http://stang.sc.mahidol.ac.th
 
"ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้" *
โดย นพพร ประชากุล
 

เป็นเวลาร่วมสองทศวรรษมาแล้วที่กลุ่มคนซึ่งเรียกว่า "ชนชั้นกลาง" (อันประกอบด้วยนักธุรกิจ พ่อค้า แพทย์
วิศวกร นักสื่อสารมวลชน นักวิชากร ฯลฯ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในสังคมไทย ด้วยอาศัยผลพวงจากการ
ต่อสู้่ของขบวนการนักศึกษาในครึ่งหลังของทศวรรษ 2510

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง วรรณกรรมแนวสัจนิยมหรือเหมือนจริงก็กลายมาเป็นที่ยอมรับอย่างสง่าผ่าเผย
โดยสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย ดังเห็นได้จากรายชื่อนวนิยายและเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลระดับชาติและที่
ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านในโรงเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ทศวรรษ 2520
เป็นต้นมา จนอาจกล่าวได้ว่าบัดนี้วรรณกรรมในแนวดังกล่าวได้ก้าวขึ้นมาเป็นกระแสหลัก หลังจากที่ยืนหยัด
ต่อสู้กับอำนาจกดขี่อยู่บนเวทีประวัติศาสตร์มาช้านาน

แนวสัจนิยม (realism) เสนอให้วรรณกรรมทำหน้าที่เป็นกระจกส่องสะท้อนภาพความเป็นไปของมนุษย์และ
สังคมอย่างเที่ยงตรงตวามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งสีสันให้สวยงามเพื่อกระตุ้นอารมณ์เพ้อฝัน ยิ่งในกรณีวรรณกรรมสัจนิยมในสายที่จำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่าเป็น "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" แล้ว เราก็ยิ่งตระหนักชัดในกุศลเจตนาว่าต้องการตีแผ่ให้เห็นความเลวร้ายในสังคมเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้อ่าน โดยหวังว่าวรรณกรรมจะสามารถเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม หรืออย่างน้อยก็ช่วยแก้ไขปัญหาสารพันที่รุมเร้ายุคสมัยของเรานี้ได้บ้าง

ความบันเทิงแบบ "มีเนื้อหาสาระ" ที่ต้องอิงพื้นฐานอยู่กับการ "สะท้อนความเป็นจริง" และให้ผลพลอยได้ในรูป "จิตสำนึกทางสังคม" นับว่าสอดรับกับค่านิยมในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง ซึ่งชอบอวดอ้างคติในเรื่องหลักการ เหตุผล อรรถประโยชน์ และความก้าวหน้า จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดที่ชนชั้นนำใหม่ของไทย โดยเฉพาะในซีกที่เรียกกันว่าปัญญาชน จะอ้าแขนต้อนรับวรรณกรรมสะท้อนสังคมอย่างเต็มอกเต็มใจ ยกย่องให้เป็น "วรรณกรรมสร้างสรรค์" และทยอยมอบรางวัลให้แก่บรรดานักเขียนในแนวเพื่อชีวิต (ที่ได้เคยหลงผิดคิดร้ายต่อนายทุน และที่นายทุนก็ได้เคยหลงผิดคิดปราบปราม) หากเหลียวมามองวงการการศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรม ก็จะเห็นการตอบสนองที่ดียิ่งไม่แพ้กัน นักวิจารณ์ต่างหันไปให้ความสำคัญกับเนื้อหา แก่นเรื่อง แนวความคิด ปัญหาสังคมที่สะท้อนออกมา และแม้แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในตัวงาน ราวกับจะหลงลืมไปว่า ข้อเขียนที่วิจารณ์หรือวิเคราะห์อยู่นั้นเป็นงานวรรณกรรมหรือเรื่องแต่ง

