ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Sakol Panyim
B.Sc. (Berkeley), D.Phil. (Iowa)
1985 Outstanding Scientist Award (Biochemistry)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่จังหวัดอ่างทอง เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย มีผลงานวิจัยดีเด่นในสาขาชีวเคมี อณูชีววิทยา พันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรม เป็นเจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย สาขาชีวเคมี ประจำปี พ.ศ. 2528 และรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี พ.ศ. 2549 เป็นนักวิจัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมผลิตกุ้งกุลาดำ ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2546 เป็นนักวิจัยของประเทศไทยที่ตีพิมพ์บทความซึ่งมีความถี่ของการอ้างอิงมากที่สุด จากผลงานวิจัยเรื่อง High Resolution Arylamide Gel Electrophoresis of Histones ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Biochemistry and Biophysics 130: 337-346 (1969) และได้รับการอ้างอิงสูงสุดมากกว่า 3,500 ครั้ง จัดเป็นบทความ Citation Classic จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. เมื่อปี พ.ศ. 2542

การศึกษา

- ประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดป่าโมกข์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
- มัธยมต้นจาก โรงเรียนปาโมกข์วิทยาภูมิ
- มัธยมปลายจาก โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- หลังจากเข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ อยู่ 2 ปี ได้รับทุนรัฐบาลไทย (ก.พ.) ไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2510 : ปริญญาตรี สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เมืองเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2514 : ปริญญาเอก สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยไอโอวา เมืองไอโอวาซิตี สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2544 : ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งวิชาการ
พ.ศ. 2514–2517 - อาจารย์โท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2518–2520 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2521–2535 - รองศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2535–2538 - ศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538–ปัจจุบัน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2527–2531 - หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2532–2537 - รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2528–2542 - หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านจุลินทรีย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537–2541 - ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541–2546 - ผู้อำนวยการสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
พ.ศ. 2529–2536 - กรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2533–ปัจจุบัน - คณะกรรมการบรรณาธิการวารสาร Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health
พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน - คณะกรรมการบรรณาธิการวารสาร Asia–Pacific Journal of Molecular Biology and Biotechnology
พ.ศ. 2538-2543 - ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาอณูพันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
พ.ศ. 2543–2545 - กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเคมีและเภสัช
พ.ศ. 2543–2546 - หัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรด้านพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สวทช.
พ.ศ. 2543–2546 - ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สวทช.
พ.ศ. 2546–ปัจจุบัน - ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สวทช.
พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน - อ.ก.ม. วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ในการทำวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2546–ปัจจุบัน - ที่ปรึกษาสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2545–ปัจจุบัน - ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก สาขาอณูพันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษใน Gordon Research Conference ประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้รับเชิญเป็นกรรมการบริหารโครงการ Human Genome Project ของ UNESCO

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2528 - ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2539 - ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลที่ 1 ประเภททั่วไป ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานเรื่อง
"ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ"
พ.ศ. 2539 - เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาชีวเคมี
พ.ศ. 2543 - เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาอณูชีววิทยา
พ.ศ. 2542 - รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุดในประเทศไทย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2545 - รางวัล TTF AWARD สาขาวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย
พ.ศ. 2546 - เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระยะที่สอง สาขาอณูชีววิทยา
พ.ศ. 2546 - รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2546 - รางวัลมหิดลทยากร จากสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547 - รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2549 - รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2540 - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม ได้ทำการวิจัยด้านอณูชีววิทยาโดยมีผลงานเรื่อง การศึกษาโปรตีน histones และการหาวิธีจำแนกโปรตีนเหล่านี้ออกเป็น 5 ชนิด
   ได้ด้วยการแยกโดยกระแสไฟฟ้า เป็นผลงานเด่นที่มีผู้นำไปใช้อ้างอิงมากกว่า 2,558 ครั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ
   167 เรื่อง โดยมีผู้นำไปอ้างอิงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 4,673 ครั้ง
- ได้ศึกษาหาวิธีการจำแนกความหลากหลายของยุงก้นปล่องโดย DNA probe โดยการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรม และพัฒนาขึ้นเป็น DNA probe
   สำหรับการตรวจหาและจำแนกสปีซีส์ของยุงก้นปล่อง โดยสามารถตรวจหาได้จากชิ้นส่วนของยุงหรือลูกน้ำ
- การค้นพบวิธีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจากเลือด โดยการตรวจสอบ DNA
- การศึกษายีนฆ่าลูกน้ำยุงจากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ซึ่งฆ่าลูกน้ำยุงอย่างจำเพาะโดยไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์
- การแยกและเพิ่มปริมาณของยีนสร้าง growth hormone เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปลาบึก
- มีผลงานร่วมวิจัยศึกษาวิธีการสร้างลายพิมพ์ DNA ในคนและแบคทีเรีย จนได้วิธีจำแนกบุคคลจากลักษณะลายพิมพ์ DNA
- การศึกษาอณูชีววิทยาของไวรัสที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไวรัสหัวเหลือง และไวรัสตัวแดงจุดขาว ซึ่งก่อโรคสำคัญในกุ้งกุลาดำ
   โดยศึกษาสารพันธุกรรมของไวรัส การบุกรุกเซลล์กุ้งของไวรัส การเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์กุ้ง และการตอบสนองของเซลล์กุ้งต่อการบุกรุกของไวรัส
   เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจการติดเชื้อไวรัสของกุ้ง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งปราศจากเชื้อไวรัสในอนาคต
- การศึกษาไวรัสในมะละกอ (Papaya Ringspot Virus) ศึกษากลไกการเกิดความสามารถต้านทานไวรัส เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกมะละกอ
   ที่ปราศจากโรคไวรัสในอนาคต
- การพัฒนาเทคโนโลยี SiRNA (small interference RNA) สำหรับเป็นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสในกุ้ง เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้ง
   ป้องกันการเสียหายจากโรคไวรัสหัวเหลืองและโรคตัวแดงจุดขาว นอกจากนี้เทคโนโลยี SiRNA อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นวัคซีนป้องกันไวรัส
   ในสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคปากเท้าเปื่อยในวัว ควาย โรคท้องร่วงในสุกร โรคไวรัสหวัดในไก่ เป็นต้น

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

(ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัลคือ รองศาสตราจารย์)

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 3/2528 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2528 ได้พิจารณาเห็นว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น ทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาขาชีวเคมี เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงานทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีคุณภาพดีเด่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคนิคที่เป็นประโยชน์กับงานทางชีวเคมี เป็นผู้นำในการบุกเบิกการวิจัย ด้านพันธุวิศวกรรม อันเป็นกระบวนการซึ่งเชื่อมความรู้พื้นฐานกับการประยุกต์เพื่อประโยชน์กับสังคม เป็นผู้ริเริ่มงานวิจัยซึ่งใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม เพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข จนสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติ ให้ประจักษ์ชัดโดยทั่วไปและเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม
                รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นบุตรของนายเจริญ และนางสอาด พันธุ์ยิ้ม ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา ระหว่างพุทธศักราช 2507-2514 สำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบอร์คเลย์ เมื่อพุทธศักราช 2510 และสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยไอโอวา เมื่อพุทธศักราช 2514 แล้วกลับมารับราชการ เป็นอาจารย์โท ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนปฏิบัติงานวิจัยที่ Freidrich Miescher Institute ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่าง พุทธศักราช 2520-2521
                รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม ได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตั้งแต่วัยศึกษาเล่าเรียนจนถึงปัจจุบัน ผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วไปและเป็นนักวิจัยผู้หนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่มีผลงานได้รับการอ้างถึง ในวารสารนานาชาติกว่า 3,500 ครั้ง จากผลงานที่พิมพ์เผยแพร่ระหว่าง คริสตศักราช 1969-1984 จำนวน 24 เรื่อง ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ทำในประเทศไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การต่าง ๆ เช่น องค์การอนามัยโลก ทุนวิจัยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ ทุนวิจัยจาก Board of Science and Technology for International Development (BOSTID) และทุนวิจัยจาก USAID เป็นต้น

                ผลงานวิจัยโดยสรุป ที่สำคัญของ รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม ได้แก่ การศึกษาอณูพันธุศาสตร์ หาเทคนิคที่ถูกต้องและรวดเร็ว ในการจำแนกชนิดของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะของเชื้อมาลาเรีย จนสามารถบอกชนิดของเชื้อมาลาเรียอันจะนำไปสู่ความเข้าใจและควบคุมการแพร่ของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ที่สำคัญยิ่งของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผลงานในด้านการค้นหาสาเหตุที่ระดับอณูของโรคครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการสูงในประเทศไทย

                รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นนักวิจัยที่มีความวิริยะอุตสาหะ ทุ่มเทสติปัญญาและเวลา ให้กับการบุกเบิกงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นสาขาแนวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน จนสามารถผลิตผลงานว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และสร้างกลุ่มนักวิจัยในสาขานี้ได้สำเร็จ แสดงถึงความเป็นผู้มีลักษณะเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีมนุษยสัมพันธ์ และการวางตนที่ดี จนสร้างศรัทธาให้เกิดกับผู้ร่วมงาน และศิษย์ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

                โดยเหตุที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พุทธศักราช 2528

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2527).
                        รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๘ : รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม.
                        กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องถามหาแรงกระตุ้น ต้องมี passion กับมัน อะไรที่เราอยากทำ อยากรู้ เมื่อมีแล้วมันจะดึงเราไปสู่สิ่งที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม passion หรือสิ่งที่เราชอบ จะดึงเรากระโจนผ่านปัญหาไปได้หมด

                การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมว่ามันทำให้ใจเรามีความสุข เพราะความสุขอยู่ที่ว่าเราได้ค้นพบอะไร รู้อะไร เข้าใจอะไรที่อยู่รอบตัวเราหมดไม่ใช่เข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เพราะว่าวิทยาศาสตร์นั้นเรียนใช้เหตุผลก็จริง แต่มันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่อยู่รอบตัวเราหมด เมื่อผมเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อตอบข้อสงสัยได้ผมก็มีความสุข ผมพอใจ

                วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สวยงามมาก ไม่ต้องคิดว่าเราต้องไปค้นพบอะไรสำคัญ แต่ให้ทำงานในสิ่งที่เราอยากรู้อยากเห็น ทำแล้วเรามีความสุข เป็นโอกาสของพวกนี้ถ้าเราอยากรู้อยากเห็น มันจะมาเอง โดยที่เราไม่ต้องคิดว่ามันจะต้องมา ตรงนั้นสำคัญ อยากฝากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ว่า ขอให้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ตามใจรัก ถ้าไม่รักอย่ามาทำเลย ขอให้ทำเรื่องที่เรามีใจรัก ผลสุดท้ายก็คือ เราจะได้เข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริงที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจเหมือนเราแล้วเราจะเข้าใจอะไรรอบตัวเราได้หมด สำหรับผม ผมคิดว่าผมเข้าใจ ผลสุดท้ายผมก็คิดว่ามีความสุขได้ และเป็นความสุขที่ใกล้เคียงกับกับความสุขแบบธรรมชาติมากที่สุด...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2527). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2528 : รองศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.