"โสภณ"
เป็นชายหนุ่มผู้รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังมีพรสวรรค์ในการถ่ายภาพอย่างหาตัวจับได้ยาก
เพราะสะสมองค์ความรู้ด้านการถ่ายภาพ จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
ทุกครั้งที่มีโอกาส เขาจะโบกรถไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ
กระทั่ง 6 ปีก่อน เขาโบกรถไปเที่ยวกับเพื่อนๆ พร้อมๆ กับไปสำรวจโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร
จ.แม่ฮองสอน เพื่อทำโครงการอาหารกลางวันแก่เด็กๆ ผู้ด้อยโอกาส
จนประสบอุบัติเหตุรถตกเขา ไขสันหลังขาด ส่งผลให้ช่วงล่างของร่างกายตั้งแต่เอวลงไปไม่สามารถใช้งานได้
ต้องเปลี่ยนมานั่ง วีลแชร์ ก่อนหน้านั้นไม่นาน สมาชิกครอบครัว
"ฉิมจินดา" 5 คนเจอมรสุมเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลาย ตาม
"องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์" (ร.ส.พ.) จากที่เคยทำธุรกิจรับส่งสินค้า
ผู้เป็นแม่ต้องเปลี่ยนอาชีพมาขายขนมส่งเสียลูก แต่ "โสภณ"
มีเวลาโศกเศร้ากับโชคชะตาแค่ 2 วัน เขาก็มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปโดยไม่ยี่หระกับความพิการ
เพราะได้กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนฝูง เขามองหาช่องทางที่จะทำอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าในตัวเอง
มีความสุข และไม่เป็นภาระของครอบครัว
ชายหนุ่มจึงสมัครเรียนเขียนโปรแกรมที่ โรงเรียนอาชีวะศึกษาพระมหาไถ่
พัทยา เรียนรู้งานกราฟฟิกดีไซน์ผ่านสื่อการเรียนรู้ ซีดี อินเทอร์เน็ต
จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เช่น งานออกแบบนิทรรศการ
ไปจนถึงการทำงานในวงการโทรทัศน์ และผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง
"เก็บยิ้ม"ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด Disability
Film Awards 2008 ในงานเทศกาลภาพยนตร์และการสัมมนาเรื่องความพิการ
DISABILITY film festival & seminar 2008 เป็นต้น
วันนี้
"โสภณ" ได้คำตอบแล้วว่า "ความพิการ" ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่ได้ตั้งใจ
เปิดโลกทัศน์ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของเขาอีกมากมาย ได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ
ไม่ต่ำกว่า 24 จังหวัด เรียนรู้ชีวิตของผู้คนผ่านการโบกรถไปตามสถานที่ต่างๆ
เขาตั้งใจว่า จะโบกรถไปทั่วประเทศ และพา "แม่" ผู้ให้กำเนิดอายุ
61 ปีไปด้วย จุดหมายแรกคือโรงเรียนใน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อระดมทุนจากผู้สนับสนุนสร้างอาคารอเนกประสงค์
ตามความตั้งใจเมื่อครั้งไปสำรวจสถานที่เมื่อ 6 ปีก่อนให้เป็นจริง
พร้อมทั้งเขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาเพื่อแบ่งปันให้แก่คนพิการไปในตัวด้วย
"ผมชอบถ่ายรูปคนยิ้ม เพื่อสื่อให้คนทั้งโลกรู้ว่าคนเราแม้ว่าจะแตกต่างกันปานใด
ทั้งฐานะ ชนชั้น จน รวย พิการ หรือครบ 32 แต่ทุกคนก็มีรอยยิ้มเหมือนกัน
และรอยยิ้มคือกำลังใจที่แบ่งปันกันได้ในผู้คนทุกหมู่เหล่า ผมตั้งใจว่าจะถ่ายรูปคนยิ้มให้มากที่สุด
เพื่อแชร์ความสุขให้แก่เพื่อนร่วมโลกตราบเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่"
ชายหนุ่มที่ได้รับเลือกให้เป็น ต้นแบบคนพิการไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(พม.) ซึ่งจะเปิดตัวในงานมหกรรมต้นแบบคนพิการไทย กล่าว และที่สำคัญที่สุด
"โสภณ" อาสาถ่ายทอดคำพูดจากหัวใจคนพิการทั้งหลายว่า
พวกเขาไม่ต้องการให้ผู้คนในสังคมมอง "คนพิการ" อย่างสังเวช
หรืออยู่ในฐานะที่ต้องการให้ "สงเคราะห์" แต่อยากให้รับรู้ว่า
"คนพิการ" ก็เป็นคนปกติที่มีชีวิตอยู่ในสังคมได้ อาจจะมีอุปสรรคในการดำเนินชีวิต
แต่ไม่ใช่คนที่เป็นภาระของสังคม ขอให้ "เข้าใจ" ก็เพียงพอแล้ว
|