ก็ในเมื่อมีผู้เขียน พิมพ์ อ่าน ตัดสินและศึกษาวิจารณ์วรรณกรรมสัจนิยมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึงเพียงนี้ เหตุไฉน
เล่าปัญหาครอบครัว การเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาโสเภณี ปัญหาศาสนา วัตถุนิยม นาเสพติด ชนบทถูกทอดทิ้ง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฯลฯ ที่่ส่องสะท้อนอยู่ในหน้าหนังสือเหล่านี้มานานถึง 20 ปี จึงยังคงมีให้เห็นอยู่เกลื่อนกลาดในสังคมไทย เสมือนเป็นพยานยืนยันว่า ธารน้ำหมึกที่หลั่งไหลออกมาจากจิตสำนึกสู่จิตสำนึกอย่างไม่ขาดสายนั้น มิอาจช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้เลย

คำตอบที่ตรงประเด็นที่สุดต่อคำถามนี้ คือ วรรณกรรมสะท้อนสังคมไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแก้ปัญหาใดๆ ได้ ก้เพราะมันเป็นวรรณกรรม และขึ้นชื่อว่าวรรณกรรมแล้ว ธรรมชาติของมันย่อมประกอบสร้างขึ้นด้วย "สัญนิยม" ต่างๆ นานาทั้งสิ้น

สัญนิยม (Convention) หมายถึงกติกาข้อตกลงที่ผู้เขียนและผู้อ่านยอมรับร่วมกันโดยนัยอันที่จะสื่อและรับรู้ความหมายในงานวรรณกรรมเพื่อให้การ "สื่อสาร" ทางวรรณกรรมนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น ยกตัวอย่างเช่น กติกาข้อตกลงข้อหนึ่งในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ คือ ทุกคนยอมรับว่าตัวละครเอกสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ หรือในนวนิยายเพื่อชีวิต มีข้อตกลงโดยนัยว่า บรรดาตึกสูงเสียดฟ้าบนถนนในกรุงเทพฯ มิได้หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองอันน่าชื่นชม แต่เป็นตัวแทนของความคลั่งไคล้ในวัตถุ ความแล้งน้ำใจต่อกัน ฯลฯ หากผู้อ่านไม่ยอมรับในสัญนิยมเหล่านี้เสียก่อน ก็จะมีปัญหาในการอ่านวรรณกรรมนั้นๆ สัญนิยมเป็นกรอบควบคุมการทำงานของวรรณกรรมในทุกๆ ระดับของการสื่อความหมาย ตั้งแต่การกำหนดทัศนคติในการอ่านโดยรวม ไปจนถึงการเข้าใจรายละเอียดในทุกซอกทุกมุม

หากลองพิจารณาสัญนิยมที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติอันจะพึงมีในการอ่านงานวรรณกรรมโดยทั่วไป ก็จะเห็นได้ใน
ทันทีว่า ธรรมชาติความเป็นวรรณกรรมนั้นเป็นอุปสรรคบั่นทอนการถ่ายสะท้อนความเป็นจริง และขัดขวางการเกิด
จิตสำนึกทางสังคมที่จริงจังอย่างไร กล่าวคือในการเขียน/อ่านวรรณกรรมนั้น ผู้เขียน/ผู้อ่านมีกติกาข้อตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า ข้อเขียนนั้นๆ มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงในโลก แต่เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้นจากจินตนาการ ซึ่งทำให้วรรณกรรมไม่อาจหลีกพ้นไปจากฐานะ "เรื่องอ่านเล่น" ไปได้ ต่างไปจากข้อเขียนประเภทข่าวสาร สารคดี หรืองานวิชาการ ซึ่งมีกติกาข้อตกลงในการรับรู้เรื่องราวอีกแบบหนึ่ง ผลสืบเนื่องต่อมาก็คือ ในเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงจากภายนอกมากำหนดความเป็นไปได้ในตัวบทวรรณกรรม อิสระจึงตกแก่การใช้ภาษาอย่างเต็มที่ นักประพันธ์ส่วนใหญ่ทราบดีว่า อาศัยเงื่อนไขจากการปลอดข้อบังคับแห่งโลกของความเป็นจริงนี้เอง พวกเขาจึงสามารถเลือกใช้ถ่อยคำได้อย่างรุ่มรวยหลากหลายกว่าในข้อเขียนประเภทอื่น สามารถแสดงจริตทางภาษาออกมาได้อย่างเต็มที่ และระดมเอาคุณสมบัติข้องถ้อยคำมาใช้เพื่อส่อนัย สร้างรสชาติ ปลุกเร้า โน้มน้าวใจ ไปตามเงื่อนไขที่สร้างขึ้นในโลกสมมุติ ซึ่งเป็นคนละสิ่งกับตรรกะในโลกของความเป็นจริง


