สรุปการอบรม “เข้าใจ copyright’เตรียมต้นฉบับง่ายขึ้น ครั้งที่ 3”

จัดโดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 08.30-11.30 น.

ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสิริวัฒนภักดี สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หัวข้อที่ 1 กฎหมายลิขสิทธิ์

วิทยากร : คุณไรวินท์ รุจิเรข นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือ สร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่จากัดชนิดของการสร้างสรรค์ หรือวิธีการแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ กรรมวิธีการผลิตในอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ทรัพย์สินอุตสาหกรรม ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า แบบผังภูมิวงจรรวมหรือแบบ แผนผัง ภาพที่ทำขึ้นเพื่อให้เห็นถึงการจัดวางให้เป็นภาพรวม
  2. ลิขสิทธิ์ โดยความหมาย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ระบุว่า คือ สิทธิแก่ผู้เดียวในการกระทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงานนี้ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น โดย “ผู้สร้างสรรค์” มีความหมายว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใด อย่างนึงอันเป็นงานลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

ลักษณะของานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง ประกอบด้วย

1. การแสดงออกซึ่งความคิด – เป็นการสร้างสรรค์โดยใช้ความรู้ ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ ในที่นี้ไม่ได้รวมถึงแนวความคิดที่ยังไม่ได้มีการกระทำใดๆ

2.มีระดับการสร้างสรรค์ที่เพียงพอ – เป็นงานที่ใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ผลงาน

3.เป็นผลงานที่กฎหมายกำหนด – เป็นที่กฎหมายลิขสิทธิ์ ให้ความคุ้มครองผลงาน ประกอบด้วย วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศน์วัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ

4.ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย – ผลงานที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เช่น สื่อลามก อนาจาร ภาพลามกต่างๆ ทั้งนี้จะพิจารณาจากเจตนาในการนำเสนอ

ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ประกอบด้วย

  1. วรรณกรรม เป็นงานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร บทความ เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือแสดงผล) แต่ไม่รวมถึง คำหรือข้อความประเภทสโลแกน หรือ วลี เช่น “มาม่า อร่อย” เป็นต้น
  1. นาฏกรรม
  2. ศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย
  3. ดนตรีกรรม เช่น ทำนองเพลง หรือเนื้อร้องและทำนองเพลง
  4. โสตทัศน์วัสดุ
  5. ภาพยนตร์
  6. สิ่งบันทึกเสียง เช่น CD เพลง
  7. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์
  8. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ เช่น Body Paint

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะไม่ครอบคลุมถึง

  • ความคิด หรือแนวความคิด
  • ขั้นตอน
  • กรรมวิธีหรือระบบ
  • วิธีการใช้งาน
  • หลักการ
  • การค้นพบ
  • ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ประกอบด้วย

  • ข่าวประจำวันหรือข้อเท็จจริงที่เป็นข่าวสาร ยกเว้นแต่มีการนำเอาข้อมูล มาเรียบเรียงจนมีลักษณะเป็นงานวรรณกรรม อาทิ การวิเคราะห์ข่าว บทความ เป็นต้น
  • รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งของรัฐ หรือหนังสือตอบโต้ของหน่วยงานรัฐ
  • คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัยของศาล หรือรายงานของทางราชการ
  • คำแปล การรวบรวมงานข้างต้น โดยรัฐ กระทรวง กรมหรือหน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่นจัดทำขึ้น

การคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์

สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างผลงาน โดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้น เพื่อ
คุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างสรรค์จึงควรเก็บหลักฐานต่างๆ ที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อผลประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะมีบริการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ โดยการแจ้งนี้ จะยังไม่ถือว่าเป็นการจดทะเบียน และมิได้รับรองว่าผู้แจ้งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ ตามกฎหมายหรือเพิ่มสิทธิให้เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างใด

ประโยชน์ของการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

  1. เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินและการทำธุรกรรมต่างๆ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558
  2. เป็นฐานข้อมูลลิขสิทธิ์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการสืบหาเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
  3. เป็นหลักฐานเบื้องต้นแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดีซึ่งต้องมีการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริงต่อไป

 

อายุการคุ้มครอง

            การคุ้มครองลิขสิทธิ์จะมีผลทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองจะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย แต่มีงานบางประเภทที่จะมีอายุการคุ้มครองแตกต่างกัน ดังนี้

  1. งานสร้างสรรค์โดยบุคคลธรรม หากเป็นงานสร้างสรรค์ เพียงคนเดียว ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับจากผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีที่มีผู้สร้างสรรค์หลายคน ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่กรรม
  2. งานสร้างสรรค์โดยนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
  3. สิ่งบันทึกเสียง/ โสตทัศนวัสดุ/ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
  4. งานศิลปะประยุกต์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 25 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์ขึ้น นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

งานลิขสิทธิ์ที่หมดอายุการคุ้มครอง จะมีสถานะเป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ยกเว้น งานลิขสิทธิ์ที่เป็น

สาธารณะและได้นำไปดัดแปลงอีกครั้ง จึงจะถือว่างานนั้น ยังเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์

บุคคลที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้แก่

  1. ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยความคิดริเริ่มของตนเอง โดยหมายรวมถึงผู้สร้างสรรค์งานร่วมกันด้วย
  2. ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง (เว้นแต่มีหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น)
  3. ผู้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นสร้างสรรค์งาน (เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น)
  4. ผู้ดัดแปลง รวบรวม โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
  5. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น โดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมดูแลของตน
  6. ผู้รับโอนลิขสิทธิ์

สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่ในการกระทำใดๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้

  1. ทำซ้ำ/ดัดแปลง
  2. การเผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน ( เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง)
  4. การอนุญาตในการให้สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง
  5. การโอนหรือการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามข้อ 1-3 โดยกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ และต้องไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม

การละเมิดลิขสิทธิ์ และบทกำหนดโทษ

            การละเมิดลิขสิทธิ์ คือ การกระทำอันใดที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิแของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนี้

 

การละเมิดขั้นต้น

ละเมิดขั้นรอง

ลักษณะ

การกระทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ให้เช่างานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของลิขสิทธิ์

ผู้ละเมิดรู้ หรือ ทราบ หรือมีเหตุอันควรรู้ แต่ยังคงละเมิดหรือหากำไรกับงานที่ละเมิดโดยการขาย ให้เช่า แจกจ่าย เผยแพร่ นำเข้าในงานดังกล่าวอันส่งผลเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์

บทกำหนดโทษ

  • ปรับ 20,000-200,000 บาท
  • กรณีทำเพื่อการค้า จะมีโทษจำคุก 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับ 100,000 – 800,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
  • ปรับ 10,000-100,000 บาท
  • กรณีทำเพื่อการค้า จะมีโทษจำคุก 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

ตัวอย่างการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำ

  • จัดพิมพ์หนังสือเกินจำนวนที่ได้รับอนุญาต
  • นำภาพเขียนของผู้อื่นที่ตนสะสมไว้มาดัดแปลงหรือจัดทำใหม่ เช่น การทำปฏิทิน เป็นต้น
  • การถ่ายเอกสารบทความ/หนังสือ ทั้งเล่ม
  • การแอบถ่าย/บันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์
  • การบันทึกเสียงการบรรยายหรือเสียงเพลงที่ออกอากาศทางวิทยุ
  • การคัดลอกหรือถ่ายเอกสาร แล้วทำตามแบบเอกสาร เช่น แปลนบ้าน เป็นต้น
  • การดาวน์โหลดเพลง/ภาพถ่ายของผู้อื่นมาประกอบงานโฆษณาหรือวีดีโอ

ตัวอย่างของการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลง

  • การแปลตำราต่างประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนของตน
  • การเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงขึ้นมาใหม่
  • การรวบรวมงานเขียน/บทความของผู้อื่น โดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่
  • การนำงานเขียนผู้อื่นมาจัดทำเป็นหนังสือเสียง
  • เปลี่ยนภาพวาดสองมิติ ให้เป็นงานศิลปกรรมสามมิติ
  • นำแบบอาคารของผู้อื่นมาปรับเปลี่ยน แก้ไข เพิ่มเติม

ตัวอย่างการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

  • การแจกจ่ายหรือขายสำเนาแก่สาธารณชน
  • การขับร้องหรือบรรเพลงผู้อื่นให้สาธารณชนฟัง
  • การเปิดเพลงในร้านอาหาร/โรงแรม/ห้างสรรพสินค้า
  • การอ่านบทความของผู้อื่นให้สาธารณชนฟังในที่สาธารณะหรืออ่านออกอากาศ
  • อัพโหลดหรือแชร์ไฟล์เพลง/คลิป/งานอันมีลิขสิทธิ์อื่นๆ บนเว็บไซต์หรือ Social Media

ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์

            ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การกระทำเหล่านี้ แม้เข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากเป็นไปตามข้อยกเว้น ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยการกระทำนั้นต้อง

  • ไม่เป็นการการกระทำที่ขัดด่อการแสวงหาประโยชน์ และ
  • ไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิด และไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ต้องมี

ลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. การวิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  2. การใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
  3. การติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  4. การนำเสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  5. การทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
  6. การทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  7. การทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
  8. การนำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
  9. การทำซ้ำหรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ทั้งนี้ รูปแบบของการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการและองค์กรผู้จัดทำรวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดาเนินการเพื่อทำซ้าหรือดัดแปลงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
  10. การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  11. การทำซ้าโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้านั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากาไร ดังต่อไปนี้คือ การทำซ้าเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น และการทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

เกณฑ์การพิจารณาในการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use)

  1. วัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการใช้งานลิขสิทธิ์
  • ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือหากำไร
  • การใช้งานต้องไม่มีเจตนาทุจริต เช่น การไม่อ้างอิงที่มาหรือแอบอ้างผลงาน
  • เป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์แก่สังคม โดยมีการนำมาปรับเปลี่ยน (Transform) หรือเพิ่มเติมสิ่งใหม่เข้าไป เช่น การคัดลอกอ้างอิง (Quote) ในงานวิจัย เป็นต้น
  1. พิจารณาจากลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์
  • พิจารณาระดับการสร้างสรรค์งาน เช่น งานที่มีระดับการสร้างสรรค์หรือจินตนาการมาก เช่น นิยาย หากผู้อื่นนำไปใช้ก็จะมีแนวโน้มในการใช้งานที่ไม่เป็นธรรม มากกว่า งานลิขสิทธิ์ที่เป็นลักษณะของข้อเท็จจริง
  • การพิจารณาว่าเป็นงานที่มีการโฆษณาแล้วหรือไม่ เนื่องจากงานที่นำมาใช้ยังไม่มีการโฆษณาจะอ้างว่าเป็นการใช้งานที่เป็นธรรมไม่ได้ เนื่องจากงานดังกล่าวเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิในการเลือกได้ว่าจะโฆษณางานของตนเองเมื่อใด
  1. ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำไปใช้เมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมด
  • การนำงานลิขสิทธิ์มาใช้ในปริมาณมาก หรือ หากใช้ในปริมาณน้อยแต่เป็นส่วนสาระสำคัญ ก็ถือว่าเป็นการใช้งานที่ไม่เป็นธรรม
  1. ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์
  • การใช้งานลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น ต้องไม่มีผลกระทบให้งานของเจ้าของลิขสิทธิ์ขายไม่ได้ หรือถ้าไม่มีผลกระทบหรือมีเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะถือว่า เป็นการใช้งานที่เป็นธรรมได้

การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 32, 33 และ 34 กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ ดังนี้

  1. การวิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  2. การทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
  3. การนำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
  4. การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  5. การทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงานหรือตัดทอน หรือทำสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแจกจ่ายในชั้นเรียนแก่ผู้เรียนหรือในสถาบันการศึกษาแก่นักศึกษาจำนวนจำกัด เพื่อใช้อ่านเตรียมการสอน

แนวทางการกระทำที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น

  1. คิดหรือสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง
  2. ใช้งานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ หรือหมดอายุ หรืองานที่เจ้าของสละสิทธิ์
  3. ใช้งานลิขสิทธิ์ที่เจ้าของเจตนาให้ใช้สิทธิ (Creative Common)
  4. ใช้งานลิขสิทธิ์ภายใต้หลักยกเว้น
  5. การขออนุญาต

หัวข้อที่ 2 แนวทางการเตรียมต้นฉบับผลงานเพื่อยื่นเสนอขอตีพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยากร : ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล

ภารกิจของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล

  • การจัดทำตำรา/หนังสือที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
  • สนับสนุนการสร้างผลงานเพื่อความก้าวหน้าของอาจารย์และนักวิจัย
  • เผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมในรูปแบบหนังสือ/ตำรา

ผู้มีสิทธิ์ในการเสนอต้นฉบับผลงาน

  • บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน

ประเภทและลักษณะของผลงานสร้างสรรค์

  1. ฉบับวิชาการ
    • เป็นเอกสารเพื่อการศึกษาค้นคว้าเฉพาะทาง
    • สะท้อนความสามารถในการถ่ายทอดวิชา
    • เผยแพร่องค์ความรู้เชิงลึกหรือความรู้จากงานวิจัย
    • เรียบเรียงอย่างเป็นระบบด้วยภาษาวิชาการ
    • ครอบคลุมเนื้อหาสาระของวิชาหรือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนระดับมหาวิทยาลัย
  2. ฉบับประชาชน
    • เป็นเอกสารเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
    • เรียบเรียงด้วยภาษาเข้าใจง่าย
    • สร้างเสริมปัญญาความคิด
    • มีสาระที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน

ขั้นการผลิตหนังสือ/ตำราของสำนักพิมพ์

  1. การสร้างสรรค์ผลงาน
    • ลักษณะของเนื้อหาที่นำเสนอ ควรมีรูปแบบ ดังนี้
    • มีสาระสำคัญและองค์ความรู้ที่จะส่งต่อแก่ผู้อ่าน
    • ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้อง
    • แบ่งบทเพื่อย่อยเนื้อหา
    • อธิบายตามลำดับขั้น จากพื้นฐานสู่เชิงลึก
    • วิเคราะห์และสรุปตรงประเด็น
    • ข้อมูลถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
    • มีภาพประกอบ ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษา
    • ไม่ผิดกฎหมาย ศีลธรรม ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่คัดลอก (Plagiarism)
    • ข้อคำนึงในการเขียน
    • หลีกเลี่ยงภาษาพูด
    • หลีกเลี่ยงการเขียนที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ
    • หน่วยวัด คำย่อ คำศัพท์ ศัพท์บัญญัติ ควรเลือกใช้คำเดียวกันทั้งเล่ม
    • หลักภาษา ตัวสะกด เครื่องหมายวรรคตอน คำย่อ การทับศัพท์ ศัพท์บัญญัติควรยึดหลักราชบัณฑิตยสภา
    • เขียนกระชับ ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย
    • ลิขสิทธิ์ภาพ
    • ควรเป็นภาพที่วาด ถ่าย ทำขึ้นด้วยตนเองไม่ใช้ผลงานผู้อื่น
    • ต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
    • กรณีเป็นภาพที่เผยแพร่มาแล้ว ควรมีการติดต่อสำนักพิมพ์/วารสาร เพื่อรับทราบเงื่อนไขการใช้ซ้ำ และแสดงเอกสารยินยอมที่ระบุว่าให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ได่
    • กรณีว่าจ้างบุคคลถ่ายภาพหรือจัดทำภาพประกอบ ต้องแสดงหลักฐานสัญญาจ้าง ที่ระบุวัตถุประสงค์การใช้งาน
    • กรณีการซื้อภาพจากเว็บไซต์ ต้องแสดงหลักฐานการซื้อ ที่ระบุว่าสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
    • ภาพถ่าย/ภาพประกอบ/เพลง ที่เป็นผลงานของผู้อื่น ต้องมีเอกสารยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ระบุว่าสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
    • เอกสารยินยอม ควรมีการระบุ ผู้ขออนุญาต (ชื่อผู้สร้างสรรค์ ตำแหน่ง สังกัด) วัตถุประสงค์ว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด
    • การขออนุญาตใช้ผลงานลิขสิทธิ์ทั้งหมดที่ปรากฏในหนังสือ/ตำราเป็นความรับผิดชอบของผู้สร้างสรรค์
    • ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในผลงานลิขสิทธิ์ (ถ้ามี)
    • กรณีมีผู้สร้างสรรค์หลายคน บรรณาธิการเล่ม มีหน้าที่ชี้แจ้ง กำกับให้ทุกคนปฏิบัติตามแนวทางการขออนุญาตใช้ผลงานลิขสิทธิ์
    • ข้อมูลส่วนบุคคล
    • กรณีภาพถ่ายบุคคล หากมีสิ่งบ่งชี้ที่ระบุตัวตนได้หรือเห็นใบหน้า ต้องมีการขออนุญาตบุคคลนั้นก่อนนำไปใช้งาน โดยมีการแสดงเอกสารยินยอม (Consent Form) เหมือนการระบุการขออนุญาตลิขสิทธิ์
    • ไม่ควรปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลในภาพ เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเกิด เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว เช่น ศาสนา ข้อมูลสุขภาพ ซึ่งอาจกระทบต่อเจ้าของข้อมูล
  2. การเสนอต้นฉบับ
    • ต้นฉบับที่นำเสนอ ควรมีองค์ประกอบ ดังนี้
    • ชื่อผลงาน/ชื่อหนังสือ (ควรครอบคลุมเนื้อหา สื่อความหมายชัดเจนและน่าสนใจ)
    • ชื่อผู้สร้างสรรค์
    • คำนิยม
    • คำนำ
    • คำขอบคุณ
    • สารบัญเนื้อหา
    • สารบัญภาพ
    • สารบัญตาราง
    • เนื้อหา
    • เอกสารอ้างอิง/บรรณานุกรม
    • ดัชนี (Index)
    • ประวัติผู้สร้างสรรค์
    • อื่นๆ เช่น ตัวย่อหรือสัญลักษณ์ อภิธานศัพท์ ภาคผนวก
    • รูปแบบของต้นฉบับที่ส่งสำนักพิมพ์
    • ใช้ฟอนต์ TH Sarabun PSK ขนาด 16 พิมพ์สีลงกระดาษ A4 จำนวน 4 ชุด ไม่เย็บเล่ม
    • ไฟล์ต้นฉบับเป็น pdf หรือ Word
    • ภาพประกอบควรมีความละเอียด 300 dpi โดยแยกเป็นบทและบีบอัดเป็นไฟล์ zip หรือ rar
    • แบบคำขอเสนอผลงานสร้างสรรค์ (PN01)
      • ระบุรูปแบบผลงาน ว่าต้องการเผยแพร่เป็น E-Book เท่านั้น หรือ E-Book และ Print on demand
      • กรณีที่มีผู้สร้างสรรค์หลายคน ต้องระบุสัดส่วนการเขียนของแต่ละคน และลงนาม
      • ลิขสิทธิ์ในผลงานเป็นของมหาวิทยาลัยฯ ในระหว่างนำเสนอผลงานให้สำนักพิมพ์ฯ พิจารณา โดยผู้สร้างสรรค์จะไม่เสนอผลงานนี้กับสำนักพิมพ์อื่น
      • ผู้สร้างสรรค์ต้องตรวจสอบความครบถ้วนของส่วนประกอบทั้งหมดก่อนส่งสำนักพิมพ์ฯ พิจารณา หรือรับรองว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
    • แบบยืนยันลิขสิทธิ์ภาพ (PN02)
      • ต้องยืนยันว่าภาพประกอบทั้งหมดไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
      • มีหลักฐานระบุหรือเอกสารยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในการใช้งานเชิงพาณิชย์
      • ภาพบุคคล ต้องมีเอกสารได้รับความยินยอมจากบุคคลในภาพในการใช้งานเชิงพาณิชย์
  1. พิจารณาต้นฉบับ ประกอบด้วย
    • การตรวจเอกสารและพิจารณาเบื้องต้น เพื่อดูความครบถ้วน ถูกต้องของต้นฉบับ แบบฟอร์ม และเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงความเหมาะสมของเนื้อหา (ใช้เวลา 2 สัปดาห์)
    • การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาวิชาการ และพิจารณาความเหมาะสมในการตีพิมพ์ (ใช้เวลาภายใน 1 เดือน)
    • ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตรวจสอบต้นฉบับ และให้คำแนะนำหากมีการแก้ไขเพื่อส่งมาพิจารณาใหม่ รวมถึงดำเนินการพิสูจน์อักษร ครั้งที่ 1 หลังจากการแก้ไขและพิสูจน์อักษรก็จะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเขียนคำนิยม พร้อมให้ผู้สร้างสรรค์ระบุแบบฟอร์มยืนยันรูปแบบเนื้อหา (PN03) เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดหน้า (ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน)
  1. การจัดหน้าและออกแบบ
    • สำนักพิมพ์ดำเนินการจัดหน้า ออกแบบปก และพิสูจน์อักษร ครั้งที่ 2 โดยการจัดหน้าจะเป็นไปตามรูปแบบของสำนักพิมพ์ ส่วนการออกแบบปก ผู้สร้างสรรค์สามารถเสนอแนะกับสำนักพิมพ์ได้ โดยหลังจากพิสูจน์อักษร ครั้งที่ 2 แล้ว สำนักพิมพ์ จะส่งไฟล์ Artwork ของหนังสือเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์พิจารณา (ระยะเวลาภายใน 2 เดือน)
  2. การพิมพ์และเผยแพร่
    • ผลิตหนังสือ เผยแพร่ E-Book โดยหลังจากผู้สร้างสรรค์ตรวจ Artwork ของหนังสือครั้งสุดท้ายแล้ว ผู้แต่งจะต้องจัดทำดัชนีโดยระบุเลขหน้าตามไฟล์ Artwork ส่งให้สำนักพิมพ์ พร้อมแจ้งจำนวนเล่มหนังสือที่ต้องการจัดพิมพ์ที่แน่นอน รวมถึงวัตถุประสงค์การแต่งตำรา (ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์)

สำนักพิมพ์ออกเอกสารรับรองการตีพิมพ์ผลงานในนามสำนักพิมพ์ฯ (ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์)