มหกรรมหนังสือ มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์
 

เสวนานักเขียน

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 พบกับ

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (ไพลิน รุ้งรัตน์)

ในกิจกรรม "Book Talk" สนทนาประสาคนรักหนังสือ


ดำเนินรายการโดย คุณวริศรา ทาทอง นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ กิจกรรมพิเศษ และวิเทศสัมพันธ์
ณ เวทีเสวนา คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท เวลา 12.30 - 13.30 น.
 
  รู้จักกับวิทยากรรับเชิญ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (ไพลิน รุ้งรัตน์)

ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เกิดเมื่อปี ๒๔๙๓ ที่จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาชั้นประถมและชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดจันทบุรี แล้วจึงมาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท กรุงเทพฯ และสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๑ ในปี ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เป็นคนสนใจการอ่านมาแต่เยาว์วัย เพราะแม่เป็นครู พ่อชอบเขียนกลอน สนใจการอ่านทั้งคู่ ในบ้านมีหนังสือนวนิยายและสารคดีเป็นจำนวนมาก เมื่อเรียนชั้น ม.ศ.๓ ได้ครูภาษาไทยกระตุ้นเร้าการอ่านการเขียน ทำให้หัดเขียนเรื่องสั้นไปลงชัยพฤกษ์ เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ สนใจกิจกรรมชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ เมื่อเรียนชั้นปีที่ ๔ และในปีเดียวกันนั้นได้เรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์กับอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้ลงมือเขียนบทวิจารณ์ งานวิจารณ์ชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในอนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ คือ บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นและบทกวีชื่อ ความเงียบ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ต่อมาเมื่อเรียนจบหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้น เขียนไปลงสตรีสารได้สองสามเรื่อง อาจารย์ชลธิรา (สัตยาวัฒนา) กลัดอยู่ ก็ได้ชวนไปเขียนบทวิจารณ์ในนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ ใช้ชื่อ ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็เลิกเขียน ต่อมาได้ช่วยเขียนบทวิเคราะห์ให้ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ในการจัดนิทรรศการวรรณกรรมแนวประชาชน ในปี ๒๕๑๘ และผลงานนั้นได้รวมเล่มเป็น วรรณกรรมแนวประชาชน ใช้นามปากกาว่า นศินี วิทูธีรศานต์ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามใน ๑๐๖ รายการของคณะปฏิวัติ

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ประมาณปี ๒๕๒๑ สิทธิชัยและชมัยภร แสงกระจ่าง ได้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจขึ้น เป็นการรวมตัวของชาววรรณศิลป์ จุฬาฯ ประมาณ ๑๕ คน และได้มีการอ่านเรื่องสั้นและบทกวีในรอบปีที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ในรอบปี และคัดเลือกขึ้นมาประกาศเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประจำปี คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยขอให้กลุ่มเขียนเป็นบทรายงานสั้น ๆ ลงนิตยสารโลกหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง กลุ่มวรรณกรรมพินิจได้คัดเลือกเรื่องสั้นอยู่ ๒ ปี ก็เลิกรากันไปเพราะคนในกลุ่มออกไปทำงานต่างจังหวัดหลายคน ในปี ๒๕๒๔ คุณพรชัย วีระณรงค์ บรรณาธิการนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในสมัยนั้น ได้เปิดคอลัมน์ให้กลุ่มวรรณกรรมพินิจ ทำให้เกิดกลุ่มนักวิจารณ์ ชมัยภร แสงกระจ่าง ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ วิจารณ์หนังสือ พร้อมด้วย วิจักขณ์ ประกายเสน เวณุวัน ทองลา กรรแสง เกษมศานต์ ชีรณ คุปตะวัฒนะ เพียงทัศน์ พินทุสร คำดี เขมวนา เป็นต้น นับแต่นั้นมากลุ่มวรรณกรรมพินิจก็มีคอลัมน์วิจารณ์ประจำในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และมีไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นผู้เขียนบทวิจารณ์เจ้าประจำ ส่วนคนอื่นๆนั้น ค่อยเขียนน้อยลงๆ และเลิกราไปในที่สุด

ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนบทวิจารณ์ระหว่างปี ๒๕๒๑ จนถึงปี ๒๕๓๘ (สิ้นสุดปีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม และมีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร) รวมระยะเวลาที่เขียนบทวิจารณ์ประมาณ ๑๗ ปี บทวิจารณ์ที่ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนมีมากกว่า ๕๐๐ ชิ้น ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์หนังสือเล่มในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีการรวมเล่มเพียงครั้งสองครั้งคือ ปรากฎการณ์แห่งกวี เป็นการรวมบทวิเคราะห์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย รวมเมื่อปี ๒๕๓๐ กับ วรรณพินิจ:กฤษณา อโศกสิน เป็นการรวมบทวิจารณ์ผลงานของกฤษณา อโศกสิน รวมเมื่อปี ๒๕๓๒ เล่มหลังได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือประจำปี ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

ส่วนผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านที่ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ และรวมเล่มก็คือบ้านหนังสือในหัวใจ อันเป็นบันทึกความทรงจำของนักอ่านเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่านมา ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี ๒๕๓๓ อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ...ที่รัก นวนิยายว่าด้วยเรื่องของนักอ่าน ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนเมื่อปี ๒๕๓๙


 
นับแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ชมัยภร แสงกระจ่างเขียนนวนิยายต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยเป็นนักเขียนนวนิยายประจำในนิตยสารสกุลไทย และนิตยสารขวัญเรือน หลังจากตีพิมพ์เป็นตอนๆ แล้วจึงรวมเล่ม ปัจจุบันมีนวนิยายรวมเล่มแล้ว ๓๐ เล่ม รวมผลงานที่รวมเล่มอื่นๆ ด้วยแล้วประมาณ ๔๐ เล่ม ในปี ๒๕๔๖ ไพลิน รุ้งรัตน์ ได้เขียนสารคดี ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานของ "กฤษณา อโศกสิน" ในชื่อเล่มว่า แกะลายไม้หอม "กฤษณา อโศกสิน"


คุณชมัยภร แสงกระจ่าง กับ คุณเพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ
ในงานเปิดตัวหนังสือแสนรัก สองรส นวนิยาย ของชมัยภร แสงกระจ่าง โดยสำนักพิมพ์คมบาง
 
ผลงาน

๒๕๑๖ ใบไม้แห่งนาคร (บทกวี) ร่วมกับคนอื่น ๆ
๒๕๑๙ วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน (บทวิจารณ์) ใช้นามปากกา"นศินิ วิทูธีรศานต์" ใช้ครั้งเดียวแล้วไม่ได้ใช้อีกเลย
๒๕๒๕ เส้นทางของแม่ (นวนิยายขนาดสั้น) ใช้นามปากกา "แสนดาว" (นามปากกานี้ใช้ครั้งเดียวเช่นกัน)
๒๕๓๐ ปรากฏการณ์แห่งกวี (บทวิจารณ์)
๒๕๓๑ ๗ วันคดีเครื่องราช ฯ(บันทึกชีวิตจริง)
๒๕๓๒ ญ หญิงอดทน (รวมเรื่องสั้น)
วรรณพินิจ กฤษณา อโศกสิน (บทวิจารณ์) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๓ ผู้หญิงนะ (รวมเรื่องสั้น)
บ้านหนังสือในหัวใจ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
มิเหมือนแม้นอันใดเลย (บทกวี) รางวัลชมเชย ประเภทบทกวี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๔ บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ) สร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
หนึ่งในห้าร้อยเล่มหนังสือดีของสมาพันธ์องค์การเพื่อการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
๒๕๓๖ หนูน้อยตัวหนังสือ (บทกวี)
๒๕๓๗ คนในบ้านหนังสือ (สารคดีเชิงวรรณศิลป์)
๒๕๓๘ นางสิงห์มอเตอร์ไซค์ (รวมเรื่องสั้น)
๒๕๓๙ อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ..ที่รัก (นวนิยายสำหรับนักอ่าน-ไพลิน รุ้งรัตน์) (รางวัลชมเชย
ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
บ้านไร่เรือนตะวัน (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
มุมดี ๆของชีวิต (เรื่องสั้นๆ - ไพลิน รุ้งรัตน์)
๒๕๔๐ จากดวงตาดอกไม้ (นวนิยาย)
ตะวันขึ้นที่ภูพระบาท (นวนิยาย)
๒๕๔๑ อรุณในราตรี (รวมบทกวี)
จดหมายถึงดวงดาว (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
๒๕๔๒ เช้าชื่น คืนฉาย (นวนิยาย)
บ้านนี้มีรัก ( วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
สู่ดวงใจแผ่นดิน (นวนิยาย)
ดั่งมีงานเริงรื่น (เรื่องสั้น)
๒๕๔๓ กระท่อมแสงเงิน (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
พระอาทิตย์คืนแรม (นวนิยาย) (รางวัลชมเชย ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
บ้านนี้มีหมากับแมว (นวนิยาย)
คุณปู่แว่นตาโต (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลดีเด่น ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ปากไก่ลายทอง (สารคดี)
ดอกไม้ในสายธาร (สารคดีธรรมะ)
๒๕๔๔ หมู่บ้านคนฝันดี (นวนิยาย)
มิ่งมิตรในสวนดอกไม้ (นวนิยาย)
ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
วุ่นวายสบายดี (นวนิยาย) รอสร้างเป็นละครโทรทัศน์
โลกนี้น่ารัก (วรรณกรรมเยาวชน)
จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์นักสู้แห่งภูเขา (สารคดี)
๒๕๔๕ ส้มโอ น้าหมู หนูแมว (วรรณกรรมเยาวชน)
เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม (นวนิยาย)
ห้องนี้รื่นรมย์ (นวนิยาย)
แม่ลูกปลูกต้นไม้ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๖ สวัสดีข้างถนน (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ฤดูร้อน...มีดอกไม้บาน (นวนิยาย)
แบ่งฟ้า ปันดิน (นวนิยาย)
แกะลายไม้หอม กฤษณา อโศกสิน (สารคดี)
๒๕๔๗ ริบบิ้นเขียวกับกล่องกระดาษแดง (นวนิยายเยาวชน) (สร้างละคร)
ยามบ่ายวันเสาร์ ยามเช้าวันอาทิตย์ (นวนิยาย)
ในสวนฝัน (รวมเรื่องสั้น) (รางวัลชมเชย ประเภทเรื่องสั้น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
แมวดำในสวนสีชมพู (นวนิยายเยาวชน)
๒๕๔๘ บานไม่รู้โรย (นวนิยาย)
ปุยนุ่นกับสำลี (นวนิยาย)
เด็กหญิงแห่งกลางคืน (นวนิยายเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๙ กุหลาบในสวนเล็ก ๆ
คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์
รังนกบนปลายไม้
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
- http://chamaipornwriter.blogspot.com (weblog โดยคุณชมัยภร)
- สำนักพิมพ์คมบาง

  รู้จักกับผู้ดำเนินรายการ คุณวริศรา ทาทอง


คุณวริศรา ทาทอง นักประชาสัมพันธ์
ผ่านประสบการณ์การเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำนิตยสารหลายฉบับ อาทิ นิตยสารขวัญเรือน นิตยสารดีไลท์ นิตยสารคุณหญิง นิตยสารธรรมชาติและสัตว์เลี้ยง และนิตยสารพลอย เป็นต้น จากนั้นได้ก้าวเข้าสู่วงการนักประชาสัมพันธ์ ที่ยังคงได้ทำงานที่รัก คือ งานเขียน
งานเขียนที่ภูมิใจที่สุดคือ สารคดีเรื่อง คลองแสนแสบ ที่ได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้ง เสด็จประทับเรือ ล่องคลองแสนแสบ
ปัจจุบัน คุณวริศรา ดำรงตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ กิจกรรมพิเศษ และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



 

 
เริ่มเมื่อ 4 ธันวาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 7 มกราคม 2553
งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 0-2201-5710 โทรสาร 0-2354-7144 e-mail : lisc@mahidol.ac.th