัจจุบันเพียง ร้อยละ 14 ของผู้อยู่ในวัยเรียนระดับอุดมศึกษา เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 40 และสัดส่วนของบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ควรจะเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 30 เป็น ร้อยละ 70 ฉะนั้นจึงขอให้เชื่อว่างานของมหาวิทยาลัยมหิดลจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ควรมั่นใจได้ว่า แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะออกนอกระบบ ก็จะไม่ลดจำนวนบุคลากร ตราบใดที่ทุกคนทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร อุตสาหะและเสียสละเพื่อส่วนรวม

ขณะอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลเข้าห้องทำงานใหม่ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ในวันแรกที่เข้ารับมอบงานอธิการบดี (พ.ย. 2542)

               2. เนื่องจากการที่มหาวิทยาลัยมหิดลมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะทันตแพทยศาสตร์ สังคมย่อมคาดหมายว่าประชาชนจะได้รับบริการทางการแพทย์และสุขภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล เราต้องตอบสนองความต้องการของสังคมโดยการ ให้บริการประชาชนด้วยความเสมอภาค ด้วยบริการที่ดี ทั่วถึง และด้วยมาตรฐานทางวิชาการที่ล้ำเลิศ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทัง้นี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลควรให้ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องแก่สังคม โดยยกตัวอย่างกระแสเรื่องภูมิปัญญาไทยและการใช้สมุนไพร ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลต้องชี้นำและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในส่วนของพลังงานและสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยมหิดลควรต้องทำงานด้านนี้อีกมาก เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน

               3. การวิจัย รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์เป็นการรับใช้ชาติ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่มนุษยชาติ เรื่องการวิจัยนับเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะงานวิจัยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งงานวิจัยด้านสุขภาพ ด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การให้บริการ และภาคการเกษตร รวมทั้งการวิจัยพื้นฐาน มหาวิทยาลัยมหิดลมีความได้เปรียบที่มีความหลากหลายทางวิชาการ ทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องนำข้อได้เปรียบนี้มาหล่อหลอมเป็นเอกลักษณ์ และต้องหากลไกที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อให้เกิดปัญญาและองค์ความรู้ใหม่แก่สังคม

               4. การเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อสามารถชี้นำสังคมได้ เนื่องจากประชาชนมองว่าคนในมหาวิทยาลัยเป็นผู้มีการศึกษา จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีคามโปร่งใส ยุติธรรม ตัดสินปัญหาด้วยเหตุและผล มีความเป็นอิสระทางวิชาการ ทุกคนสามารถแสดงความเห็นในการนำวิชาการของมหาวิทยาลัย มาตอบปัญหาของสังคมได้ในขอบข่ายวิชาการที่ตนถนัด แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นนักวิชาการและไม่อิงกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มการเมืองใด

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้แสดงถึงความสามารถในการบริหารงาน การตัดสินใจที่ถูกต้อง รวดเร็ว และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพียงระยะเวลาไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ รวมทั้งผลักดันและดำเนินการให้เกิดผลงานที่สำคัญมากมาย

               1. ผลักดันและดำเนินการร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการพิจารณาของสภามาวิทยาลัย โดยให้ร่างพระราชบัญญัติและข้อบังคับต่าง ๆ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออกจากระบบราชการ ทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยผ่านการประชุมชี้แจง การพิจารณา การรวบรวมความคิด และการร่วมเสนอแนะข้อแก้ไขจากบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลทุกระดับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้เน้นให้ชาวมหิดลทุกคนตระหนักว่าเมื่อการปรับเปลี่ยนครั้งนี้แล้วเสร็จ ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชนที่จะได้สถาบันที่เป็นภูมิปัญญาของชาติ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะและคุณธรรม สร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาของชาติ รวมถึงการให้บริการที่ได้มาตรฐานและคุณภาพระดับสากล

               2. ให้ความสำคัญ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิด การพัฒนาระบบ IT ของมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่แต่งตั้งรองอธิการบดีเพื่อดูและรับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถใช้บริการ Internet ได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่าน Proxy Server ที่มหาวิทยาลัยติดตั้งเพิ่มกระจายไปตามวิทยาเขตต่าง ๆ ลดปัญหาความล่าช้าของการสื่อสารผ่าน Internet ซึ่งมีผู้ใช้บริการอย่างหนาแน่น มีแผนงานติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย จัด Multimedia Center ให้เป็นศูนย์พัฒนาสื่อการเรียนการสอน การจัดระบบลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต แจ้งผลการเรียนแก่นักศึกษาทาง E-Mail และการพัฒนาให้ห้องสมุดทุกแห่งของมหาวิทยาลัยเป็น Full Digital Library

               3. การส่งเสริมการวิจัยอย่างจริงจังและครบวงจร โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนที่จะส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำผลงานไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเพื่อส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จึงได้จัดสรรเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจำนวน 100 ล้านบาท เป็นทุนอุดหนุนการวิจัยแก่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย 4 ประเภท

                   1) ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้การสนับสนุนการทำวิจัยในระยะเริ่มต้นแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้ริเริ่มทำการวิจัย สนับสนุนให้มีผลงานวิจัยเบื้องต้น เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีวคามสามารถขอทุนจากแหล่งทุนภายนอกได้

                   2) ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นกลาง โดยให้การสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิจัยรุ่นกลางของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

                   3) ทุนส่งเสริมโครงการวิจัยประยุกต์ ให้การสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่และให้นักวิจัยที่มีศักยภาพสูง สามารถทำงานวิจัยที่ครบวงจร สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เน้นผลที่จะได้รับจากการนำการวิจัยไปประยุกต์ใช้ หากเป็นโครงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะสนับสนุนโครงการที่นำไปประยุกต์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและศาสนาของประเทศ

                   4) ทุนส่งเสริมโครงการวิจัยมุ่งเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์สันบสนุนโครงการที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดหัวข้อและกรอบการวิจัยที่ชัดเจน เน้นผลการวิจัยที่พัฒนาองค์ความรู้ใหม่หรือการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์

               4. การสร้างเครือข่ายและการขยายโอกาสทางการศึกษา มีนโยบายเน้นการสร้างเครือข่ายทั้งกับสถาบันการศึกษา องค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ ภายในประเทศนั้นเน้นให้เกิดความร่วมมือทั้งกับสถาบันในระดับเดียวกันเพื่อจัดทำหลักสูตรใหม่ โครงการวิจัยต่าง ๆ และกับสถาบันที่มหาวิทยาลัยต้องให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการหลักสูตรการเรียนการสอนและพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของประเทศ

               5. กำหนดนโยบายการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐ และเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวและความพร้อมรับสถานการณ์พลังงานที่มีราคาสูงขึ้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้กำหนดทิศทางการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ตั้งเป้าหมายไว้ให้ประหยัดพลังงานลงถึงร้อยละ 20 โดยไม่กระทบกิจกรรมและภารกิจของมหาวิทยาลัย มุ่งเน้นที่การตรวจสอบ ติดตามป้องกันและแก้ไขการรั่วไหลและสูญเสียพลังงานและวัสดุทุกชนิด

               ผลการดำเนินงานของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยมหิดลและประเทศชาติ สมกับแนวคิดที่วางไว้เมือ่เริ่มเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี และเป็นเครื่องแสดงความตั้งใจจริงและความสามารถในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี

เรียบเรียงข้อมูลโดย ผศ.บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ์
เผยแพร่ในหนังสือที่ระลึก "5 รอบ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ"

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ"

ที่มาข้อมูล : หนังสือที่ระลึก "5 รอบ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ"

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือที่ระลึก "5 รอบ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ"