ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

            มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ได้เริ่มจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2500 โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นได้มอบหมายให้ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำนินการจัดตั้งตามความมุ่งหมายเพื่อจัดตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทางราชการกองทัพบกได้กรุณาโอนที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถนนศรีอยุธยามาให้ เป็นเนี้อที่ประมาณ 7 ไร่ ครึ่ง และรัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับนโยบายสร้างคณะแพทยศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย

            ในปีแรกสถาบันการศึกษานี้มีชี่อเรียกว่า โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการรับนักศึกษาเตรียมแพทย์รุ่นแรกเป็นจำนวน 65 คน ให้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

            ในปีต่อมา ทางสถาบันได้ขยายาการรับนักศึกษาของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่จำเป็นต้องศึกษาวิชาด้าน Basic Sciences เป็นเวลาสองปีทั้งหมด เช่นนักศึกษาเตรียมแพทย์สำหรับโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ นักศึกษาเตรียมเภสัชศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ เตรียมเทคนิคการแพย์ เตรียมวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และเตรียมแพทย์ปริญญาและได้ขยายหลักสูตรขั้นปริญญาตรี–โท ในสาขาวิชา Basic Sciences คือวิชาเคมีกายวิภาคศาสตร์ตามลำดับ

            ในปี พ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงขั้นระดับปริญญาตรี-โท จำนวนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2501 มีนักศึกษา 65 คน
พ.ศ. 2502 มีนักศึกษา 396 คน
พ.ศ. 2503 มีนักศึกษา 501 คน
พ.ศ. 2504 มีนักศึกษา 574 คน
พ.ศ. 2505 มีนักศึกษา 654 คน
พ.ศ. 2506 มีนักศึกษา 670 คน
พ.ศ. 2507 มีนักศึกษา 644 คน
พ.ศ. 2508 มีนักศึกษา 839 คน
พ.ศ. 2509 มีนักศึกษา 1,065 คน
พ.ศ. 2510 มีนักศึกษา 1,223 คน

จำนวนอาจารย์

            เนื่องจากเป็นสถานบันศึกษาใหม่และอาจารย์ทางด้านวิชา Basic Sciences ก็หาได้ยากมาก ฉะนั้นทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจำเป็นต้องวางโครงการระยะยาวสร้างอาจารย์ของตนเองขึ้นมาตั้งแต่ปีแรกที่ได้ลงมือดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ทางคณะฯ ได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาที่เรียนดีมาในปีที่ 1-2 ของคณะฯ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่สอบได้มัธยมปีที่ 8 (ม.ศ. 5) ได้ในพวก 50 คนแรกส่งไปศึกษาวิชาด้านสาขาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนจบปริญญาตรี-โท-เอก ในประเทศออสเตรเลีย นิวซิแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

            จำนวนนักศึกษาที่ได้ส่งออกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ในขณะนี่มีทั้งหมดประมาณ 40 คน และบางคนเมื่อได้รับปริญญาเอกได้เริ่มทะยอยกลับมาประจำที่คณะฯ แล้ว คาดว่าภายในเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทางคณะฯ จะมีอาจารย์ที่มีมาตราฐานสูงเป็นจำนวนมากพอดู สำหรับที่จะเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของคณะฯ ต่อไปในภายภาคหน้า

           การสร้างอาจารย์ตั้งแต่ขั้น Undergraduate ของคณะฯ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จากแผนการโคลัมโบของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศอังกฤษ และทุนของรัฐบาลไทย นักศึกษาเหล่านี้ส่วนมากกำลังศึกษาทำปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยทุนการศึกษาของมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ หรือทุนของรัฐบาลไทยและที่อังกฤษ โดยทุนของรัฐบาลไทยหรือทุนของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งการช่วยเหลือเกี่ยวกับการสร้างอาจารย์นี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์รู้สึกขอบคุณอย่างสูงแก่บรรดาประเทศและมูลนิธิฯ ที่กล่าวนามมาแล้ว และที่จะเว้นการขอบคุณเสียมิได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ของกรมวิเทศสหการ สำนักงบประมาณและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ความร่วมมืออย่างดีที่ยิ่งเกี่ยวกับการสร้างอาจารย์ของคณะฯ ตลอดมา

