หนังสือเล่มโปรด ปี 2559 (My Favorite Book)

เฉลิมพันธุ์ ตาทิพย์

บรรณารักษ์ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

 

“ทำน้อยให้ได้มาก” ของ Leo Babauta แปลโดย วิกันดา พินทุวชิราภรณ์
“ชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ของ Marie Kondo แปลโดย โยซุเกะและปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์

มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองทำงานรีบเร่ง ย้ำคิดย้ำทำ ทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่งานกลับไปไม่ถึงไหน ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แถมยังเสียสุขภาพอีกด้วย จนรู้สึกว่าภาวะเช่นนี้ควรจะได้รับการแก้ไขเสียที กระทั่งได้มาอ่านหนังสือ “ทำน้อยให้ได้มาก” (The Power of LESS) ของ Leo Babauta แปลโดย วิกันดา พินทุวชิราภรณ์ โดยหลักการสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ “คนเรามีเวลาและพลังงานจำกัด จึงควรทุ่มเวลาให้กับสิ่งที่คิดว่าสำคัญจริงๆ เท่านั้น” ซึ่งให้แนวคิดที่สามารถนำมาใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า โดยผู้เขียนได้นำเสนอ หลักการ 6 ข้อ ในการทำน้อยให้ได้มาก ได้แก่

  1. สร้างข้อจำกัด : สร้างข้อจำกัดในทุกเรื่องที่ทำ ทำในสิ่งที่ถนัด ซึ่งจะทำให้การทำงานราบรื่น
  2. เลือกแต่สิ่งสำคัญ : เลือกทำในสิ่งที่จำเป็น เพื่อการใช้พลังและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  3. ทำให้เรียบง่ายขึ้น : ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ให้เหลือแต่สิ่งที่สำคัญเท่านั้น
  4. จดจ่อ : ทำทีละอย่าง แบ่งเวลาอย่างชัดเจน มีสติอยู่กับเป้าหมายเดียวเพื่อทำให้สำเร็จ
  5. สร้างนิสัย : สร้างนิสัยใหม่เพื่อปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น
  6. เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ : เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเอง (ในทางที่ดี) อย่างช้าๆ จนติดเป็นนิสัยในที่สุด

อีกเล่มหนึ่ง คือ “ชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” (The Life-Changing Magic of Tidying Up)  ของ Marie Kondo แปลโดย โยซุเกะและปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์ เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของเทคนิคการจัดบ้านที่ส่งผลต่อวิธีคิดและการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน โดยหนังสือได้นำเสนอ วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari ที่สามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. จัดแบบรวดเดียวจบ : การเห็นผลลัพธ์ในทันที ทำให้มีกำลังใจที่จะจัดบ้านจนเป็นนิสัย โดยสิ่งของไม่กลับไปรกอีกเลย
  2. การจัดบ้านถือว่าเป็นกิจกรรมพิเศษ : การจัดบ้านไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำทุกวัน จึงควรจัดบ้านให้สมบูรณ์แบบในครั้งเดียว
  3. เริ่มด้วยการทิ้ง : การทิ้งของที่ไม่จำเป็น ทำให้บ้านปลอดโปร่งน่าอยู่ และมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น
  4. ให้นึกถึงภาพผลลัพธ์ที่ต้องการ : การนึกถึงผลลัพธ์ที่ได้รับจากการจัดบ้าน ยิ่งกระตุ้นให้อยากจัดบ้านมากยิ่งขึ้น
  5. การคัดเลือก “เก็บ” หรือ “ทิ้ง” : หากของชิ้นใดปลุกเร้าความสุขได้ให้เก็บไว้ แต่หากปลุกเร้าไม่ได้ก็ให้ทิ้งไป
  6. จัดตามหมวดหมู่ไม่ใช่ตามพื้นที่ : จัดสิ่งของประเภทเดียวกันไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและทำความสะอาด
  7. การจัดเก็บเสื้อผ้า : วิธีการพับผ้าแบบฉบับ Marie Kondo ช่วยลดพื้นที่การจัดเก็บและถนอมเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี

เมื่อได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ก็พบว่าบ้านเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ การมีวินัยต่อตนเอง และการรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari ได้ให้แง่คิดที่สะท้อนจากการเลือกเก็บสิ่งของต่างๆ ว่ามีส่วนครอบงำต่อการตัดสินใจทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คนและอาชีพการงาน โดยคนเราควรเลิกยึดติดอยู่กับอดีตและหยุดกังวลเกี่ยวกับอนาคต นอกจากนี้ยังมีเรื่องการมองสิ่งของว่ามีชีวิต โดยสิ่งของก็เหมือนกับคนเรา หากทำดีต่อเขา เขาก็ย่อมดีต่อเราเช่นกัน เช่น หากปฏิบัติดูแลต่อสิ่งของอย่างดี สิ่งของเหล่านั้นก็จะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เป็นต้น