เสวนานักคิด นักเขียน และนักอ่าน

คมคิดวิทยาศาสตร์

ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อาจารย์เอก)

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 12.00-13.00 น. ณ ลานกิจกรรมตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท


เมื่อ 2 ปีก่อน เกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการใช้งานเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ชื่อ GT200 ว่าที่จริงแล้วมันใช้งานได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแหกตาครั้งใหญ่ ที่กองทัพไทยอุตส่าห์ลงทุนไปมากมายแต่กลับได้มาแค่ ไม้ล้างป่าช้า จากกรณีนี้เองทำให้สังคมไทยในวงกว้าง ได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่กล้าแสดงความคิดเห็นกับกองทัพด้วยเหตุและผลทางวิชาการที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ชื่อของ ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เอก อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน สื่อหลักมากมายต่างเชิญให้ อาจารย์เจษฎาไปออกรายการเพื่อทำความเข้าใจในกรณีดังกล่าว ยังไม่รวมถึงสื่อออนไลน์ซึ่งหยิบเอาประเด็นนี้ไปต่อยอด ความคิดกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งท่านเองก็ยืนยันว่ามิได้มีเจตนาเป็นปรปักษ์กับฝ่ายใด เพียงแต่ต้องการเผยแพร่ข้อเท็จจริงด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ให้สาธารณชนได้รับรู้เท่านั้น

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พันธุศาสตร์) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพ) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ชีววิทยาเชิงโมเลกุล) จาก University of Edinburgh ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ว่าจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์สาขาชีววิทยา แต่อาจารย์เจษฎาก็มีความสนใจในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

ไม่เพียงเฉพาะกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 เท่านั้น อาจารย์เจษฎายังมีบทบาทในฐานะนักวิชาการที่พยายามไขปริศนาถึงปรากฏการณ์และประเด็นถกเถียงต่างๆ ในสังคม โดยอาศัยหลักเกณฑ์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความจริง อาทิ เรื่องพืช GMO ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค การพบเห็นสัตว์ประหลาดคล้ายพญานาค พลังวิเศษจากเหรียญสเคล่าร์ ฯลฯ เหล่านี้คือความพยายามที่จะให้ความกระจ่างแก่ประชาชน รวมถึงการตีแผ่ความจริงของวิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) ด้วยวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

“...ประเทศที่เจริญ เขาจะมองว่าทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนาไปได้กับประชาคมโลก การศึกษาบ้านเราสอนให้ท่องจำมาตลอด ที่สำคัญคือห้ามเถียง ทั้งที่เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องเถียง วิทยาศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์โลกมาหลายพันปีเพราะการเถียง เถียงเมื่อไม่เชื่อ เมื่อใดที่คุณต้องเชื่อสิ่งที่ฉันพูด นั่นก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์...”

ยังมีอีกหลายปรากฏการณ์ที่ยังคงเป็นคำถามในสังคมไทยที่ยังแยกไม่ออกระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเชื่อ” ร่วมสนทนาในประเด็นวิทยาศาสตร์รอบตัว เรียนรู้แนวคิดและแนวปฏิบัติที่น่าสนใจของอาจารย์เจษฎาได้ บนเวทีเสวนาวาไรตี้ ในงานมหกรรมหนังสือ มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 8 ในวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 12.00-13.00 น. ณ ลานกิจกรรมตึกกลม

ผลงาน

ตั้งแต่ปี 2000 มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ 23 เรื่อง หนังสือ/บทความในหนังสือ/ตำรา/หนังสือแปล 9 เล่ม อาทิวิวัฒนาการ : EVOLUTION, จากนักวิทย์...สู่ชีวิตทหารรับจ้าง, พืชจีเอ็ม คำถามแห่งศตวรรษ เป็นต้น

รางวัลที่ได้รับ

- รางวัลนักวิจัยดีเด่นรุ่นเยาว์ ประจำปี พ.ศ. 2549 จากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลนักวิจัยรุ่นเยาว์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี พ.ศ. 2550 จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลเชิดชูเกียรติ บัณฑิตทุน พสวท. ประจำปี พ.ศ. 2550 จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- ได้รับการคัดเลือกเป็น “พลเมืองคนกล้า” โดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้แก่โครงการพสวท. (2554)


รับชมเสวนา "คมคิดวิทยาศาสตร์" โดย ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ย้อนหลัง
เฉพาะเครือข่ายอินทราเน็ตมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น


ดร. โสรยา จาตุรงคกุล

ผู้ดำเนินรายการ สัมภาษณ์ ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

         ดร. โสรยา จาตุรงคกุล หรือ อาจารย์โส อาจารย์รุ่นใหม่ที่ทั้งเก่ง สวย ร่ำรวยความสามารถ จบการศึกษาจาก Cornell University ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นอาจารย์ที่เป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์ทั้งคนไทยและต่างชาติ จากความเป็นคนอารมณ์ดีและเป็นกันเองกับลูกศิษย์

         อีกบทบาทหนึ่งที่อาจารย์โสมักได้รับเสมอคือการเป็นพิธีกรประจำคณะฯ ไม่ว่าจะเป็นรายการแบบพิธีการหรือแบบลำลอง อาจารย์ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม รับและโยนมุขได้อย่างไหลลื่นกับพิธีร่วมทุกท่าน และสำหรับงานบุ๊คแฟร์ก็ได้รับเกียรติจากอาจารย์โสเสมอมา ซึ่งในปีนี้เราก็จะได้ยินเสียงหวานๆ ของอาจารย์อีกครั้ง