ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Amaret Bhumiratana
B.Sc. (Hons., U.C. at Davis), Ph.D.(Michigan State)
1992 Outstanding Scientist Award (Biotechnology)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักวิจัยไทยที่มีผลงานดีเด่นในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เชี่ยวชาญด้านการสอน การวิจัย รวมทั้งการประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2532 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวงการเทคโนโลยีชีวภาพระดับประเทศ โดยริเริ่มให้มีการรวมตัวของนักวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้มีการก่อตั้ง ชมรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 และเป็นประธานคนแรกของชมรมนี้ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นบุตรของศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน และคุณหญิงระเบียบ ภูมิรัตน สมรสกับนางนิตยาภรณ์ (สุมาวงศ์) มีธิดา 1 คน คือ พ.ญ. นภัทร ภูมิรัตน

การศึกษา

พ.ศ. 2497-2500 : ประถมศึกษา โรงเรียนปวโรฬารวิทยา กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2501-2506 : มัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมสาธิต มศว. ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2507 : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2507-2509 : โรงเรียนมัธยมแห่งเมืองเชาว์ซิวล่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2509-2513 : ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาแบคทีเรียวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเดวิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2513-2517 : ปริญญาเอก สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2517-2533 : สังกัดภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2517)
พ.ศ. 2533-2550 : สังกัดภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งวิชาการ
พ.ศ. 2517 : อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2519 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2524 : รองศาสตราจารย์ สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533 : ศาสตราจารย์ สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2540 : ศาสตราจารย์อาคันตุกะ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : ศาสตราจารย์ ระดับ 11 สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน : ดำรงตำแหน่ง Collaborative Professor ของมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2532 : รักษาการหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2532-2534 : ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533-2537 : นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2534-2538 : รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538-2540 : รองคณบดี ฝ่ายกิจกรรมทั้งหมดศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2542-2544 : ประธาน ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2542-2546 : คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2542-2546 : กรรมการสภา มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2543-2545 : กรรมการสภา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
พ.ศ. 2546-2547 : รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2546-2547 : รองอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547-2550 : ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสมัยที่ 2
พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน : ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งตำแหน่ง

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
- สมาชิกสมาคม Sigma XI
- สมาชิกสมาคม American Society for Microbiology
- สมาชิกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย
- สมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
- บรรณาธิการวารสารเทคโนโลยีชีวภาพ (Thai Journal of Biotechnology)
- คณะบรรณาธิการ (Editorial Board) ของ ASEAN Food Journal
- คณะบรรณาธิการ (Editorial Board) ของ Journal of Fermentation and Bioengineering
- คณะบรรณาธิการ (Editorial Board) ของ Journal of Microbiology and Biotechnology
- WHO Short-term temporary consultant
- คณะอนุกรรมการโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-ญี่ปุ่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- ที่ปรึกษารับเชิญของ International Foundation for Science
- สมาชิก SAC-Food Science International Foundation for Science
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (2549-ปัจจุบัน)

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2530 : รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับรางวัลดีเยี่ยม จากผลงานวิจัยเรื่อง "การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตซีอิ๊ว"
พ.ศ. 2534 : รางวัลของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2534 สาขาทั่วไป จากมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2535 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ประจำปี 2535 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2540 : ทุนวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปีพ.ศ. 2540 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2544 : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน และคณะ ได้ทำงานวิจัยทางด้านจุลชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนกว่า 70 เรื่อง ผลงานวิจัยโดยสรุปมีดังนี้

                งานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรีย ได้แก่ การศึกษาแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลง โดยเฉพาะสายพันธุ์ซึ่งฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืช และสายพันธุ์ซึ่งสามารถฆ่าแมลงพาหะนำโรค อาทิ Bacillus thuringiensis ศึกษาคุณสมบัติของผลึกสารพิษ ความสามารถที่แบคทีเรียจะยังคงฤทธิ์อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การผลิตแบคทีเรียเหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรม และพัฒนาให้มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ การถ่ายทอดยีนสารพิษระหว่างแบคทีเรียเหล่านี้ ทั้งในระหว่างสายพันธุ์เดียวกันและสายพันธุ์ต่างกัน ทำให้สามารถสร้างแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ศึกษาขบวนการควบคุมการแสดงออกของยีนโดยใช้เทคนิคทางด้านพันธุวิศวกรรม เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์แบคทีเรียที่เหมาะสมต่อไปได้ในอนาคต

                งานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากเชื้อราที่สำคัญได้แก่ การแยกวิเคราะห์เชื้อราต่าง ๆ จากหัวเชื้อซีอิ้วในประเทศไทย และการผลิตเอนไซม์ต่าง ๆ จากเชื้อรา การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตอาหารหมักจากถั่วเหลืองไปยังอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยขบวนการฝึกอบรมและการบริการทางเทคนิคอื่น ๆ การผลิตเอ็นไซม์กลูโคอะมัยเลสในระดับอุตสาหกรรม การใช้เชื้อรา Nomuraea rileyi เพื่อควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืช ในกลุ่ม Lepidoptera ซึ่งเป็นหนอนที่ทำลายพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งพืชผัก ผลไม้และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ หนอนกลุ่มนี้ได้แก่ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย โดยได้พัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชน เพื่อที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่อไป

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
(Professor Dr.Amaret Bhumiratana)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2535

