มหกรรมหนังสือ มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์
 

เสวนานักเขียน

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 พบกับ

คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน)

ในหัวข้อเสวนาเรื่อง "วรรคเพชร" ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน


ดำเนินรายการโดย ผศ. อุบล สรรพัชญพงษ์ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ณ เวทีเสวนา คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท เวลา 12.30 - 13.30 น.
 
  รู้จักกับวิทยากรรับเชิญ คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน)

ชื่อ สุกัญญา ชลศึกษ์ หลายท่านอาจจะไม่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อ กฤษณา อโศกสิน ทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี

"กฤษณา อโศกสิน" เป็นนามปากกาที่รู้จักกันอย่างกว้างในวงการน้ำหมึก เจ้าของผลงานชั้นเยี่ยมมากมายที่เป็นที่ชื่นชอบและติดตามของนักอ่านทั่วประเทศ นามปากกานี้ คุณสุกัญญา เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในผลงานเรื่อง วิหคที่หลงทาง ตีพิมพ์เป็นตอนลงในนิตยสาร สตรีสาร ได้รับการตอนรับอย่างดียิ่งจากผู้อ่าน จนกลายเป็นชื่อที่นักอ่านรู้จักมากที่สุด

คุณสุกัญญา เป็นชาวจังหวัดกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2474 เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนเมื่ออายุเพียง 15 ปี ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกคือ ของขวัญปีใหม่ ลงตีพิมพ์ในหนังสือ ไทยใหม่วันจันทร์ ใช้นามปากกาว่า กัญญ์ชลา ท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนราชินี จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าทำงานที่กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ในระหว่างนี้ท่านยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนอยู่เช่นเดิม มีผลงานเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 100 เรื่อง จนเป็นที่รู้จักของนักอ่าน และเขียนผลงานนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกคือ ชีวิตเป็นของเรา โดยอาศัยเค้าโครงจากนวนิยายต่างประเทศ

 
หลังจากทำงานที่กรมประมงนานถึง 17 ปี ท่านก็ตัดสินใจลาออกและหันมายึดอาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัว สร้างสรรค์ผลงานชั้นเยี่ยมออกมาเป็นระยะ จนกระทั่งได้รับความนิยมอย่างที่สุดจากผลงานที่ใช้นามปากกา กฤษณา อโศกสิน

ผลงานของคุณสุกัญญา ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน เนื่องจากเป็นผลงานที่แฝงไปด้วยแง่คิด นอกเหนือไปจากความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้จากงานเขียน อีกทั้งยังมีส่วนสะท้อนมุมมองของนักเขียนที่มีต่อสังคม ถ่ายทอดให้เห็นถึงสภาวะที่เป็นจริงของสังคม ทำให้ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ รางวัล สปอ.(องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จากผลงานเรื่อง เรือมนุษย์ ในปี 2511 และเรื่อง ตะวันตกดิน ในปี 2515 ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ จากผลงานเรื่อง ฝันกลางฤดูฝน ในปี 2515 เป็นต้น

ในปี 2528 ผลงานเรื่อง ปูนปิดทอง ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอาเซียน (ซีไรท์) นับเป็นรางวัลเกียรติยศที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุณสุกัญญาจนกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

ผลงานนวนิยายของคุณสุกัญญา มีมากกว่า 100 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้น บทความสารคดีอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่มีเนื้อหากระเทาะเปลือกสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา และโดนใจผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ลานลูกไม้ ไฟทะเล เรือมนุษย์ ฝันหลงฤดู ข้ามสีทันดร และผลงานหลายชิ้นของท่าน ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่นิยมของผู้ชมทั้งสิ้น อาทิ เรือมนุษย์ ดวงตาสวรรค์ เสื้อสีฝุ่น เมียหลวง คาวน้ำค้าง ปูนปิดทอง


 
นามปากกาของคุณสุกัญญา ที่ใช้ในงานเขียนประเภทต่างๆ

กฤษณา อโศกสิน (เรื่องชีวิตหนัก)
กัญญชลา (เรื่องชีวิตเบาๆ)
สุปปวาสา (เรื่องแทรกพุทธศาสนา)
กระเรียนทอง (เรื่องตลก)
ญาดา (นวนิยายเรื่องสั้นทั่วไป)

ผลงาน
นวนิยาย
ได้แก่ เพลิงบุญ หนามกุหลาบ วิมานไฟ ดวงตาสวรรค์ ฝันกลางฤดูฝน เรือมนุษย์ ตะวันตกดิน ไฟในทรวง น้ำผึ้งขม บันไดเมฆ สวรรค์เบี่ยง น้ำเซาะทราย ป่ากามเทพ ความรักแสนกล ไม้ผลัดใบ ประตูที่ปิดตาย ปีกทอง ไม้ป่า ฝ้ายแกมแพร เมียหลวง กระเช้าสีดา เข็มซ่อนปลาย ปูนปิดทอง เนื้อนาง บ้านขนนก บุษบกใบไม้ ลายหงส์ เลื่อมสลับลาย เวิ้งระกำ หลังคาใบบัว เสื้อสีฝุ่น เสียงแห่งมัชฌิมยาม ชาวกรง แมลและมาลี ข้ามสีทันดร จำหลักไว้ในแผ่นดิน ล่องทะเลดาว ฯลฯ

รวมเรื่องสั้น ระหว่างบ้านกับถนน ฯลฯ

สารคดี เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร ปลายสายฝนที่ทาคายามา ฯลฯ

รวมบทความ ไฟส่องทาง
 


 

รางวัลที่ได้รับ

  • ได้รับรางวัล สปอ. ( องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จากเรื่อง เรือมนุษย์ (2511) ตะวันตกดิน (2515)
  • ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ พ.ศ.2515 จากเรื่องฝันกลางฤดูฝน
  • ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้แก่ เรื่อง รากแก้ว (2517) ไม้ผลัดใบ (2519) ลมที่เปลี่ยนทาง (2520) บ้านขนนก (2522) ไฟหนาว (2523) กระเช้าสีดา (2528) ภมร (2531)
  • ได้รับรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เรื่อง บุษบกใบไม้ (2529) ไฟทะเล (2531) ข้ามสีทันดร (2541) จำหลักไว้ในแผ่นดิน (2528)
  • ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2531
  • ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2539
  • รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2545
"วรรคเพชร" ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน

คุณเพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ เจ้าของสำนักพิมพ์ ณ เพชรสำนักพิมพ์ เปิดตัวหนังสือวรรคเพชร ในนวนิยาย ของกฤษณา อโศกสิน ราชินีนักเขียน เศรษฐีนีรางวัลวรรณกรรม หนังสือวรรคเพชร ได้รวบรวมข้อคิด คำคมจากผลงานนวนิยาย 10 เล่มที่โด่งดัง ที่ถูกถ่ายทอดผ่านจอแก้ว บรรยากาศภายในงานอบอุ่นด้วยความรักความประทับใจ สมกับการรอคอยมาเนินนาน

การเสวนาโดยคุณกฤษณา อโศกสิน เจ้าของผลงงานวรรคเพชร, คุณชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย,คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2549 ดำเนินการเสวนาโดยคุณนุสบา ปุณณกันต์ นักแสดงชื่อดัง ได้สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม อย่างมีความสุข ให้แก่แขกที่มาร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ อาทิ อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ,วนิดา ชอบวณิชชาและปาริชาต คุ้มรักษา จัดขึ้น ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
 


เสียงสะท้อนจากผู้อ่าน ถึง "วรรคเพชร"


คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนรางวัลซีไรท์ ปี 2549
"...คุณกฤษณาเป็นครู หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่อ่านก็คือผลงานของคุณกฤษณา อ่านด้วยความประทับใจ สิ่งที่ได้ตลอดเวลาคือความเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์แบบเรียบง่าย สำหรับคำว่าวรรคเพชร ก็คือ เพชรที่ผ่านการเจียระไน ด้วยเวลา ด้วยผลงาน ..."

"...อ่านตรงไหนก็ได้ข้อคิดทั้งนั้น มันเหมือนการศึกษาการเริ่มต้นเส้นทางการเดินทางของการเขียนหนังสือคุณกฤษณา อโศกสิน เนื่องจากนวนิยาย 10 เรื่องที่คัดเลือกลงสู่หนังสือวรรคเพชร จะต่างเวลาในการเขียนหนังสือ คิดว่ามันเป็นผลงานคลาสสิก เพราะว่า ผู้ที่คัดเลือกมา ได้คัดเลือกแล้วว่าเป็นคำกระทบใจ อย่างเช่นสวรรคเบี่ยง ที่อยู่ในหนังสือวรรคเพชร เป็นหนังสือที่ครูก็สามารถนำมาสอนเด็กๆได้ทุกวิชา ถ้าว่างๆเปิดอ่านก็ได้ข้อคิด ทุกประโยคจะมีระหว่างบรรทัดที่ให้เราได้เมอ คิดตามวรรคเพชรนั้นด้วย มันเป็นการเริ่มต้นที่ให้คนอื่นๆได้ศึกษางานเขียนของคุณกฤษณาเช่นกัน และอาจจะทำให้นักเขียนท่านอื่นสนใจรวบรวมวรรคเพชรเช่นเดียวกันอีก..."

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (ไพลิน รุ้งรัตน์) นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
"... ทันที่ได้หนังสือวรรคเพชรจะเปิดเรื่องข้ามสีทันดรก่อน เพราะเป็นนวนิยายที่มีสำนวนโวหารเยอะมาก แต่ในเล่มนี้เค้าเก็บคัดเลือกมาเฉพาะข้อคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณกฤษณากลั่นกรองแล้วออกมา เพราะภาษางามๆของคุณกฤษณา ที่มีในหนังสือเล่มนี้ท่านกำลังได้ข้อคติในชีวิต และท่านสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ หนังสือประใจในทุกวรรคเพชร ไม่สามารถบอกได้ว่าประทับใจประโยคไหนมากที่สุด ..."


ภาพประกอบและข้อมูลจาก ณ เพชร สำนักพิมพ์


  รู้จักกับผู้ดำเนินรายการ ผศ. อุบล สรรพัชญพงษ์


ผศ. อุบล สรรพัชญพงษ์ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จบการศึกษาจากระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต สาขาการสอนภาษาอังกฤษ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท M.A. (Language and Literature) จาก Central Missouri State University และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ University of Melbourne จากนั้นได้เข้าทำงานในสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับบัณฑิตศึกษา เคยเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นคณะศิลปศาสตร์ และประจำที่ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

อ.อุบลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ ท่านได้มีผลงานแปลหลายเรื่อง อาทิ ขอรักเธอมาเยียวยาใจ(ร้อยเชือก) / THE RESCUE โดย Nicholas Sparks

 

 
เริ่มเมื่อ 4 ธันวาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 28 มกราคม 2553
งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 0-2201-5710 โทรสาร 0-2354-7144 e-mail : lisc@mahidol.ac.th