วิทยากร : คุณจิตตยา ธรรมสรณ์ ตำแหน่ง Manager, Academy Innovation and Strategic Partnership กลุ่มงาน SCB Academy
วัน-เวลา : วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา09.00-12.00 น.
สถานที่ : Co-MU Space ชั้น 1 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เข้าอบรม :     1. กนกพร งามสว่างรุ่งโรจน์ 2. เฉลิมพันธุ์ ตาทิพย์ 3. บุญญาวดี พงษ์ศิลา 4. พิทวัส ดาราทิพย์ 5. สมภพ แสนสมบูรณ์สุข

“การนำเสนอที่ดีต้องมี Data ประกอบ
แต่ถ้ามี Dataให้ดูอย่างเดียว ก็ยังไม่ใช่ การนำเสนอที่ดี!”

หากต้องการนำเสนอข้อมูลให้ผู้คนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นสไลด์นำเสนอ รายงานการประชุม คลิปวีดีโอ ไปจนถึงอินโฟกราฟิก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาแปะ หยิบกราฟมาเติม หรือยกตารางมาใส่ เพราะนั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการนำเสนอเท่านั้น

Data Storytelling เป็นทักษะการบอกเล่าเรื่องราวของข้อมูลให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ มี “Impact” และเกิดความประทับใจ โดยข้อมูลที่ดีจะต้องสามารถถ่ายทอดให้ผู้คนรับทราบได้ตรงตามวัตถุประสงค์

เล่าอย่างไรให้..ปัง ! ต้องมีสิ่งนี้ (KFC)

K – Key Message – กำหนดแก่นของเรื่อง
F – Find Your Story – ค้นหาเรื่องราวที่สนับสนุนแก่นของเรื่อง
• C – Call to Actions – กระตุ้นให้ผู้คนกระทำบางสิ่ง (ตามวัตถุประสงค์ที่เรากำหนด)

3 องค์ประกอบใน Data Storytelling

1. Data – วิเคราะห์และอธิบาย Data ให้ผู้คนเข้าใจ พยายามหามุมมองเพื่อเติมเต็มข้อมูลที่มี
2. Narrative – ลำดับเรื่องราว สร้างจุดสนใจ หา Insight ของ Data
3. Visualizations – ใช้กราฟิก ภาพ กราฟ ตัวเลข สี ช่วยสื่อสารให้เข้าใจง่าย เปลี่ยน Data ให้มีชีวิตชีวา

7 เทคนิคการนำเสนอ Data จาก Harvard Business Review – https://hbr.org/2020/02/present-your-data-like-a-pro

1. แสดงข้อมูลให้โดดเด่นสะดุดตา – ผู้คนอาจไม่ได้เข้าใจข้อมูลทั้งหมดที่เราอยากนำเสนอ เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น จึงควรนำเสนอข้อมูลหรือกราฟสำคัญให้ชัดเจน รวมถึงออกแบบให้ดูแล้วสบายตา
2. เน้นย้ำเหตุผลว่าทำไมข้อมูลนี้ถึงสำคัญ – ใส่ข้อมูลสนับสนุนประเด็นที่ต้องการสื่อสาร และข้อความอธิบายเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญ เช่น “ข้อมูลนี้แสดง…” “กราฟนี้อธิบาย…” หรือ “ตัวเลขเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่า…” เป็นต้น กระบวนการนี้มีความจำเป็นเทียบเท่ากับบทสรุปตอนท้าย ที่จะดึงความสนใจให้ผู้คนรับทราบเนื้อหาได้อย่างครบถ้วน
3. เลือกสื่อสารประเด็นหลักเพียง 1 เรื่อง จาก 1 กราฟ – การมุ่งไปที่ประเด็นหลักเพียงเรื่องเดียวช่วยลดความสับสนของการสื่อสาร โดยไม่นำเสนอข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่น ต้องการนำเสนอเทรนด์ธุรกิจ อาจเลือกข้อมูลย้อนหลังเพียง 2-3 ปี ฉะนั้นข้อมูลของปีอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกมานำเสนอ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือมีผู้ตอบแบบสอบถามว่าพึงพอใจผลิตภัณฑ์ A อยู่ที่ 98% ฉะนั้นอีก 2% จึงไม่ใช่ข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่ต้องอธิบายเพิ่มเติม เป็นต้น
4. เน้นกราฟที่เรียบง่าย ชัดเจน และครบถ้วน – ผู้คนอาจจะมองข้อมูลที่คุณนำเสนอเพียงช่วงขณะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเลือกใช้ข้อมูลที่มีรูปแบบเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงตัวย่อที่ไม่ชัดเจนหรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
5. แสดง Aha! Zones ในการนำเสนอ – ชี้ให้เห็นจุดที่ต้องการสื่อสารจากกราฟ โดยแสดงเป็นข้อความ หรือ Bullet ให้ผู้คนสามารถอ่านได้แบบไม่ต้องตีความเอง (Aha! คือชั่วขณะของอารมณ์ความรู้สึกดีใจที่ได้ค้นพบข้อเท็จจริงหรือความรู้ใหม่)

ข้อมูลอ้างอิง: https://www.fastcompany.com/1662655/infographic-when-do-people-break-up

