พบกับ คุณเพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ บรรณาธิการบริหาร ณ เพชร สำนักพิมพ์ ร่วมเสวนาพร้อมกับ คุุณสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน) วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553
และ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (ไพลิน รุ้งรัตน์) วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
แล้วตอนที่เอนทรานซ์พี่จะเลือกคณะที่เป็น บอ..บอ นำหน้าหมดเลย เพราะความเป็นเด็กไม่รู้เรื่องอะไร ก็จะเลือกบรรณารักษ์ บัญชี แล้วก็โบราณ อะไรทำนองนี้ แล้วพี่ก็ติดคณะโบราณคดีที่ศิลปากร แต่พ่อพี่ไม่ให้เรียน เพราะเข้าใจว่าจะต้องไปเรียนอยู่ที่นครปฐม บ้านพี่อยู่เชียงใหม่ พ่อก็เลยให้พี่ไปเรียนบัญชีที่รามคำแหง เพราะเมื่อก่อนเขารับสมัครที่เชียงใหม่ พอพี่เริ่มรู้ว่าบัญชีมันไม่ใช่ชีวิตเรา พี่ก็เลยแอบไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์" พ้นจากช่วงชีวิตวัยเรียนเธอใฝ่ฝันที่จะทำงานตามที่ใจปรารถนา โดยมีนิตยสารชื่อดังฉบับหนึ่งที่เธอชื่นชอบพิเศษเป็นแบบอย่าง และยึดถือบรรณาธิการของนิตยสารฉบับนั้นเปรียบประดุจครูผู้เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการที่จะก้าวสู่เส้นทางงานหนังสือ "พอเดินทางเข้ามาเรียนในเมือง ก็มาเจอหนังสือแพรวซึ่งเป็นเล่มแรกวางแผง เรารู้สึกว่าชอบหนังสือเล่มนี้จังเลย จึงเอามายึดไว้เป็นตัวอย่าง ตอนนั้นมีคุณสุภาวดี โกมารทัต เป็นบก.ทำให้เราชื่นชอบผู้หญิงคนนี้มาก จะเขียนจดหมายส่งไปให้เสมอ แต่เรียนจบพี่ก็ยังไม่ได้ทำงานที่อมรินทร์นะ พี่มาสมัครบ่อยมากแต่เขาก็ยังไม่รับ ก็เลยได้เริ่มต้นทำงานที่หนังสือในเครือวัยน่ารัก แต่เริ่มด้วยการเป็นพนักงานขาย จากนั้นก็ทำมาเป็นสิบเล่ม ตั้งแต่เริ่มเป็นฝ่ายขาย ซึ่งพี่ขายแลกกับการเขียน คือขายโฆษณาได้หนึ่งหน้าพี่จะได้เขียนหนึ่งคอลัมน์ พี่จะฝึกฝนวิชาการเขียนของพี่จนกระทั่งประสบความสำเร็จ คิดว่าในขั้นหนึ่งที่พี่พอใจ" ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่เรียนจบ เธอสับเปลี่ยนตำแหน่งงานไปหลายที่หลายบริษัท แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงทำอยู่ตลอดมาก็คือเขียน…เขียนแล้วก็ส่ง เธอส่งจดหมายไปหาคุณสุภาวดีตลอดมา "จนวันหนึ่งพี่มีปัญหาชีวิตเรื่องการทำงานมาก คิดว่าจะไม่อยู่แล้ววงการนี้ จะกลับไปทำสวนลำไยที่บ้านดีกว่า พี่ก็เลยตัดสินใจมาลาคุณสุภาวดีที่อมรินทร์ มาลาเพราะพี่คิดว่าพี่สุภาวดีมีบุญคุณกับพี่ เขาทำให้พี่อยากทำหนังสือ" "ถ้าอย่างนั้นก็มาทำงานกับพี่สิ" เป็นคำชักชวนจาก สุภาวดี โกมารทัต ผู้เปิดประตูรั้วบ้านอมรินทร์ต้อนรับเธอในตำแหน่งบรรณาธิการ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอได้ก้าวย่างเข้าสู่เส้นทางที่รอคอยมายาวนาน "พี่ทำงานกับหนังสือมาเยอะมากเป็นเวลากว่า 16 ปี ถึงได้มาทำงานที่อมรินทร์ ทำให้พี่เชื่อว่า ถ้าเราพยายามทำอะไรให้ถึงที่สุดผลตอบแทนจะได้กลับมาอย่างที่ใจเราต้องการ การเริ่มต้นที่อมรินทร์ คือพี่เป็นคนชอบเรื่องเอนเตอร์เทรนมากนะ แต่งานที่คุณสุภาวดีให้พี่ทำคือเป็นหัวหน้ากองบก.