ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี

ประวัติ l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Yongwimon Lenbury
B.Sc. (A2 Hons., ANU, Australia), Ph.D. (Vanderbilt, USA)
2007 Outstanding Scientist Award (Mathematics)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ น.อ.วิมล และ ร.อ.หญิง ปยงค์ วิริยะวิทย์ สมรสกับ นายเวท เลณบุรี มีบุตร 3 คน ชื่อ นายวิภพ์ นายวิว และ นายวงค์ เลณบุรี

การศึกษา

พ.ศ. 2519 : B.Sc. with A2 Honours (Applied Mathematics), Australian National University, ออสเตรเลีย
พ.ศ. 2551 : M.Sc. (Applied Mathematics), Australian National University, ออสเตรเลีย
พ.ศ. 2528 : Ph.D. (Mathematics), Vanderbilt University, สหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2520-2530 : อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2530-2533 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533-2539 : รองศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2539-2548 : ศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน : ศาสตราจารย์ ระดับ 11 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2532-2538 : ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533-2537 : รองหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541-2549 : หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน : ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับประเทศ
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : สมาชิกมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน : กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ภายภาพและคณิตศาสตร์
พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน : กรรมการประเมินผลการดำเนินงาน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับนานาชาติ
พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน : Reviewer, Mathematical Reviews, American Mathematical Society
พ.ศ. 2545 : Chair of Local Organizing Committee, International Conference in Computational Mathematics and Modeling, 2002, Bangkok, Thailand
พ.ศ. 2546 : Chair of Organizing Committee, International Conference in Algebra and Geometry, 2003, Bangkok, Thailand
พ.ศ. 2548 : Scientific Committee, International Conference in Mathematics and Applicable 2005, Bangkok, Thailand
พ.ศ. 2549 : Scientific Committee, International Conference on Applicable Harmonic Analysis : Approximation and Computation, 2006, Beijing, PR China
พ.ศ. 2550 : Program Committee, International Conference on Simulation and Modeling, 2007, Chiang Mai, Thailand
พ.ศ. 2550 : Chair of Local Organizing Committee, International Conference in Mathematics and Applications 2007, Bangkok, Thailand
พ.ศ. 2551 : Program Committee, the 10th International Conference on Molecular Systems Biology Quezon City, Philippines

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2536 : รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2538-2543 : ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2541 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2542-2548 : ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน : ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2526 : จัตุถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2530 : ตริตาภรณ์มงกุฏไทย
พ.ศ. 2534 : ทวีติยาภรณ์มงกุฏไทย
พ.ศ. 2538 : ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2541 : ประถมมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2544 : ประถมากรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2545 : เหรียญจักรพรรดิมาลา
พ.ศ. 2547 : มหาวชิรมงกุฏ

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

                ด้วยคณะกรรมการวางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ โดยเป็นผู้หนึ่งซึ่งบุกเบิกในการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ศึกษาระบบต่าง ๆ ทางชีววิทยาการแพทย์และนิเวศวิทยา โดยมีความเชี่ยวชาญทางการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาระบบไม่เชิงเส้นการวิคราะห์และแปลผล ให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบที่ศึกษา ตอบปัญหาอันเป็นที่กังขาของผู้ดำเนินการในการควบคุม ดูแล หรือรักษาโรค โดยที่งานวิจัยในด้านนี้ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ เข้าไปประยุกต์ใช้ในทางชีวการแพทย์ เพิ่งมีผู้สนใจเข้ามาดำเนินการในระยะไม่นานมานี้ จนเกิดเป็นกาวิจัยทางด้าน Biomathematics และ System Biology ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล จึงถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยในหัวข้อที่บุกเบิกล้ำหน้ามาโดยตลอด

                ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ได้นำทฤษฏีเกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นเข้าไปใช้ในการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การหลั่งฮอร์โมนหลากหลายชนิดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้เกี่ยวโยงกับอาการป่วยเป็นโรคสำคัญต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคทางการผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย โรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน มะเร็ง โรคเส้นเลือดสู่หัวใจอุดตัน เป็นต้น ซึ่งผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองสามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

                การที่ต้องนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในด้านชีวการแพทย์จำเป็นต้องใช้เวลามาก เพื่อศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจเป็นอย่างดีเสียก่อนเกี่ยวกับระบบที่จะนำคณิตศาสตร์เข้าไปวิเคราะห์ ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในงานวิจัยมาก ซึ่งในระยะแรก (จนกระทั่งในปัจจุบัน) ยังมีผู้ไม่เชื่อถืออีกมากว่า คณิตศาสตร์จะสามารถช่วยทางด้านชีววิทยาได้อย่างไร ทำให้เป็นการยากที่งานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ เพราะมักจะต้องการเห็นหลักฐานทางคลินิก และคำอธิบายโต้เถียงอย่างเข้มข้น น่าเชื่อถือ กว่าจะเป็นที่ยอมรับ