ภาพประกอบจาก praraam's blog          

ครั้นเมื่อลงไปในระดับที่ต้องแยกแยะวรรรกรรมออกเป็น "แนว" (genre) ต่างๆ เราก็จะพบอีกว่าแต่ละแนววรรณกรรมล้วนมีสัญนิยมอันเป็นข้อกำหนดตรรกะภายใน วิธีการเดินเรื่อง การนำเสนอตัวละคร ฯลฯ ตามแบบฉบับเฉพาะของแนวนั้นๆ ทั้งสิ้น เช่น ในนวนิยายแนวรักพาฝัน ชีวิตมักจะเป็นในแบบอุดมคติที่สวยสดงดงาม (แม้จะมีอุปสรรคมาคอยทดสอบบ้าง) ในนวนิยายแนวผจญภัย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตื่นเต้น เร้าใจ เกิดเหตุการณ์ผันผวนมากมายในช่วงเวลาอันสั้น หรือในนวนิยายแนวสัจนิยม ชีวิตจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางสัคม เศรษฐกิจ การเมือง และชีวิตไม่ใช่สิ่งโสภาแต่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรน ผู้อ่อนแอ ด้อยโอกาสต้องพ่ายแพ้ต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้อ่านส่วนใหญ่ย่อมรู้และยอมรับอยู่แล้วเป็นอย่างดี มิใช่เพิ่งมาค้นพบเอาจากการอ่าน สิ่งที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ได้รับจากการอ่านนวนิยายสะท้อนสังคมเป็นเพียงความพึงพอใจที่ได้รับรู้ซ้ำถึงปัญหาสังคมที่คุ้นเคยมาแล้วจากวาทกรรมอื่นๆ แต่ในวรรณกรรมมักถูกนำเสนอได้ "สนุก" กว่าในงานวิชาการที่เอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้ จริงอยู่ ผู้อ่านอาจะเกิดอารมณ์โกรธแค้นขึ้นชั่ววูบเมื่อเห็นตัวละครตกเป็นเหยื่อสังคมอันโหดร้าย แต่ไม่นานอารมณ์นั้นก็ดับมอดไป ไม่ทิ้งร่องรอยของจิตสำนึกอันถาวรใดๆ ไว้เลย

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาลงไปถึงการสื่อความหมายในภาพรายละเอียดต่างๆ ที่นำเสนอ เช่น ลักษณะทางกายภาพของตัวละคร วิธีคิด พฤติกรรม สภาพแวดล้อมทางวัตถุ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในการอ่านเสมือนว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริง ก็ล้วนเกิดจากการใช้คติความเชื่อ ค่านิยมที่ผู้อ่านมีเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วมาเป็นตัวค้ำจุนอีกเช่นกัน (ดังที่เรียกว่า สัญนิยมทางวัฒนธรรม) ทำไมนักประพันธ์จึงนิยมวาดให้ตัวละครที่เป็นศิลปินในนิยายเป็นคนมีอารมณ์รุนแรงผิดจากคนทั่วไป ก็เพราะมันตรงกับความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม และเราได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับศิลปินมานับร้อยนับพันครั้ง โดยอาจไม่เคยรู้จักศิลปินเลยแม้แต่คนเดียว ทำไมชนบทในนวนิยายจึงต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องเสมอ ก็เพราะมันตอบสนองต่อมายาคติของผู้อ่านชนชั้นกลางในเมืองที่เบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อมอันจำเจของตน จึงเห็นได้ว่า โดยตรรกะแล้ว วรรณกรรมสัจนิยมย่อมไม่อาจสร้างจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ เพราะที่แท้แล้วมันอิงอยู่กับสัญนิยม ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมานั่นเอง

