ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข พ.ศ. 2536-2542

ระบบสารสนเทศ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการนำเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนา และปรับปรุงการให้บริการ ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการ ของห้องสมุด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สนับสนุนนโยบาย พัฒนาระบบการเรียน การสอน การวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ และนโยบายการเชื่อมโยง ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระหว่างภาควิชาต่างๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ ให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการ อย่างสูงสุด

การดำเนินงานดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจาก คณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้การบริหารของ ศาสตราจารย์ ดร. พรชัย มาตังคสมบัติ คณบดี และ ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ในสมัยนั้น โดยใช้เงินในโครงการต่างๆ ซึ่งสนับสนุน การเรียน การสอน การวิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โครงการผลิตแพทย์ กทม. และโครงการ เสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบันฯ (Institutional Strengthening Program) ของ สวทช. หรือ NSTDA ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Local Area Network) ที่ใช้ Novell Netware เป็นโปรแกรมควบคุมระบบ และ SCSI Express เป็นโปรแกรมควบคุมการทำงานของ เครือข่าย CD-ROM เพื่อบริการ ข้อมูลทางวิชาการ สาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ ให้บริการสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง โดยใช้คอมพิวเตอร์ภายในห้องสมุด บริการสืบค้นข้อมูลโดยบรรณารักษ์ บริการติดต่อออนไลน์ผ่านสายโทรศัพท์ และติดต่อจากภาควิชาต่างๆ โดยผ่านระบบเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์

ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้เปิดให้บริการ แก่บุคลากร ของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2536

กิจกรรมและความก้าวหน้าของห้องสมุด ในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2532-2541) อ่านด้วยโปรแกรม Acrobat Reader (PDF File ~261 KB)

ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ในปี พ.ศ. 2542

ได้ทำการปรับปรุงและขยายบริการ ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และอินทราเน็ต มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ชื่อ HomePage ของห้องสมุดว่า http://stang.li.mahidol.ac.th มีเครื่องแม่ข่าย เพื่อจัดเก็บและให้บริการข้อมูลต่างๆ รวมทั้งการสืบค้นฐานข้อมูล CD-ROM ผ่านระบบเครือข่ายทั้งแบบ Local Network (LAN), Intranet และ Internet จำนวนรวมทั้งสิ้น 4 เครื่อง และได้เพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ บริการสืบค้นด้วยตนเอง ภายในห้องสมุด จาก 13 เครื่อง เป็น 26 เครื่อง เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป