ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Prasert Sobhon
B.Sc. (Western Australia), Ph.D. (Wisconsin)
1995 Outstanding Scientist Award (Cell Biology)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของ นายสุนทรและนางสว่างจิต โศภน เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่มีผลงานดีเด่นในสาขากายวิภาคศาสตร์และเซลล์ชีววิทยา เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเซลล์ชีววิทยา ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2538 สมรสกับนางกรรณิการ์ (กุลพงษ์) โศภน มีบุตร 2 คน คือ น.ส.ขวัญหล้า โศภน และ นายสินธุ โศภน

การศึกษา

- สำเร็จการศึกษา ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนศรีโกสุมวิทยา อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
- เข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) สาขาเตรียมแพทย์ศิริราช
- ได้รับทุนการศึกษา ภายใต้แผนการโคลัมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐออสเตรเลียตะวันตก จนได้รับปริญญาตรี ด้านชีววิทยา และกายวิภาคศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2509
- ได้รับทุน มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์ชีววิทยา และกายวิภาคศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2513

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน : อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2534 : ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์

ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2520-2530 : หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2535-2538 : รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538-2540 : รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541-2543 : ประธานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2546-2547 : คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2528 : รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
พ.ศ. 2538 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเซลล์ชีววิทยา ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2544 : ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขากายวิภาคศาสตร์
พ.ศ. 2545 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่างสภาอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547 : รางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พ.ศ. 2547 : ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขากายวิภาคศาสตร์ ระยะที่ 2
พ.ศ. 2565 : ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (กายวิภาคศาสตร์และชีววิทยาโครงสร้าง) ประจำปีการศึกษา 2565

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. ไม่ปรากฏ : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฎ : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
พ.ศ. 2555 : เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขาวิทยาศาสตร์

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

- การศึกษาพยาธิชีววิทยา การสังเคราะห์ และวิเคราะห์คุณลักษณะ ของแอนติเจนและยีน ของพยาธิใบไม้ตับ Fasciola gigantica ที่มีศักยภาพในการพัฒนา
วิธีตรวจสอบการติดเชื้อและวัคซีน
- การควบคุมกระบวนการสร้าง และการหลั่งเซลล์สืบพันธุ์ โดยประสาทฮอร์โมนในหอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน
(Professor Dr.Prasert Sobhon)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเซลล์ชีววิทยา ประจำปีพุทธศักราช 2538

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลงานดีเด่นด้านเซลล์ชีววิทยา สามารถสร้างสรรค์และดำเนินงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่องในด้านเซลล์ชีววิทยาและอิมมิวโนวิทยาของพยาธิใบไม้ในเลือด และพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งมีประโยชน์ในด้านความรู้พื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีตรวจสอบ การติดเชื้อโรคพยาธิและแนวคิดในการพัฒนาวัคซีนต่อพยาธิ อีกทั้งได้ศึกษาโครงสร้างการขดตัวของใยโครมาติน และเบสิกโปรตีนในเซลล์สืบพันธุ์เพศชายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจในการเก็บรักษาและแสดงออกของสารพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวิทยาศาสตร์ สาขาสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ของระบบสืบพันธุ์อย่างยิ่ง ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณค่าสูง ทั้งในด้านวิชาการและในด้านการประยุกต์ จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไปและเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เกิดเมื่อ พุทธศักราช 2486 ที่จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของ นายสุนทรและนางสว่างจิต โศภน สำเร็จการศึกษา ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนศรีโกสุมวิทยา อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนวัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อ ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) สาขาเตรียมแพทย์ศิริราช และได้รับทุนการศึกษา ภายใต้แผนการโคลัมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐออสเตรเลียตะวันตก จนได้รับปริญญาตรี ด้านชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์ เมื่อปี พุทธศักราช 2509 แล้วได้รับทุน มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์ชีววิทยา และกายวิภาคศาสตร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2513

                หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ใน ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งในด้านการสอน และการวิจัย มีผลงานวิชาการเป็นที่ปรากฎและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงดำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปีพุทธศักราช 2534 นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน ยังได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย เมื่อปีพุทธศักราช 2528 อีกด้วย

                ผลงานวิจัยดีเด่นของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน โดยสรุปมีอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นการศึกษา กายวิภาค สรีรวิทยา และอิมมิวโนวิทยาของชั้นผิวของพยาธิใบไม้เลือดและพยาธิใบไม้ตับ ในคนและสัตว์เลี้ยงซึ่งได้ผลงานหลักและที่เด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างละเอียดของชั้นผิวพยาธิ โดยใช้จุลทรรศน์อิเล็กตรอน ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกลไกการเลี่ยงภูมิคุ้มกันของพยาธิ การวิเคราะห์หาจำนวน และศึกษาคุณสมบัติแอนติเจนจากชั้นผิวและจากส่วนอื่นของตัวพยาธิ การมีส่วนร่วมในการผลิต และวิเคราะห์โมโนโคลนัลแอนติบอดี้ต่อแอนติเจนเป้าหมาย ซึ่งได้นำไปสู่การพัฒนาวิธีตรวจการติดเชื้อ พยาธิใบไม้เลือดในคนและพยาธิใบไม้ตับในสัตว์เลี้ยง อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การใช้ยาบำบัดรักษาที่ถูกต้องและการพัฒนาวัคซีนในอนาคต นอกจากนี้ในงานวิจัยกลุ่มที่สอง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน และผู้ร่วมงาน ยังได้ศึกษาการขดเรียงตัวของเส้นใยโครมาติน การสร้างและเปลี่ยนแปลง ของเบสิกโปรตีนในนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศชายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์อื่น ๆ ซึ่งให้ความรู้พื้นฐานในด้านการสังเคราะห์และการสับเปลี่ยนเบสิกโปรตีนของใยโครมาติน ตลอดจนการขดของใยโครมาตินเพื่อเก็บรักษาและควบคุมการแสดงออกของสารพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อความเข้าใจสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ การปฏิสนธิ และการพัฒนาร่างกายของสัตว์ชั้นสูง

                นอกเหนือจากงานด้านการวิจัย การสอน และการบริการทางวิชาการแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน ยังเป็นผู้ชำนาญพิเศษในด้านจุลทรรศน์ โดยเฉพาะจุลทรรศน์อิเล็กตรอนและได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางด้านเซลล์ชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์ โดยได้เป็นหัวหน้าภาควิชา ที่เป็นคนไทยคนแรกของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้จัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2518 ถึงปีพุทธศักราช 2530

                ในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน ดำรงตำแหน่งบริหาร เป็นรองคณบดีฝ่ายการศึกษา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการดำเนินการ บัณฑิตวิทยาลัย นอกจากบทบาทในมหาวิทยาลัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน ยังมีบทบาทสำคัญในระดับประเทศ โดยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง และกรรมการสมาคมจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแห่งประเทศไทย และชมรมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย

                ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นผู้มีชีวิตและวิญญาณ เป็นนักวิจัยที่แท้จริง เป็นผู้อุทิศเวลาให้กับงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยตลอด เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เป็นที่รักใคร่ และนับถือของศิษย์และเพื่อนร่วมงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน

                โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเซลล์ชีววิทยา ประจำปีพุทธศักราช 2538

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2538).
                         รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๓๘ : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน.
                         กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือศาสตร์ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เราเข้าใจและสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่กำเนิดและองค์ประกอบของเอกภพ กำเนิดของสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง จินตภาพหลากหลายที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติในด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ในทุกบริบทก็เป็นภาพที่สวยงาม ที่ปรากฏในจิตใจ (mind) ของผู้ที่เข้าใจและซาบซึ้งกับวิทยาศาสตร์ ไม่แพ้กับความสวยงามของภาพจิตกรรมชิ้นเอกที่วาดโดยจิตรกรที่เรืองนาม

                "ความสวยงามของวิทยาศาสตร์และความตื่นเต้นของการค้นพบ" เป็นแรงดึงดูดหลักที่ทำให้พวกเราหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยและท้อถอย นอกจากนั้นมันยังทำจิตใจของเรายังสดใจ และใฝ่รู้เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ๆ ทั้งที่ร่างกายก็คงเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา "วิทยาศาสตร์สอดคล้องกับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ" เพราะทำให้เรามีความเข้าใจธรรมชาติมีความเชื่อและมีความศรัทธาในธรรมชาติ ตลอดจนสามารถนำเอามาเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิต

                ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่างานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ได้กระทำไปเพราะความใฝ่รู้ของนักวิทยาศาสตร์ มักจะทำให้เกิดเทคโนโลยีหลัก ๆ ที่สำคัญ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากกว่างานวิจัยที่ตั้งเป้าหมายเพื่อการเอาไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่แรก วิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกและไม่ควรจะแยกออกจากกัน และควรจะได้รับการสนับสนุน เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้เพื่อกินผลต้องมีการทำนุบำรุงทั้งราก ลำต้น และใบเพื่อให้ได้รับผลที่ดีและมีคุณค่าต่อการบริโภค

                การปลูกฝังความเข้าใจและความชอบวิทยาศาสตร์ในเยาวชนไทย นอกจากจะทำให้เขาสามารถคิดอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบตามหลักฐานที่ปรากฏและเหตุผลที่เชื่อถือได้แล้ว ย่อมเป็นอีกทางหนึ่งในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่งมงายกับเรื่องไร้สาระ เคารพและกราบไหว้ธรรมชาติด้วยความกลัวและเชื่อถือในภาพลวงตา อย่างที่เป็นอยู่อย่างแพร่หลาย ณ ปัจจุบัน ถ้าหากประเทศไทยคาดหวังที่จะเป็น Knowledge-based economy ที่แท้จริง รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และกล้าลงทุนในส่วนการให้การศึกษาวิทยาศาสตร์กับเยาวชน และการสร้างกับสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ถ้าเป็นไปได้ปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นปริญญาใบแรกของเยาวชนส่วนใหญ่ ...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2538). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2538 : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.