6. เขียน Slide Title สรุปใจความหลักของกราฟ – แม้ว่าจะเขียนจั่วหัวไปแล้วว่าแก่นของเรื่องคืออะไร แต่เราควรที่จะเขียน Slide Title ในแต่ละกราฟ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกราฟนั้น ๆ
7. สบตาผู้คนในขณะที่กำลังบอกเล่าเรื่องราว – หลีกเลี่ยงการมองแต่ตัวข้อมูลแล้วพูดตาม เพราะแท้จริงแล้วเรากำลังสื่อสารกับผู้คน ฉะนั้นสายตาและภาษากายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือต่อประเด็นข้อมูลที่นำเสนอได้

เครื่องมือด้าน Business Intelligence (BI) ที่ใช้ทำ Data Visualization ประกอบการบอกเล่าข้อมูล

Power BI พัฒนาโดย Microsoft มีค่าใช้จ่าย (มี version ฟรีแบบจำกัดเงื่อนไข คือ การแชร์ข้อมูลไม่สามารถเผยแพร่แบบสาธารณะได้) มีรูปแบบข้อมูลพื้นฐานที่นำเข้าคือไฟล์นามสกุล .csv ใช้งานง่าย เชื่อมต่อข้อมูลจากโปรแกรม Excel ได้ แต่ปัจจุบันโปรแกรมยังไม่รองรับการทำงานบนระบบปฏิบัติการ Macintosh
Tableau พัฒนาโดย Salesforce มีค่าใช้จ่าย (มี version ฟรีแบบจำกัดเงื่อนไข คือ การแชร์ข้อมูลจำเป็นต้องเผยแพร่แบบสาธารณะเท่านั้น) มีรูปแบบข้อมูลพื้นฐานที่นำเข้าคือไฟล์นามสกุล .csv การใช้งานจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานการใช้โปรแกรมในระดับหนึ่ง จึงสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Looker Studio (Data Studio) พัฒนาโดย Google เป็นเครื่องมือฟรี มีรูปแบบข้อมูลพื้นฐานที่นำเข้าคือ Google Sheet ทำงานบนระบบ Cloud ใช้งานง่าย (ทางทีมวิทยากรได้แนะนำ และสาธิตการใช้งานเบื้องต้นให้ชมภายในงาน)

ข้อมูลอ้างอิง: https://davoy.tech/power-bi-vs-tableau-vs-google-data-studio-in-2021/

ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจของการใช้ Data Storytelling

          • Tenemos Que Vernos Mas (We have to see more of each other?) แคมเปญโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ Ruavieja ในปี 2018 จากประเทศสเปน ที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม โดยนำ Data มาช่วยกระตุ้นให้เกิด Emotional หรือที่เรียกว่า Data-Driven Emotional Marketing ถ่ายทอดเรื่องราว “การใช้เวลาร่วมกัน” โดยนำคนสองคนที่สนิทใกล้ชิดกันมานั่งพูดคุยสอบถามว่าพวกเขานั้นเจอกันบ่อยแค่ไหนในแต่ละปี แต่ละครั้งที่ได้เจอกันนั้นพวกเขาได้ใช้เวลาด้วยกันจริง ๆ มากเท่าไหร่ จากคำตอบที่ได้ทางทีมงานก็ทำการคำนวณเป็น “ตัวเลข” ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาว่า “ต่อจากนี้ พวกเขาจะได้ใช้เวลาด้วยกันจริงๆ แค่ไหนก่อนจะต้องจากลากันไป” ซึ่งจุดประเด็นให้กลายเป็นกระแสสังคมไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนที่ได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้ได้หยุดคิดว่าเราให้เวลากับหลายสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไปจนเหลือเวลาให้กับคนสำคัญในชีวิตน้อยเกินไปหรือไม่?

คลิปจากแคมเปญโฆษณาของ ของ Ruavieja – https://www.youtube.com/watch?v=kma1bPDR-rE

          • Air Bed & Breakfast (Airbnb) การ Pitch ของ Airbnb โดยนำ Data และมาประกอบการทำสไลด์นำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อระดมเงินลงทุน 600,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (18 ล้านบาท) จาก Sequoia Capital และ Y Ventures แม้จะเป็นการ Pitch ในเวลาอันสั้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงส่วนประกอบมาตรฐานอยู่ในสไลด์อย่างครบถ้วน จัดลำดับได้เข้าใจง่ายเท่านั้น แต่ยังเลือกใช้กราฟ ตัวเลข และข้อความที่สื่อความหมายและดึงดูดความสนใจ รวมถึงชี้ให้เห็นโอกาสที่จะทำเงินได้ในอนาคต จนเข้าตานักลงทุนและได้รับความสนใจอย่างมากในปี 2009

ส่วนหนึ่งของสไลด์ที่ใช้ในการ Pitch ของ Airbnb ดูทั้งหมดได้ที่ – https://www.failory.com/pitch-deck/airbnb

          • Punch Up Project – โปรเจคของนักเล่าเรื่อง นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล และนักพัฒนา ที่เชื่อในพลังของข้อมูล โดยบอกเล่าเรื่องราวและขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจด้วยข้อเท็จจริง ตัวเลข และกราฟที่ทรงพลัง เรียบง่าย และสร้างสรรค์

คนจนจะหมดไป? ส่วนหนึ่งในโปรเจคของ Punch Up รับชมทั้งหมดได้ที่ – https://punchup.world/project/

ท้ายสุดแล้ว นอกจากข้อเท็จจริงและตัวเลขที่นำเสนอจะมีความสำคัญแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการมองรอบด้าน เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ ของทักษะ Data Storytelling จะช่วย “นำเสนอให้ข้อมูลที่นำเสนอมีคุณค่า มีความหมาย และสร้างความเข้าใจต่อผู้คนได้ตามวัตถุประสงค์” อีกด้วย