ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr. M.R.Jisnuson Svasti
B.A. (Hons.), Ph.D. (Cambridge)
2002 Outstanding Scientist Award (Biochemistry)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2490 ที่กรุงเทพมหานคร นักวิจัยไทยที่มีผลงานดีเด่นในสาขาชีวเคมีและชีวเคมีศึกษา มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์ เป็นผู้ก่อตั้งชมรมวิจัยโปรตีนแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2548 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร เป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี (บริพัตร) และหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ สมรสกับหม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร วุฒิชัย ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตรและหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย มีบุตรสาวสองคน คือ ม.ล.ศศิภา สวัสดิวัตน์ โลว์ และ ม.ล.จันทราภา สวัสดิวัตน์

การศึกษา

                ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ โดยสำเร็จการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียน Cheam School และระดับมัธยมที่โรงเรียน Rugby School จากนั้นได้รับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาชีวเคมี จาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2511 ได้รับปริญญาโท สาขาชีวเคมี และปริญญาเอก สาขาอณูชีววิทยา จาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี พ.ศ. 2515 โดยทำงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Dr. César Milstein ที่ MRC Laboratory of Molecular Biology

ประวัติการทำงาน

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2518 รองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2521 และศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2525 เคยปฏิบัติงานวิจัยที่ University of Texas Medical Branch ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง ปี พ.ศ. 2519-2520 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งหน้าที่อื่น ๆ
พ.ศ. 2523-2527 : หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538-2540 : รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2540-2542 : รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน : หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : หัวหน้าหน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548-2550 : คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548-2550 : กรรมการสภา มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน : กรรมการสภา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
พ.ศ. 2551-2554 : นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ ของประเทศไทย
พ.ศ. 2528-2530 : ประธานสาขาชีวเคมี สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2528-2530 : บรรณาธิการวารสารของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2534-2541 : กรรมการสาขาเกษตรและชีววิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2528-ปัจจุบัน : กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน : กรรมการมูลนิธิไทย-เคมบริดจ์
พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน : สมาชิก บัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : บรรณาธิการวารสาร ScienceAsia ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน : กรรมการสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรระดับนานาชาติ
พ.ศ. 2522-2525 : Member, Coordinating Committee, Asian Network of Biological Science
พ.ศ. 2523-2529 : Treasurer, Federation of Asian and Oceanian Biochemists (FAOB)
พ.ศ. 2533-2535 : President, Federation of Asian and Oceanian Biochemists (FAOB)
พ.ศ. 2539-2545 : Member, Committee on Symposia, International Union of Biochemistry and Molecular Biology (IUBMB)
พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน : Thai Delegate to International Union of Biochemistry and Molecular Biology (IUBMB)
พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน : Member, Governing Council Asia-Pacific International Molecular Biology Network
พ.ศ. 2544-2548 : Membership Committee for Biochemistry and Biophysics, Third World Academy of Science (TWAS)
พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน : Editorial Board, Molecules and Cells, Korean Society of Molecular and Cellular Biology
พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน : Member, Health Committee, European Action on Global Life Sciences (EAGLES)
พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน : Council Member, Asian and Oceanic Human Proteome Organization (AOHUPO)

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2525 : ได้รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
พ.ศ. 2537 : Honorary Member, Federation of Asian and Oceanian Biochemists and Molecular Biologists (FAOBMB)
พ.ศ. 2538 : Honorary Member, Philippine Society for Biochemistry and Molecular Biology
พ.ศ. 2539 : Elected Fellow, Third World Academy of Science (TWAS)
พ.ศ. 2540 : สมาชิกก่อตั้งบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2540 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นของทบวงมหาวิทยาลัย สาขาอาจารย์หรือนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีผลในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา
พ.ศ. 2541 : Member, Asia Pacific International Molecular Biology Network
พ.ศ. 2544 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สาขาชีวเคมี)
พ.ศ. 2545 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2546 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2546 : รางวัลอาจารย์ดีเด่น ของสภาอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ของสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547 : รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากที่ประชุม ประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)
พ.ศ. 2547 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สาขาวิทยาการโปรตีน)
พ.ศ. 2548 : ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2536 : มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2541 : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์ มาเป็นเวลากว่า 35 ปี ได้ศึกษาโปรตีนชนิดต่าง ๆ ของร่างกายหลายชนิด ดังต่อไปนี้

