ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Yodhathai Thebtaranonth
B.Sc. (Medical Sciences), Ph.D. (Sheffield)
1986 Outstanding Scientist Award (Chemistry)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2486 ที่กรุงเทพมหานคร ประธานกรรมการบริหารบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2529 และรางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2538 ด้วยชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับยกย่องทั้งระดับชาติและนานาชาติ จนถึงขณะนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ยังผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณค่าอย่างไม่หยุดยั้ง ร่วมไปกับการทำหน้าที่อาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ อบรมสั่งสอนดูแลลูกศิษย์อย่างเอาใจใส่ เป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่อุทิศตนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างสรรค์ให้เด็กรักวิทยาศาสตร์อย่างเต็มกำลัง โดยได้มีบทบาทเป็นวิทยากรในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน และปวารณาตนเป็นวิทยากรใน Science Lecture สัญจรไปในต่างจังหวัด เพื่อให้ความรู้ ประกอบการสาธิตทางเคมีให้กับเยาวชนผู้สนใจวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นบุตรของ นายนคร และนางสอิ้ง เทพธรานนท์ มีน้องชายคือ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมรสกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ มีบุตรชาย 2 คน คือ นายศรวัส และนายอิทธิ เทพธรานนท์

การศึกษา

                ศึกษาในระดับประถมและมัธยม จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2508 และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี เมื่อปี พ.ศ. 2511 จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ด้วยทุนโคลัมโบ (Colombo Plan Scholarship) จากนั้นได้ฝึกอบรมการวิจัย ระดับ Post-doctoral Training ทางสาขาวิชาออร์แกโนเมทาลิค (Organo-metallic Chemistry) ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2519

ประวัติการทำงาน

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2511 จนถึงเกษียณอายุราชการ

พ.ศ. 2533 : ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาเคมี
พ.ศ. 2540 : ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 สาขาวิชาเคมี
พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน : เป็นผู้เชี่ยวชาญ หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
                                   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ได้รับทุนนักวิจัยอาวุโส จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources Research Unit; BRU) ขึ้น โดยการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช.

ตำแหน่งบริหาร
- ผู้อำนวยการ โครงการ Thailand - Tropical Diseases Research Programme (T-2) อันเป็นโครงการที่ร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก (TDR/WHO)
- ประธานกรรมการบริหาร บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
- กรรมการบริหาร สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- กรรมการบริหาร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
- ประธานกรรมการ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
- กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์
- กรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.)
- กรรมการ มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
- ประธานกรรมการ รางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
- อนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- อนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- อนุกรรมการเกี่ยวกับคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- อนุกรรมการพิจารณาคุณวุฒิผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- อนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2529 - นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2538 - รางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน (ASEAN Outstanding Scientist and technologist Award)
พ.ศ. 2538 - นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
พ.ศ. 2539 - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2541 - องค์ปาฐก Jeffery Lecturer, The University of New South Wales (UNSW) Chemical Society ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ. 2544 - รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. 2544 ผลงานได้รับการอ้างอิงโดยรวมสูงสุดระหว่างปี ค.ศ. 1990-2001 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.)
พ.ศ. 2546 - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2547 - ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2564 - รางวัลเกียรติยศนักเคมีอาวุโส สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2541 - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นนักเคมีอินทรีย์ที่ทำการวิจัยทางด้านการค้นหาสารเคมีจากธรรมชาติที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Natural Products) และทางด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ (Organic Synthesis) ของสารออกฤทธิ์ดังกล่าว ซึ่งได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจสูตรโครงสร้างต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงการเข้าใจกรรมวิธีที่สิ่งมีชีวิตผลิตสารเหล่านั้นขึ้นมา และการนำมาใช้ประโยชน์กับมนุษย์ เช่น การแยกและพิสูจน์สูตรโครงสร้างของสารในกลุ่ม Cyclohexene Epoxides ซึ่งสกัดได้จากต้นไม้ในสกุล Uvaria และการเข้าใจกลไกชีวสังเคราะห์ของสารกลุ่มดังกล่าว ในด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ ได้ค้นพบปฏิกิริยาใหม่ที่มีประโยชน์หลายปฏิกิริยา ซึ่งมีความสำคัญอันนำไปสู่กรรมวิธีใหม่ ในการสังเคราะห์สารเคมีที่มีโครงสร้างซับซ้อนหลายชนิด ในกลุ่ม Cyclopentenoid Antibiotics เช่น สังเคราะห์สารที่แยกได้จากเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ Sarkomycin ที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งยาปฏิชีวนะและมีผลในการทำลายเซลล์มะเร็ง ตลอดจนสังเคราะห์ Diospyros อันเป็นสารออกฤทธิ์ถ่ายพยาธิในลูกมะเกลือ

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้ร่วมงานกับนักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลิตผลงานวิจัยที่ดีเป็นจำนวนมาก ในเรื่องสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อโรคต่อแมลง (Insect Pathogenic Fungi) และยังได้ทำการศึกษาด้าน Physical Organic Chemistry ที่เป็นพื้นฐานในการนำไปเป็น "ต้นตอ" ของงานวิจัยทางด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ อันเป็นผลให้สามารถทำการสังเคราะห์สารที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อราอันมีโครงสร้างและ Stereochemistry ที่ซับซ้อนอีกด้วย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล จำนวนทั้งสิ้นกว่า 118 เรื่อง ได้รับการอ้างอิงจากฐานข้อมูลนานาชาติ (Science Citation Index) จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1,016 ครั้ง และจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้รับเชิญจากสำนักพิมพ์ John Wiley & Sons ให้เขียนบทที่ 7 เรื่อง "Synthesis of Enones" (82 หน้า) ในหนังสือ "The Chemistry of Enones" (S. Patai and Z. Rappoport, Eds) ในปี พ.ศ. 2532 และจากสำนักพิมพ์ CRC Press, USA ให้เขียนหนังสือทั้งเล่ม เรื่อง "Cyclization Reactions" (370 หน้า) ที่จำหน่ายไปทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2537 อีกด้วย

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

(ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัลเป็น รองศาสตราจารย์)

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2529 ได้พิจารณาเห็นว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาขาเคมี เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงานทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีคุณภาพดีเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการค้นพบวิธีสังเคราะห์สารประกอบใหม่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จนสามารถใช้ผลิตยาปฏิชีวนะได้ การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานสาขาเคมีอย่างลึกเช่นนี้ ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านการบำบัดรักษาโรค จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์ชัดโดยทั่วไปและเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นบุตรของ นายนคร และนางสอิ้ง เทพธรานนท์ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เมื่อ พ.ศ. 2509 และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ในสาขาวิชาอินทรียเคมี เมื่อ พ.ศ. 2511 จากมหาวิทยาลัยมหิดล และได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตรี ในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่าง พ.ศ. 2511-2515 ได้รับทุนโคลัมโบ ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา อินทรียเคมี จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ เมื่อ พ.ศ. 2515 และได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์โท ภายหลังการเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์เอก ก็ได้ไปทำงานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2518-2519

                รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้มุ่งมั่นศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดมา มีผลงานวิจัยดีเด่น ได้ตีพิมพ์ผลงานรวมทั้งสิ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบันรวม 42 เรื่อง ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันและองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งจากสภาวิจัยแห่งชาติจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการนานาชาติ ในสาขาวิชาอินทรียเคมี จึงได้รับเชิญไปเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สอน ณ มหาวิทยาลัยเกาหลี วิจัย ณ ห้องปฏิบัติการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และบรรยายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น

