ชื่อโครงการ/กิจกรรม
โครงการส่งเสริมการอ่านเชิงรุก กิจกรรม “MUSC: Read for Life”
หลักการและเหตุผล
คนไทยมักจะเคยชินกับข้อมูลที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย ซึ่งเป็นความเคยชินที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง แม้คนส่วนใหญ่จะทราบกันดีว่าการอ่านหนังสือคือวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมความรู้ เพิ่มพูนปัญญา สร้างโอกาสให้แก่ตนเอง แต่คนไทยโดยส่วนใหญ่กลับยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเท่าที่ควร จากข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยให้เวลากับการอ่านหนังสือเพียงวันละ 39 นาที หรือคนไทยอ่านหนังโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 2-5 เล่มเท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มีสถิติการอ่านต่อปีมากกว่าคนไทยถึงกว่า 10 เท่า
จากปัญหาสภาวะการอ่านที่เข้าขั้นวิกฤต ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยจึงประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และประกาศให้ปี พ.ศ. 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศไทย เพื่อเป็นการรณรงค์ ปลุกจิตสำนึก ให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาตนแล้วยังส่งผลถึงพัฒนาการของสังคมไทยที่มีประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญ ประกอบกับในปี พ.ศ. 2556 กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกและสถาบันเกี่ยวกับวงการสิ่งพิมพ์และห้องสมุดระดับสากล ให้เป็น “เมืองหนังสือโลก: World Book Capital” ซึ่งเป็นการมอบโอกาสให้เมืองที่มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการอ่าน และเป็นพันธสัญญาที่ชาวไทยต้องช่วยกันส่งเสริมให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมของคนไทยในระยะยาวต่อไป
อนึ่ง ภาระดังกล่าวนับเป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งของห้องสมุดเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในสังคมไทย โดยเริ่มต้นจากสังคมภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยตนเองและส่งเสริมการอ่าน จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการอ่าน “MUSC: Read for Life” ในวันที่ 26-28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ภายในบริเวณห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์
- เพื่อร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้นภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เพื่อสนับสนุนพันธกิจของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในการส่งเสริมการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์
- เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้พิจารณาตัวเล่มหนังสือโดยตรง ก่อนตัดสินใจเสนอซื้อเข้าห้องสมุดและ นักศึกษาได้คัดเลือกหนังสือเพื่อใช้ประกอบการเรียนสำหรับภาคการศึกษาใหม่
ลักษณะโครงการ ( ) โครงการต่อเนื่อง ( √ ) โครงการใหม่
หน่วยงานที่รับผิดชอบ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โทรศัพท์ติดต่อ 0 2201 5725-27
รูปแบบของกิจกรรม / วิธีการดำเนินกิจกรรม (ถ้ามี)
กิจกรรมที่ 1 Book Talk เสวนาเปิดโลกทัศน์การอ่าน “จากตัวอักษรสู่บทละคร ...สุภาพบุรุษจุฑาเทพ”
ร่วมสนทนากับ คุณฉัตรารัศมิ์ แก้วมรกต (ร่มแก้ว) ผู้ประพันธ์ คุณชายปวรรุจ คุณมนต์ชัย ศิริลัทพร (ซ่อนกลิ่น) ผู้ประพันธ์ คุณชายรัชชานนท์
กิจกรรมที่ 2 นิทรรศการ Science books have changed the world
เป็นนิทรรศการแสดงรายการหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งในฐานะที่เป็น สถาบันที่มีการเรียนการสอนและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ จึงควรมีการส่งเสริมให้บุคลากร ของคณะฯ เห็นถึงความสำคัญและหาโอกาสอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมคณะวิทยาศาสตร์
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรม Book Share
เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสในการแบ่งปันหนังสือมือสองให้กับผู้อื่นที่สนใจ เป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึง หนังสือดีที่มีคุณค่าแก่บุคคลอื่น โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำหนังสือเล่มที่สนใจกลับไปได้โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งหนังสือที่นำมาเข้าร่วมกิจกรรม ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ศูนย์รับบริจาคหนังสือและวารสาร ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จากหน่วยงานหรือบุคคลผู้ให้ความอนุเคราะห์ รวมถึงอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของคณะฯ
กิจกรรมที่ 4 งานออกร้านจำหน่ายหนังสือ “Mini-BookFair”
เป็นการออกร้านจำหน่ายหนังสือ เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษา ได้คัดเลือกหนังสือที่นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนและการวิจัย ในภาคการศึกษาใหม่ เพิ่มเติมหนังสือในสาขาวิชาที่ยังขาดแคลน เป็นการเพิ่มความหลากหลายของประเภทหนังสือที่มีให้บริการภายในห้องสมุด นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อหนังสือได้ในราคาลดพิเศษ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวน5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์หนังสือจุฬา บริษัท พี.บี. ฟอร์ บุ๊คส์ (ปทุมธานี) จำกัด สำนักพิมพ์บุ๊คเน็ตสำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์
>>ดาวน์โหลดโครงการ<<
|