ประวัติ "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" พ.ศ. 2547-2553

งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ มีฐานะเป็นงานหนึ่ง ในสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ โดยผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาระบบพัฒนาบริหารงานบุคคล ครั้งที่ 7/2546 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ผ่านที่ประชุม อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2547 และผ่านที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 361 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ 1) ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข 2) หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 3) หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา และในปัจจุบัน ได้มีการจัดทำโครงการพิเศษเพิ่มขึ้น อีก 1 โครงการ คือ โครงการพิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข และหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (Hall of Fame)

ประวัติ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มก่อตั้งห้องสมุดของคณะฯเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยขณะนั้นเป็น "ห้องสมุดโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เมื่อโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ห้องสมุดจึงเปลี่ยนฐานะจากห้องสมุดของโรงเรียนฯ เป็น "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" สถานที่ตั้งของห้องสมุด เดิมอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ในปัจจุบัน เมื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ายจากที่ตั้งเดิม มายังถนนพระรามที่ 6 ห้องสมุดได้ย้ายมายังสถานที่ใหม่ โดยอยู่ที่ชั้น 2 และ 3 ของตึกฟิสิกส์ และได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึกใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อมามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 ห้องสมุดจึงใช้ชื่อว่า "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล" และเปลี่ยนชื่อเป็น "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์" พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อของคณะ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2512 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่ประชุมกรรมการประจำคณะฯ ได้มีมติให้ใช้ชื่อห้องสมุดว่า "ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ยกฐานะ กองห้องสมุด สังกัดสำนักงานอธิการบดี ขึ้นเป็นสำนักหอสมุด และมีคำสั่งให้โอนย้ายห้องสมุดคณะ/สถาบันต่างๆ มาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักหอสมุดด้วย ดังนั้น สำนักหอสมุดจึงได้ทำการโอนย้ายข้าราชการทั้งหมดของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ไปขึ้นกับสำนักหอสมุด รวมทั้งย้ายบุคลากรจำนวนหนึ่งไปปฏิบัติงาน ณ สำนักหอสมุด ศาลายา ตั้งแต่นั้นมา ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงมีฐานะเป็นห้องสมุดสาขาของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังคงได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านงบประมาณจากคณะวิทยาศาสตร์ ในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งวัสดุสิ่งพิมพ์ หนังสือ วารสาร ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบคอมพิวเตอร์ สวัสดิการและเงินช่วยเหลือบุคลากร อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 17 ปี

และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร. พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และ ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสำนักหอสมุด ได้มีมติให้คณะสามารถดำเนินการบริหารงานห้องสมุดได้เอง ด้วยมติดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความพร้อม จึงขออนุมัติเข้าบริหารงานห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข และขอรับบุคลากรห้องสมุดบางส่วน ที่มีความประสงค์จะปฏิบัติงานต่อ ณ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โอนย้ายมาสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป

ประวัติ หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดตั้งหน่วยสารสนเทศวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Center of Scientific Information Resources - CSIR) ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 โดยเสนอเป็นโครงการใหม่ประจำปีงบประมาณ 2545 บรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนระบบจัดการสารสนเทศงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายด้านการบริหารงานวิจัยของคณะฯ ทำหน้าที่พัฒนาสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ บริการสารสนเทศเพื่อการวิจัยให้แก่กลุ่มผู้ทำวิจัย วิเคราะห์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจให้แก่คณะผู้บริหาร รวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่สารสนเทศผลงานวิจัยของคณะฯ ออกสู่สาธารณะ และต่อมาเมื่อสภามหาวิทยาลัย ได้อนุมัติให้คณะวิทยาศาสตร์จัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" อย่างเป็นทางการ ภายใต้สังกัดสำนักงานคณบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภาระกิจเกี่ยวข้องกับบริการสารสนเทศ จึงได้ย้ายสังกัดจากงานบริการวิชาการและวิจัย มาขึ้นกับงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ทั้งนี้ พื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของงาน และใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประวัติ หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center)