                ผลงานวิจัยโดยสรุปที่สำคัญของ รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้แก่ การค้นพบวิธีสังเคราะห์สารประกอบจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยใช้สารแอนทราซีนเป็นตัวชักนำให้เกิดปฏิกิริยา อันเป็นกระบวนการที่นำไปใช้ในการผลิตตัวยาปฏิชีวนะที่สำคัญ เช่น ซาร์โคมัยซิน ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเนื้องอกได้ วิธีสังเคราะห์สารดังกล่าวยังนำไปสู่การค้นพบกรรมวิธีอื่น ๆ เช่น ปฏิกิริยา ทรี-คาร์บอน แอนนิเลชั่น เป็นต้น

                รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นนักวิจัยที่มุมานะ อดทน ใช้สติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ ที่ทำการวิจัยอย่างลึกล้ำชั้นแนวหน้า ของวิชาการด้านอินทรีย์เคมี โดยใช้ความเฉลียวฉลาดที่สามารถใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ราคาไม่แพง เครื่องมือที่มีอายุการใช้งานนานปี สังเคราะห์และวิเคราะห์สารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลทัดเทียมกับเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยราคาแพง มีผลงานมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการทั่วไป มีผู้นำกรรมวิธีสังเคราะห์สารที่ค้นพบใหม่ไปใช้อย่างแพร่หลาย รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นนักวิจัย เป็นครู ที่มีศิษย์ทั้งระดับ ปริญญาตรี โท และเอก มากมาย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

                โดยเหตุที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2529

คัดจากหนังสือ : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2531).
                        รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๙ : รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์.
                        กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...คงไม่จำเป็นที่จะบอกให้คนรุ่นน้อง และเด็กรุ่นหลัง เห็นถึงความจำเป็นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย รวมไปถึงการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพราะคงได้ยินได้อ่านกันมามากแล้วทางหนังสือต่าง ๆ และจากผู้ที่รับผิดชอบทางด้านนี้ นอกจากอยากให้เด็กรุ่นหลังได้มาใช้ชีวิตในห้องวิจัยของผมจริง ๆ แล้วจะได้รู้ซึ้งว่าการวิจัยนั้นสนุกแค่ไหน ..

                ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการทำวิจัยนั้น อธิบายเป็นคำพูดยากเหลือเกิน แต่ถ้าแยกเป็นข้อ ๆ คงจะเป็นดังนี้
                - ความรู้สึกที่เป็น "นาย" ของตัวเองโดยสมบูรณ์ ไม่มีใครมาบอกหรือสั่งให้ทำอะไร เมื่อตัดสินใจทำวิจัยในโครงการใดก็ตามผู้วิจัยและคณะจะช่วยกันคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองตลอด ไม่มีงานชนิดไหนที่มีอิสระเช่นนี้หรอก
                - ความรู้สึกที่ได้พบสิ่งใหม่และได้ความรู้ใหม่ทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่าการทดลองจะได้ผลไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิด นั่นก็เป็นความรู้ใหม่ในระหว่างที่ทำการวิจัยจะไม่มีวันไหนเหมือนวันที่แล้วมาเป็นอันขาด จะไม่มีวันที่น่าเบื่อจำเจเพราะได้ทำของใหม่อยู่ทุก ๆ วัน
                - ความรู้สึกที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคม ความรู้ใหม่ที่ได้หลังการทำวิจัยประสบผลสำเร็จเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ทางตรงก็คือการนำเอาผลวิจัยไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีออกดอกผลให้สังคมได้รับผลเห็นทันตา แต่ประโยชน์ทางอ้อมซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็นหรือพยายามไม่มอง เพราะมันไม่ได้ "อะไร" ออกมาเป็นรูปธรรมในทันทีทันใด ก็คือคุณภาพของคนไทย คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถ รู้จักอ่าน คิด และขยันทำ คนไทยที่มีคุณภาพที่พร้อมจะถ่ายคุณภาพนั้นให้กับคนไทยรุ่นหลังต่อไป ...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2531). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2529 :
รองศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.