เราไม่ปฏิเสธเจตนาดีของนักประพันธ์วรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ปรารถนาจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมที่เราอยู่นี้ดีขึ้น แต่เราก็จำเป็นต้องตระหนักเช่นกันว่าเจตนานั้นฝืนธรรมชาติความเป็นจริงของวรรณกรรม ทำให้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่กาลเวลากว่า 20 ปีได้พิสูจน์แล้ว การยึดมั่นอยู่กับ "ความหลงผิดคิดว่าวรรณกรรมสะท้อนความเป็นจริง" (referential fallacy) นี้รังแต่จะฉุดรั้งวรรณกรรมให้ตกอยู่ในสภาวะ "ย่ำอยู่กับที่" ดังที่เริ่มมีเสียงบ่นๆ กันอยู่ มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อการศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรม ทำให้ละเลยที่จะทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติที่แท้จริงของตัวงานและหันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกแทน ซึ่งก็ทำให้วงการต้อง "ย่ำอยู่กับที่" อีกเช่นกัน

ในเมื่อสารัตถะของวรรณกรรมนั้นคือสัญนิยม มิใช่การถ่ายสะท้อนความเป็นจริงซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตา การที่จะก้าวออกไปจากสภาวะหยุดนิ่ง เพื่อที่จะให้วรรณกรรมพอที่จะมีผลงานสรางสรรค์ต่อสังคมได้บ้าง จึงน่าจะเป็นการ "เล่น" กับสัญนิยมนั่นเอง อาจจะด้วยการกดดันบิดผันดัดแปลงสัญนิยมเก่าๆ มาจัดเงาให้วาววับ หรืออาจจะแหวกจุดอับออกไปด้วยการแสวงหาสัญนิยมใหม่ๆ มาทดลองใช้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเขย่าสั่นคลอนคติค่านิยมอันเป็นสิ่งค้ำจุนสัญนิยมต่าง ๆ ในวรรณกรรมอีกทีหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนและผู้อ่านต่างต้องรู้เท่าทันธรรมชาติของวรรณกรรม ดังที่ อิตาโล กัลวิโน (Italo Calvino) นักประพันธ์และนักวิจารณ์ร่วมสมัยนามอุโฆษเคยกล่าวไว้ว่า

"...แต่ก่อนนี้ เราเคยมองว่าวรรณกรรมเป็นกระจกสะท้อนโลกหรือเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกจากภายใน มาบัดนี้เราปฏิเสธอีกต่อไปไม่ได้แล้วว่า วรรณกรรมทั้งหลายสร้างขึ้นด้วยถ้อยคำและกลวิธี และเราจะแสร้งลืมอีกต่อไปไม่ได้เช่นกันว่า วรรณกรรมสื่ออะไรหลายอย่างที่ผู้เขียนก็ไม่รู้ตัว และยังสื่อต่างไปจากเจตนาของเขา ความตระหนักในสิ่งเหล่านี้เป็นคุณมิใช่แก่เฉพาะวรรณกรรม แต่ยังใช้ได้กับการเมืองอีกด้วย เพราะว่าการเมืองและวรรณกรรมต่างก็ประกอบสร้างด้วยถ้อยคำและมายา ก่อนอื่นใด ทั้งการเมืองและวรรณกรรมจึงต้องรู้จักตนเอง และอย่าไว้ใจตนเองเป็นอันขาด" (แปลจาก La Machine Litterature - เครื่องจักรวรรณกรรม ค.ศ. 1984)


* เผยแพร่ครั้งแรกใน สารคดี. ปีที่ 14 ฉบับที่ 162 (ส.ค. 2541) หน้า 108-110.
 
เริ่มเมื่อ 4 ธันวาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 12 ธันวาคม 2552
งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 0-2201-5710 โทรสาร 0-2354-7144 e-mail : lisc@mahidol.ac.th