                พ.ศ. 2512-2519 ศึกษาโปรตีนอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในร่างกาย จึงเป็นโปรตีนที่มี ลักษณะโครงสร้างที่พิเศษ โดยมีส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานทำ หน้าที่ส่วนรวม และส่วนที่มีความจำเพาะเพื่อให้สามารถจับกับสารต่าง ๆ ได้

                พ.ศ. 2515-2529 ศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ที่มีความจำเพาะต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติและโครงสร้างแตกต่างจากโปรตีนชนิดเดียวกัน ที่พบในอวัยวะอื่น ๆ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าจะสามารถยับยั้งโปรตีนเหล่านี้ได้ โดยไม่มีผลต่อโปรตีนของเนื้อเยื่ออื่นหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทาง คุมกำเนิดในเพศชาย โปรตีนที่ศึกษาได้แก่ sperm protamine, testis- specific histone, testis-specific lactate dehydrogenase isozyme X และ plasma acidic protease เป็นต้น เพื่อทำให้เข้าใจโครงสร้างและ หน้าที่การทำงานของโปรตีนเหล่านั้น

                พ.ศ. 2527-2548 ศึกษาโครงสร้างของฮีโมโกลบินผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเลือด รวมทั้งศึกษาการผ่าเหล่าที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ และได้ค้นพบ ฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดใหม่อีกหลายชนิดที่ยังไม่เคยมีผู้พบมาก่อนใน ประเทศไทย เช่น Hb-Lepore-Washington-Boston, Hb J Buda, Hb G Coushatta และ Hb Queens เป็นต้น ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่และโครงสร้างของฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ และ อาการของคนไข้ สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจนขึ้น และสามารถให้ คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

                พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน ศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ในโรคความผิดปกติของกระบวนการ เมตาบอลิสม (Inborn errors of metabolism) ซึ่งพบในเด็กไทย และ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอาการปัญญาอ่อน ความ ผิดปกติของกระดูก ฯลฯ ได้ การศึกษาจึงมุ่งเน้นที่จะเข้าใจถึงพื้นฐานระดับ โมเลกุลของโรคทางพันธุกรรม เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายทอด ความรู้แก่ผู้ป่วยและช่วยในการบำบัดรักษา ตลอดจนวินิจฉัยโรค

                พ.ศ. 2536-ปัจจุบัน ศึกษาโครงสร้างการทำงานของเอนไซม์ไกลโคซิเดสและสารจำพวก ไกลโคไซด์ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายและการสร้างคาร์โบไฮ เดรท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารจำพวกโอลิโกแซคคาไรด์ ที่มีความสำคัญต่อ การทำงานต่าง ๆ ของเซลล์ ได้ค้นพบเอนไซม์จำพวกนี้ชนิดใหม่หลายชนิด จากเมล็ดพืชพื้นเมืองของไทย ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ในการ สังเคราะห์โอลิโกแซคคาไรด์และไกลโคไซด์ได้ เช่น เอนไซม์จาก พะยูง ถ่อน มะเขือพวง กระเจี๊ยบ ฉนวน ลั่นทม มันสำปะหลัง และ ข้าว เป็นต้น

                พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน การพัฒนาเทคนิคด้านโปรตีโอมิกส์ในการวิจัยโรคมะเร็ง เป็นการศึกษา โปรตีนผิดปกติที่พบในโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยใช้เทคนิคโปรตีโอมิกส์ (proteomics) วิเคราะห์หาโปรตีนที่น่าจะมีความสำคัญหรือมีความ เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการ พัฒนาการตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มแรกและแนวทางติดตามผลการรักษา ตลอดจนหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้สร้างกลุ่มทีมวิจัยทางด้านโปรตีนและเอนไซม์ที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อมุ่งขยายงานวิจัยทางด้านนี้ให้กว้างขวางขึ้น โดยเน้นศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ และที่เกี่ยวข้องกับโรคในมนุษย์ ศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอนุพันธ์ของเพนนิซิลินที่มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นยารักษาโรค ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในโรคต่าง ๆ รวมทั้งการประยุกต์ใช้สารสกัดจากธรรมชาติในการรักษาโรคมะเร็งและการหายของแผล ศึกษาการประยุกต์ใช้โปรตีนและเอนไซม์ทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น โปรตีนและเอนไซม์ย่อยโปรตีนในไหมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย การแยกสกัดเอนไซม์นาริจีเนสจากแหล่งในประเทศไทย สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำผลไม้เพื่อกำจัดรสขมในน้ำผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสนใจด้านการเรียนการสอน และทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางด้านชีวเคมีด้วย