                เนื่องจากระบบที่สำคัญในการดำรงชีวิตหลาย ๆ ระบบที่ต้องการศึกษา อาจมีความซับซ้อนมาก หรือมีขนาดเล็กมาก ๆ (ระดับนาโน) ไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตา จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์ เพื่อจำลองระบบนั้น ๆ ให้เกิดความเข้าใจการทำงานของระบบนั้น ๆ ได้ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการควบคุมและพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ล่วงหน้า เช่น การควบคุมระดับกลูโคสในกระแสเลือดโดยอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถช่วยให้แพทย์คาดการณ์ได้ว่า การให้อาหารป่วยร่วมกับการฉีดอินซูลิน จะมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างสับสน หรือสามารถควบคุมได้โดยวิธีใด นอกจากนั้นการที่มีความหน่วงเวลาในปฏิกิริยาของอินซูลินต่อระดับน้ำตาล จะเป็นผลอย่างไรต่อความพยายามของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

                งานวิจัยเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนช่วยให้คาดการณ์ได้ว่า การใช้เอสโตรเจนในลักษณะต่าง ๆ แก่ผู้สูงวัยชะลออาการของโรคกระดูกพรุน จะมีประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด ระหว่างการหยุดให้ฮอร์โมนเป็นช่วง กับการให้ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งได้ ซึ่งในส่วนของการเกิดมะเร็งอันเกี่ยวกับการผิดปกติบางประการในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์มีชีวิตที่ตอบสนองต่อการหลั่งฮอร์โมนซึ่งเป็นต้วส่งสัญญาณนั้น ทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ก็ยังได้ศึกษาวิจัยโดยการสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองของการส่งสัญญาณของเซลล์ จนมีผลงานวิจันที่ได้รับการยอมรับตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ

                ทั้งนี้ในระดับนานาชาติ งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ได้รับการอ้างอิงมากจนมีนำงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ไปใช้เป็นบทเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และอ้างอิงในหนังสือเรียน ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมนานาชาติหลายครั้ง ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีนและยุโรป เป็นต้น เป็นกรรมการวิชาการของการประชุมนานาชาติ เช่น การประชุมด้าน Applicable Harmonic Analysis ณ เมื่อง Beijing ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี ค.ศ. 2006 และด้าน Molecular Systems Biology ณ เมื่อง Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ ปี ค.ศ. 2008 และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้อยู่ได้ Top 25 hottest articles (ในวารสาร) ที่ได้รับการ download ไปอ่านทาง internet เป็นจำนวนมากที่สุด

                ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ยังเป็นผู้ที่มีลักษณะสมานฉันท์ ให้ความช่วยเหลือผลักดันนักวิจัยรุ่นหลัง โดยไม่กีดกั้นแต่เฉพาะในสถาบันที่งานสังกัด โดยศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เป็นผู้สร้างทีมและหัวข้อวิจัยใหม่ ๆ ได้หลายโครงการที่ลักษณะสหวิทยาการ ใช้ความเชียวชาญของบุคคลจากหลายสาขาและหลายสถาบันมาร่วมมือกันทำงานวิจัย จนกระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงติดต่อมาขอร่วมงานวิจัยด้วย จึงถือว่า ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกให้การใช้เทคนิคทาง dynamical modelling จนเป็นที่ยอมรับว่าสามารถมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในทางชีวการแพทย์

                ด้วยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ ประจำปีพุทธศักราช 2550

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2550). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2550.
                         กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...เหตุที่เราต้องเรียนคณิตศาสตร์ เพราะว่าคณิตศาสตร์นั้นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การหาสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร หรือการสร้างที่อยู่อาศัย การจัดการโซ่อุปสงค์อุปทานและอื่น ๆ ถ้าเราไม่พัฒนาให้มีนักคณิตศาสตร์มากกว่านี้ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ก็จะทำไม่ได้ สิ่งที่เรียนมาเราก็ได้นำมาใช้ในการทำวิจัย อย่างการสร้างสมระบบการหลั่งฮอร์โมนเชื้อโรค การเพิ่มจำนวนของมันเป็นอย่างไร ระบบต้านทานเป็นอย่างไร โดยเราไม่ต้องทดลองกับคน แต่เราใช้กับโมเดลเปรียบเทียบกันว่าทางใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เราอยากรู้เรื่องไหนก็ทำวิจัยเรื่องนั้น ไม่มีการบังคับ และยังมีทุนสนับสนุนให้กับการทำวิจัยอีกด้วย...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2550). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2550. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.