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 3/2535 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2535 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถสร้างสรรค์ และดำเนินงานวิจัย ที่มีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่องในด้าน สรีรวิทยาและพันธุศาสตร์ ของแบคทีเรียและเชื้อรา ที่มีประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณค่าสูง ทั้งในด้านวิชาการ และในด้านการประยุกต์ จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป และเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของศาสตราจารย์อมร และคุณหญิงระเบียบ ภูมิรัตน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนปวโรฬารวิทยา ระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมัธยมแห่งเมืองเชาว์ชิวล่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้ศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้รับปริญญาตรีด้านแบคทีเรียวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเดวิส เมื่อ พ.ศ. 2513 และปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท อีสต์แลนด์ซิง เมื่อปี พ.ศ. 2517

                หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้รับราชการเป็นอาจารย์ใน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งในด้านการสอนและการวิจัย มีผลงานวิชาการเป็นที่ปรากฏ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้เป็นผู้ร่วมรับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2530 และรางวัลมหิดล สาขาทั่วไป เมื่อปี พ.ศ. 2534 อีกด้วย

                ผลงานวิจัยที่ดีเด่นของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน โดยสรุปมีอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นด้านการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรีย ซึ่งผลงานหลักได้แก่ การศึกษาแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลง โดยเฉพาะสายพันธุ์ซึ่งฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืช และสายพันธุ์ซึ่งสามารถฆ่าแมลงพาหะนำโรค ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้ศึกษาทั้งคุณสมบัติของผลึกสารพิษ ความสามารถที่แบคทีเรียจะยังคงฤทธิ์อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และการผลิตแบคทีเรียเหล่านี้ ในระดับอุตสาหกรรม นับเป็นผลงานที่ได้ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมามากมาย และสามารถอาจนำไปใช้ ประโยชน์สำคัญได้ในอนาคต แต่ผลงานที่อาจจัดได้ว่าเด่นที่สุด ในงานกลุ่มนี้ก็คือการที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน และผู้ร่วมงาน สามารถถ่ายทอดยีนสารพิษระหว่างแบคทีเรียเหล่านี้ ทั้งในระหว่างสายพันธุ์เดียวกันและสายพันธุ์ต่างกัน ทำให้สามารถสร้างแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน และผู้ร่วมงานยังได้ใช้ความรู้และเทคนิคทางด้านพันธุวิศวกรรม ในการศึกษาขบวนการควบคุมการแสดงออกของยีน ตลอดจนได้ค้นพบปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนในการส่งเสริมขบวนการถ่ายทอดยีน ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์แบคทีเรียที่เหมาะสมต่อไปได้ในอนาคต

                ผลงานกลุ่มที่สองของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน คือการใช้ประโยชน์จากเชื้อราที่สำคัญได้แก่ การแยกวิเคราะห์เชื้อราต่าง ๆ จากหัวเชื้อซีอิ้วในประเทศไทย และการผลิตเอนไซม์ต่าง ๆ จากเชื้อรา นอกจากงานวิจัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตอาหารหมักจากถั่วเหลืองไปยังอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยขบวนการฝึกอบรมและการบริการทางเทคนิคอื่น ๆ

                นอกเหนือจากงานด้านการวิจัยและการบริการอุตสาหกรรมแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ยังได้เป็นผู้สร้างรากฐานของเทคโนโลยีชีวภาพในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รักษาการหัวหน้าภาควิชานี้ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2532 และยังเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2534 ในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งบริหาร เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากบทบาทในมหาวิทยาลัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ยังมีบทบาทสำคัญในระดับประเทศ โดยการริเริ่มให้มีการรวมตัวของนักวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้มีการก่อตั้ง ชมรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย จนกระทั่งได้จัดตั้งเป็นสมาคมแล้วในปัจจุบัน และได้เป็นประธานชมรมนี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533

                ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้มีชีวิตและวิญญาณ เป็นนักวิจัยที่แท้จริง เป็นผู้อุทิศเวลาให้กับงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เป็นที่รักใคร่และนับถือ ของศิษย์และเพื่อนร่วมงาน และยังเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน

                โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2535

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2535).
                         รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2535 : ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน.
                         กรุงเทพฯ : มูลนิธิ. ISBN 974-7576-65-1

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...การดำเนินงานวิจัยใด ๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องมีจุดหมายหรือมีความใฝ่ฝันที่จะต้องการให้เป็นจริง ความฝันอันแรกของนักวิจัยทุกคนควรจะเป็นความสามารถที่จะดำเนินงานวิจัยให้ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ได้รับความเชื่อถือ เพื่อนำผลงานวิจัยนั้นให้ก่อเป็นความรู้ที่มีคุณค่า ไม่ใช่เฉพาะแก่ผู้วิจัยเอง แต่ยังเป็นขั้นตอนที่ทำให้การพัฒนาความรู้ในระดับต่อไปเกิดขึ้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นจากผู้วิจัยเองหรือจากผู้ร่วมงานและนักวิจัยคนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ความฝันระดับต่อไปของนักวิจัยคือความสามารถที่จะประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องมีสิ่งที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง อย่างแรกและอย่างที่สำคัญที่สุดคือ นักวิจัยต้องมีความมุ่งมั่น อุปสรรคต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในรูปของงบประมาณไม่พอ ผู้ร่วมงานมีไม่มากพอ บรรยากาศในสถานที่นั้น ๆ ไม่เอื้ออำนวย แต่อุปสรรคเหล่านี้จะหมดไปหรือลดน้อยลงไปมากหากผู้วิจัยนั้น ๆ มีความตั้งใจจริงที่จะทำความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นจริง ...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2535). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2535 : ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.