           ในปี พ.ศ.2505 ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทาบทามขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ โดย Dr.Richmod K. Anderson, Associate Director ทาง Natural and Medical Sciences ของมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ได้พิจารณาโครงการวิจัยของคณะฯ ทางมูลนิธิฯ ได้อนุมัติเงินช่วยในการวิจัยครั้งแรก 15,000 เหรียญ และได้ส่งศาสตราจารย์ Dr. James S. Dinning มาช่วยการสอน การวิจัยในสาขาวิชาชีวะเคมี และต่อมาทางมูลนิธิฯ ประจำประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย

            เพื่อจะขอขยายงานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ก้าวหน้าต่อไปในด้านวิจัยและช่วยขจัดปัญญาหาการขาดแคลนอาจารย์ทางด้านวิชา Basic Sciences ทางคณะฯ ได้ทาบทามขอความช่วยเหลือเป็นโครงการใหญ่ระยาวจากมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ ทางมูลนิธิฯ ได้ให้ความสนใจและช่วยเหลือด้วยดีตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. 2508 ทางรัฐบาลไทยได้อนุมัติเงิน งบประมาณและที่ดินหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับสร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสร้างโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีขึ้น

            ในด้านการช่วยเหลือตามโครงการร่วมกับมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์นี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลืออย่างมากมายในด้านเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ อาจารย์เชี่ยวชาญในสาขาวิชาทาง Basic Sciences ทุนการศึกษาไปศึกษาปริญญาโท-เอก สหรัฐอเมริกาทุน อุดหนุนการวิจัยและห้องสมุดร่วมกับ China Medical Board นอกจากนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ร่วมมือทางการวิจัยร่วมกับ Department of Nutrition and Food Science มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology จึงได้ให้การช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ อาจารย์ และทุนการวิจัยอีกด้วยเช่นเดียวกัน

            ในระยะเวลา 10 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานมาทางคณะฯ ได้รับการช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอจากรัฐบาลอังกฤษในด้านผู้เชี่ยวชาญทางวิชาเคมี ทุนการศึกษาและเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์และองค์การสนธิสัญญา SEATO ก็ได้จัดส่งศาสตราจารย์ทางวิชาอินทรีย์เคมีมาช่วยทำการสอนและการวิจัยติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว รัฐบาลประเทศเยอรมันตะวันตกก็กำลังเตรียมการหาอาจารย์มาช่วย พร้อมกับให้เครืองมือทดลองวิทยาศาสตร์บางส่วน รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ด้วยเป็นบางส่วนซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอแสดงความขอบคุณในไมตรีจิตอันดียิ่งของบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้ให้การช่วยเหลือแก่คณะมาแล้วด้วย

แนวการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

            หลังจากที่นักศึกษาได้ผ่านการเรียน Basis Sciences ในคณะฯ มาสองปีแล้ว นักศึกษาจะแยกไปศึกษาในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือบางส่วนจะไปศึกษาในขั้นปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น เคมี ชีววิทยา ชีวะเคมี จุลชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ ณ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อจบการศึกษาครบหลักสูตร 4 ปี แล้วจะได้รับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต

            หลังจากได้ปริญญาตรีแล้ว นักศึกษาบางพยกอาจจะทำการวิจัยทางด้านวิชา Life Sciences ต่อไปถึงขั้นปริญญาโทและเอก ภายใต้การควบคุมการดูแลการดูแลการวิจัยของศาสตราจารย์ ซึ่งทางมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ได้จัดมาช่วยตามโครงการดังกล่าว ส่วนนักศึกษาอีกบางส่วนที่ประสงค์จะศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ก็จะได้ไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีอีก 2 ปีทางด้าน Clinical Sciences เพื่อทำปริญญาต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นแนวการศึกษาแผนใหม่ในอันที่จะได้ให้โอกาสแก่นักศึกษาเลือกเรียนในวิชาที่แต่ละคนมีความจัดเจน โดยเฉพาะ เพื่อนำไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

หมายเหตุ : การสะกดคำในบทความนี้ คัดลอกจากต้นฉบับทุกประการ

คัดลอกจาก : ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์. ใน หนังสือที่ระลึกในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบ พิธีเปิด ตึกทดลองวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 26 กุมภาพันธ์ 2511. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2511.