อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ

หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านแรก

อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2470 เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด เข้าศึกษาที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2487 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงทำให้ต้องใช้เวลาศึกษามากกว่าปกติคือ 5 ปี (พ.ศ. 2487-2491) เมื่อขึ้นชั้นปีที่สอง ท่านมีความตั้งใจจะเรียนสาขาฟิสิกส์ แต่ในขณะนั้นไม่เปิดสอน จึงหันมาเรียนสาขาเคมีแทน ทำให้ได้เป็นลูกศิษย์ของ “อาจารย์สตางค์” ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข และ ศ. ดร.ทองศุข พงศทัต สองปูชนียบุคคลแห่งวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ ท่านเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มอีกหนึ่งปี โดยขอรับทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อจบหลักสูตรจึงเข้าเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

พ.ศ. 2494 ท่านสอบชิงทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Organic Chemistry ณ University of Liverpool จากนั้นเข้าเรียนหลักสูตร Diploma in Education (Dip. In Ed.) ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศอังกฤษ ที่ผู้มีความประสงค์จะประกอบอาชีพครู ต้องมีวุฒิ Dip. In Ed. จนถึง พ.ศ. 2498 จึงเดินทางกลับประเทศไทย รับราชการที่โรงเรียนช่างกลปทุมวันตามเดิม จน พ.ศ. 2501 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ ก่อนจะย้ายมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ หัวหน้าสายวิทยาศาสตร์ กรมอาชีวศึกษา

เมื่อทำงานที่หน่วยศึกษานิเทศก์ได้สามปี ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ทาบทามให้มาช่วยบุกเบิกและทำงานที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยต้องเดินทางไปฝึกอบรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในคราวเดียวกันนั้นเอง ท่านอาจารย์สตางค์ได้จัดการเดินเรื่องเพื่อให้ท่านเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านบรรณารักษศาสตร์ที่ University of Pittsburgh ควบคู่ไปด้วย

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ให้ความช่วยเหลือคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในโครงการวิจัยและโครงการผลิตบัณฑิตประดับปริญญาโท-เอก ทางวิทยาศาสตร์ 6 สาขา เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อที่นักศึกษาจะได้ไม่ต้องเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ ในการนี้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำเป็นต้องมีห้องสมุดที่ได้มาตรฐานสากลและมีผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินงานห้องสมุด ท่านอาจารย์สตางค์จึงขอโอนตัวจากกระทรวงศึกษาธิการให้มาทำหน้าที่ที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

ในระยะเริ่มต้นนั้น มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ส่ง Visiting Librarian มาช่วยวางระบบห้องสมุดตามมาตรฐานห้องสมุดมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ คือ Dr. Carroll F. Reynolds และ Mr. James W. Barry ห้องสมุดต้องเร่งพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ หนังสือ วารสาร จัดระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาอย่างเร่งรีบ

ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับทุนช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และจากงบประมาณแผ่นดิน จัดซื้อหนังสือ วารสาร เอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะดัชนีวารสารและวารสารสาระสังเขปซึ่งมีราคาสูง เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดให้การเลื่อนระดับของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต้องมีผลงานวิจัย ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคลากรจากสถาบันอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

พ.ศ. 2512 เมื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ห้องสมุดจึงเปลื่อนชื่อเป็น ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม้จะเปลี่ยนชื่อแต่ยังคงทำหน้าที่สนับสนุนการเรียน การสอน และการวิจัย และยังดำเนินการร่วมกับห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในลักษณะห้องสมุดร่วม (Joint Library) จนถึงปี พ.ศ. 2523 ความร่วมมือดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง

ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2514 เมื่อ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกระทันหัน สร้างความเสียใจแก่บุคลากรคณะวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง จนเมื่อ พ.ศ. 2519 ที่ประชุมคณบดีได้ให้การอนุมัติจากการเสนอของห้องสมุด ให้ใช้ชื่อห้องสมุดว่า "ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรก ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

บรรยายการใช้ห้องสมุด ถวายสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาระดับปริญญาเอก ณ คณะวิทยาศาสตร์

บุคลากรของห้องสมุดเมื่อแรกเริ่มมีบรรณารักษ์ 2 คน เจ้าหน้าที่ห้องสมุด 3 คน และนักการภารโรง 3 คน คณะวิทยาศาสตร์ให้การสนับสนุนในการเพิ่มบุคลากรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของคณะด้านการเรียนการสอน ในปี พ.ศ. 2530 ห้องสมุดจึงมีบุคลากร 30 คน เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาทุกระดับชั้นของคณะวิทยาศาสตร์ นอกจากการเพิ่มจำนวนบุคลากรแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังสนับสนุนในการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรอย่างเต็มที่อีกด้วย

ท่านปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จนถึงปี พ.ศ. 2530 ภายหลังเกษียณอายุราชการ ท่านยังคงช่วยงานด้านการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่องค์กรต่าง ๆ อาทิ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2531-2536) ช่วยงานพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุด ข้อสนเทศ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2531-2536) ที่ปรึกษาศูนย์สารสนเทศ วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2536) เป็นผู้จัดการระบบห้องสมุดและดำรงตำแหน่งหัวหน้าห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2539-2560)

วุฒิการศึกษา :
- วท.บ. เคมี (เกียรตินิยม), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อนุปริญญาครุศาสตร์ (การสอนวิทยาศาสตร์), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- M.Sc. (Chemistry), Univ. of Liverpool, UK
- Diploma in Education, Univ. of Liverpool, UK
- M.Ls. (Library Science), Univ. of Pittsburgh, USA

ตำแหน่ง :
- บรรณารักษ์เชี่ยวชาญระดับ 9
- อนุปริญญาครุศาสตร์ (การสอนวิทยาศาสตร์), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2511 - 2530)
- ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์สนเทศวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (พ.ศ. 2528 - 2530)
- ที่ปรึกษาศูนย์สารสนเทศ วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2539)
- หัวหน้าห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2539-2560)

เกียรติคุณ :
- รางวัล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่น สาขาการบริการ ประจำปี 2530
- โล่เกียรติคุณ จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะเป็นบุคคลดีเด่น ด้านบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2538

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ :
พ.ศ. 2522 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
พ.ศ. 2527 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2530 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

ที่มา :

  1. กองบรรณาธิการ. "อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ บรรณารักษ์ ผู้มีผลงานดีเด่น สาขาบริการ." วารสารห้องสมุด. 41 (กรกฎาคม-กันยายน 2540) : 1-7.
  2. บรรณารักษ์ชวนคุย: รำลึก 45 ปี ห้องสมุดสตางค์ กับ อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ. (10 มิถุนายน 2564)
  3. "รอบรั้ว ม.มหิดล." ใน จุลสารมหาวิทยาลัยมหิดล. 30 เมษายน 2531. 9-10.
  4. "วันละคน". มติชน. 1 กรกฎาคม 2531. 10.
  5. ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2542). 72 ปี วิภาวรรณ มนุญปิจุ อายุวัฒนา 25 สิงหาคม 2542. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ตรีรณสาร.

>>> บทสัมภาษณ์ อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ <<<