ปี พ.ศ.2536 : ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ (ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข) ซึ่งในขณะนั้น เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักหอสมุดได้รับงบประมาณ เพื่อการพัฒนาให้เป็นแหล่งรวมสื่อโสตทัศนศึกษาประเภทต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้บริการแก่อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างสำนักหอสมุด และคณะวิทยาศาสตร์ ในการจัดทำ "โครงการพัฒนาห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินเพื่อการปรับปรุง จำนวน 5 ล้านบาท ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ โดย ผศ.ดร. ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ (คณบดีในสมัยนั้น) ได้อนุมัติพื้นที่ใต้ตึกฟิสิกส์ ประมาณ 672 ตารางเมตร เพื่อการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าว โครงการนี้ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2533 แล้วเสร็จเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2536 เป็นต้นมา

ปี พ.ศ.2536 : ในสมัยที่ ศ.นพ. พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท ในการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อจัดทำห้องบริการผลิตสื่อการเรียนการสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสำหรับอาจารย์และข้าราชการ ที่ได้รับทุนอุดหนุนการพัฒนาและผลิตสื่อการเรียนการสอน ของคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งให้บริการแก่นักศึกษา และใช้ในกิจกรรมพิเศษต่างๆของคณะฯ

ปี พ.ศ.2546 : ภายหลังจากที่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้โอนย้ายสังกัดจากสำนักหอสมุด มาขึ้นกับสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ทางคณะฯ ได้มีนโยบายที่จะจัดตั้งหน่วย Multimedia Center ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางสำหรับให้บริการผลิตสื่อแบบดิจิตอล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ระยะที่ 1 (มีนาคม 2546-สิงหาคม 2547) ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ โดย ศ.ดร. อมเรศ ภูมิรัตน (คณบดี) ได้อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนแบบมัลติมีเดีย และระบบครุภัณฑ์วีดิโอดิจิตอล จำนวน 2.4 ล้านบาท ในการจัดทำ Multimedia Center พร้อมกับการขออนุมัติแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณบดี โดยจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" ให้มีฐานะเป็นงานหนึ่ง ภายใต้สังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์

ปี พ.ศ.2547 : เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 สภามหาวิทยาลัย ได้อนุมัติให้จัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย 3 หน่วยงานย่อย คือ 1) ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข 2) หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 3) หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center) และในช่วงเวลาดังกล่าว การเตรียมความพร้อมของครุภัณฑ์และบุคลากรของหน่วย Multimedia Center ได้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดบริการอย่างเป็นทางการ ในสมัยที่ ศ.ดร. ประเสริฐ โศภน ดำรงตำแหน่งคณบดี

และเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในสมัยที่ ศ.ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งคณบดี ได้ดำเนินการจัดสร้างห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (Stang Mongkolsuk Learning Center) และห้องอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมของชมรมผู้ใช้ไอทีมหิดล-พญาไทขึ้น ในวงเงิน 2.3 ล้านบาท เพื่อเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของหน่วย Multimedia Center และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในงานพิธีทำบุญครบรอบ 88 ปี ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550

ปี พ.ศ. 2553 : ได้มีการปรับภาระกิจของหน่วยงาน ใหม่ และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center) ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางวิชาการ (Academic Information Technology)

[ ข้อมูลการเสนอขอเปลี่ยนชื่อหน่วย ]

ประวัติ โครงการพิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข และหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการจัดสร้าง "พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข" ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเกียรติคุณของ ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรก และผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ โดยจัดแสดงนิทรรศการถาวร จัดเก็บเอกสาร จดหมายเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่านอาจารย์สตางค์ รวมทั้งประวัติผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ หอเกียรติยศ (Hall of Fame) แสดงประวัติและผลงานนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 10 ท่านของคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งบุคคลสำคัญและผู้นำชื่อเสียงมาสู่คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีกทั้งเพื่อให้คุณงามความดีและประวัติศาสตร์เหล่านั้น เป็นเยี่ยงอย่างให้ชนรุ่นหลังประพฤติปฏิบัติตาม

โครงการดังกล่าว ได้เริ่มต้นดำเนินการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นวันทำบุญครบรอบวันคล้ายวันเกิด ปีที่ 85 ของ ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข และเป็นวันทำบุญห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ภายหลังการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่และครั้งแรกในรอบ 36 ปี ต่อมาได้มีการจัดเตรียมสถานที่ขนาด 31 ตารางเมตร บนพื้นที่บริเวณ ชั้น 3 ของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ โดยดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 และจัดทำหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ณ บริเวณเชิงบันไดชั้น 2 ของห้องสมุด ดำเนินการแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันทำบุญครบรอบ 86 ปี ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548