นิตยสารชีวจิต ซึ่งกำลังเริ่มต้น พี่รู้สึกว่าพี่อยากทำอมรินทร์ เพราะฉะนั้นพี่จะต้องทำให้ได้ พี่ก็ไปศึกษา จนสามารถทำออกมาได้ประมาณ 18 เล่ม ต่อจากนั้นก็ทำไม่ไหวแล้ว พี่ไม่สามารถจะฝืนทำต่อไปได้อีก พี่ค้นพบว่าการทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเป็นเรื่องท้าทายกว่าการทำแมกกาซีน แมกกาซีนอยู่ได้เพราะโฆษณา ถ้าโฆษณาเต็มก็สามารถทำได้ แต่พ็อกเก็ตบุ๊คถ้าไปวางแล้วไม่มีใครซื้อก็ตาย ทางอมรินทร์ได้ตั้ง "สุดสัปดาห์สำนักพิมพ์" ขึ้นมาให้พี่ดูแล พี่มีความคิดว่าถ้าจะทำหนังสือให้คนอ่านมาก ๆ กำลังซื้อน่าจะเป็นวัยรุ่น แล้ววัยรุ่นจะชอบอ่านหนังสืออะไรถ้าไม่ใช่คนที่เป็นฮีโร่ของเขา แต่จะต้องเป็นหนังสือที่มีสาระและประเทืองปัญญาด้วย ตอนนั้นคุณนุสบาจบการศึกษาพอดีและได้เกียรตินิยมอักษรศาสตร์ด้วย พี่คิดว่าน่าสนใจที่จะทำเรื่องราวของเขาจึงเอาชื่อมาเสนอ แล้วก็ได้ทำเป็นหนังสือเล่มแรกออกมา ชื่อ "หมื่นถ้อยร้อยพันไมล์" ปรากฏว่าได้เบสเซลเล่อร์ หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมาพบกับปราบดา พี่อ่านหนังสือของเขาเรื่องแรกคือ "คนนอนคม" ซึ่งยังไม่เห็นเลยว่าเป็นชื่อปราบดา หยุ่น นะ พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าจะต้องตามหาคนคนนี้เพื่อมารวมเล่มกับพี่ให้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณจิ๋ม ดวงดาว ก็พามาพบกับพี่และได้ทำงานร่วมกัน
พี่คิดว่าสิ่งที่พี่อยากทำก็คืออยากให้คนมาอ่านหนังสือกันมาก ๆ พี่อยากจะสร้างคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มที่อ่านงานวรรณกรรมก็ให้อ่านไป คนกลุ่มที่พี่สร้างอยากจะให้เขาหันมาสนใจการอ่านก่อน สิ่งแรกที่พี่คิดคืออ่านก่อนและต่อไปคือต้องพยายามใส่สิ่งที่ประเทืองปัญญามากขึ้น มากขึ้นจนให้เขายอมรับว่าถ้าเป็นสุดสัปดาห์ต้องอ่าน ต้องเป็นอารมณ์นี้คือ 1.ต้องประเทืองปัญญา 2. ต้องเอนเตอร์เทน เพราะว่าคนสมัยใหม่ต้องใส่ความสนุกสนานเข้าไปด้วย เหมือนเด็กเรียนหนังสือ ถ้าใส่แต่ความเครียดจะไม่สนุก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะละเว้น ถ้าเราอยากจะขายงานให้กับคนรุ่นใหม่จริง ๆ หนังสือที่พิมพ์ต้องให้ความรู้คู่ความบันเทิง" นอกจากนี้เธอยังมองถึงบุคลิกและการทำงานของ บก.ในสมัยนี้ว่า "พี่คิดว่าบก.สมัยใหม่ไม่ใช่บก.ที่จะมานั่งใส่แว่นตาจิ้มพิมพ์ดีดรัวเหมือนข้าวตอกแตกอีกแล้ว แต่ควรมีการออกไปพบปะผู้คนมากขึ้น จะมีคนบ่นว่าเขียนงานแล้วไม่มีคนอ่าน ถ้าเราไม่ไปพบปะเขา เขาก็ไม่รู้จักเรา น้อยคนนักที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วชอบจริง ๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการพูด บอกต่อหรือว่าพีอาร์บ้าง ซึ่งผลที่ได้รับมันมากมายมหาศาล อย่าลืมว่าเราต้องการที่จะเข้าสู่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนที่รักการอ่านจริง ๆ แต่เป็นคนที่ไม่ค่อยใส่ใจการอ่าน ก็ต้องมีการกระตุ้นกันบ้าง" ผลงานรวมเล่ม คุณเพชรยุพา มีผลงานที่เธอเป็นผู้เขียนและเรียบเรียงเป็นจำนวนมาก อาทิ อยากเป็น บอกอ ชีวีแสนสุข จะมืดกี่ด้านก็ผ่านได้ ปัญหา+ปันหา เป็นยาวิเศษ (เรียบเรียงจากชีวประวัติของ คุณกรรณิกา ธรรมเกษร) ผู้หญิงที่น่ากอดตลอดกาล แม่ขาหนูติดยา ดีใจที่เธอได้อ่าน Born to be Designer เมื่อรักมา ต้องใช้ปัญญาบริหารรัก ฯลฯ