                งานวิจัยเหล่านี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติกว่า 120 เรื่อง และจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องของกลไกการทำงานของโปรตีนและความสัมพันธ์กับโครงสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
(Professor Dr. M.R.Jisnuson Svasti)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2545

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นสาขาวิชาเคมี เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกงานด้านการศึกษาโครงสร้าง ส่วนประกอบ และหน้าที่การทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยได้ทำงานวิจัยด้านนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นเทคนิค วิธีวิจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสร้างความรู้ และประยุกต์ใช้โปรตีนในด้านต่าง ๆ ในประเทศไทย อาทิ เกษตร อุตสาหกรรมและการแพทย์ จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                เนื่องจากโปรตีนเป็นสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยเป็นสารที่แสดงออกของยีนส์ในโครโมโซม เป็นสารที่ทำงานต่าง ๆ ในเซลล์ และเป็นสารที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเซลล์ต่าง ๆ ดังนั้นการเข้าใจถึงโครงสร้างคุณสมบัติและหน้าที่การทำงานของโปรตีน จึงมีความจำเป็นเพื่อที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ในสิ่งมีชีวิต ทั้งในภาวะปกติและภาวะผิดปกติในปริมาณ หรือคุณภาพของโปรตีนอาจทำให้เกิดโรคได้

                ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีนระบบต่าง ๆ เช่น โปรตีนในเลือด โปรตีนในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย โปรตีนผิดปกติในโรคต่าง ๆ และเอนไซม์จากพืช โปรตีนแรกที่ทำการศึกษา ได้แก่ โปรตีนอิมมูโกลบูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดที่มีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนของโมเลกุลที่คงที่ และทำหน้าที่ส่วนรวมได้ กับส่วนที่เปลี่ยนแปลงทำหน้าที่ให้ความจำเพาะในการจับสาร นอกจากนี้ได้ศึกษาโครงสร้างของ โปรตีนขนส่งไวตามินดีในเลือด เพื่อเข้าใจถึงสาเหตุที่โปรตีนมีความหลากหลาย รวมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงในโครงรูปของโปรตีนเมื่ออนุพันธุ์ของไวตามินดีเข้าไปจับ ซึ่งน่าจะมีความสำคัญในการทำงานของโปรตีน

                การศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ที่มีความจำเพาะต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย ช่วยให้เข้าในว่าโปรตีนแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันอย่างไรจากโปรตีนชนิดเดียวกันที่พบในเนื้อเยื่ออื่น ซึ่งเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสืบพันธุ์ในเพศชาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนายาคุมกำเนิดสำหรับเพศชายต่อไป

                ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ค้นพบฮีโมโกลบินผิดปกติหลายตัวที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งโปรตีนฮีโมโกลบินนี้เป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โรคของฮีโมโกลบินมี 2 ชนิดคือ ธาลัสซีเมีย เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์สายเปปไทด์ของฮีโมโกลบินน้อยหรือไม่มีเลย และโรคฮีโมโกลบินที่เกิดจากการผ่าเหล่า ทำให้โปรตีนมีโครงสร้างผิดปกติ ห้องปฏิบัติการของ ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ สามารถศึกษาโครงสร้างผิดปกติ ของฮีโมโกลบินได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทำให้สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของฮีโมโกลบิน ที่ผิดปกติได้ถึง 10 ตัว จาก 25 ตัว ที่เคยพบในประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค และการนำไปประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร เป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคเลือดได้ด้วย

                งานวิจัยเรื่องสุดท้าย เป็นการค้นพบโปรตีนที่ทำหน้าที่ย่อยสารคาร์โบไฮเดรต ในพืชพื้นเมืองไทย ได้แก่ เอสไซม์ชนิดไกลโคซิเดส เช่น จากต้นพะยูง ปอแก้ว ถ่อน เป็นต้น เอนไซม์เหล่านี้เป็นเอนไซม์ที่สามารถนำมาใช้สังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรต ที่มีลักษณะตามต้องการได้โดยย้อนปฏิกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ศึกษาเอนไซม์เบต้ากลูโคซิเดส จากต้นพะยูงอย่างละเอียด ตั้งแต่การแยกให้บริสุทธิ์ ศึกษาคุณสมบัติการเร่งปฏิกิริยา การโคลนดีเอ็นเอและแสดงออก การศึกษาโครงสร้างและการนำไปใช้สังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรตจำเพาะต่าง ๆ นอกจากนี้ได้เริ่มศึกษาเอนไซม์กลูโคซิเดสจากพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง และมะเขือพวงด้วย เพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง และการทำงานของเอนไซม์เบต้ากลูโคซิเดส และเพื่อมองแนวทางที่จะประยุกต์ใช้เอนไซม์เหล่านี้ ในการสังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรต และใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาความแตกต่างของเอนไซม์กลุ่มนี้

                งานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนที่ทำทั้งหมด ได้อาศัยเทคนิคหลายชนิด ซึ่งต้องพัฒนาให้สามารถทำได้ในประเทศไทย บางเทคนิคต้องมีการดัดแปลงและประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยได้พัฒนาห้องปฏิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ในการศึกษาโครงสร้างปฐมภูมิของโปรตีน โดยสามารถวิเคราะห์ปริมาณกรดอะมิโน แยกเปปไทด์หาลำดับของโปรตีน และแยกโปรตีนด้วยอิเล็กโตรฟอรีซีสในสองมิติ นอกจากนี้ ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ยังได้เคยใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการศึกษาโครงสร้างรูปของโปรตีน เช่น การเรืองแสง และซีดีสเปคโตรสโคปี เป็นต้น และสุดท้ายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะติดตั้งเครื่องศึกษาผลึกของโปรตีนด้วยรังสีเอ็กซ์ เพื่อศึกษาโครงสร้างในสามมิติของโปรตีน ซึ่งจะทำให้สามารถศึกษาโปรตีนต่าง ๆ ที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเข้าใจกลไกการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ตลอดจนทำให้สามารถออกแบบตัวต่อต้าน หรือยับยั้งการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ที่อาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต

                ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ไม่เพียงแต่ทำงานวิจัยทางด้านโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน มาอย่างต่อเนื่องแต่ยังมีความสนใจทางด้านชีวเคมีศึกษา และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางด้านชีวเคมีศึกษาลงในวารสารนานาชาติหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจสนับสนุนงานวิจัยในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอดชีวิตการทำงานของท่าน โดยร่วมกิจกรรมของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะบรรณาธิการวารสารวิจัยฉบับภาษาอังกฤษ 2 สมัย และประธานสาขาเคมี

                สุดท้าย ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ทุ่มเวลากับการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยรับหน้าที่ต่าง ๆ ในองค์กรนานาชาติ เช่น President of the Federation of Asian and Oceanian Biochemists, Symposium Commitee of the International Union of Biochemistry and Molecular Biology และ Membership Commitee for Biochemistry and Biophysics, Third World Academy of Science

                ด้วยผลงานดีเด่นที่เป็นรูปธรรมทั้งด้านงานสอน งานวิชาการ งานวิจัยและประดิษฐ์คิดค้น เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม สมควรเป็นแบบอย่าง คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พุทธศักราช 2545

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2545).
                         รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๕ : ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ.
                         กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...ในสภาพที่ประเทศไทยมีนักวิจัยน้อย และขาดนวัตกรรม ควรจะต้องสนับสนุนวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น และจำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานไม่น้อยกว่าวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพราะวิทยาศาสตร์พื้นฐานมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ และทางด้านการวิจัย รวมทั้งสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปต่อยอดได้ถ้าหวังแต่จะได้ผลของวิทยาศาสตร์ประยุกต์อย่างเดียว โครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์จะเสื่อมและเราจะไม่สามารถติดตามเทคโนโลยีของโลก ทำให้วิธีการที่เราใช้ในงานประยุกต์จะล้าสมัย และผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตจะล้าสมัยขายไม่ได้ แน่นอนเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นทางด้านจีโนมิกส์ หรือโปรตีโอมิกส์ ทำให้ยากที่นักวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาจะติดตามได้ แต่เราจำเป็นต้องพยายาม แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีให้ดี และสร้างระบบการใช้เครื่องมือร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

                ในฐานะนักวิจัยคนหนึ่ง ถือว่าโชคดีสามารถทำงานที่ชอบคืองานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างอิสระมาเป็นเวลาถึง 30 ปี โชคดีเพราะว่าวิทยาศาสตร์และการวิจัยไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศและของมวลมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นงานที่สนุก ท้าทาย และเป็นงานที่มีคุณค่า มีความงดงามในตัว ของมันเองเช่นเดียวกับศิลปะ นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ไม่มีข้อจำกัดของพรมแดน การเมือง ชาติ หรือศาสนา และจากวิทยาศาสตร์นี้เอง ข้าพเจ้าได้มีเพื่อนทั่วโลกที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อให้โลกใบนี้ของเราดีขึ้น ...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2545). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2545 :
ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.