หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

 

ดร.ไกร มีมล

อาจารย์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีครับ ผม อาจารย์ไกร มีมล จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มีหนังสือที่น่าสนใจอยู่เล่มนึงนะครับคือ "Endless forms Most Beautiful : ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการชีวิต” เขียนโดย Prof. Sean B.Carroll เป็นหนังสือเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

แต่ก่อนเราทราบกันว่า ยีนนี่มันจะถอดรหัสให้เป็นโปรตีน แล้วโปรตีนก็จะถูกสร้างและแสดงออกในเนื้อเยื่อที่แตกต่างกัน ทีนี้เราก็แปลกใจว่า ทำไมยีนที่เกิดขึ้นเนี่ย ... อย่างคนก็แล้วกัน คนก็จะประกอบด้วยเซลล์ใช่มั้ยครับ ในเซลล์ก็จะมี DNA ซึ่ง DNA ในเซลล์แต่ละเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมันก็จะเหมือนกัน แต่ว่าทำไมเซลล์แต่ละเซลล์มันมีโครงสร้าง หรือว่าอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันได้ และก็มีการแสดงออกของยีนที่แตกต่างกันด้วย เช่น เซลล์ที่อยู่ในดวงตาก็จะสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น หรือเซลล์ในแขน ขา หัวใจ มันก็จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนอีกกลุ่มนึงที่แตกต่างกัน ทีนี้ตัวเซลล์แต่ละเซลล์มันทำได้ยังไง หนังสือเล่มนี้ก็จะอธิบายให้เห็นว่า ในส่วนของยีนที่มันเหมือนกันในแต่ละเซลล์ แต่ว่ามันแสดงออกได้แตกต่างกันในแต่ละที่ นั้นทำได้ยังไง

ตามที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า DNA ในคนกับในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั้น มียีนที่ทำหน้าที่ถอดรหัสเป็นโปรตีนอยู่ในจำนวนที่เท่าๆ กัน ในของคนเองจะมีประมาณ 20,000 ยีน ที่แสดงออกมา ของสัตว์เองก็เหมือนกัน ประมาณ 15,000 - 20,000 ยีน แต่ทำไมคนกับสัตว์ถึงได้แตกต่างกันมากขนาดนั้น หนังสือเล่มนี้ก็จะพูดถึง ส่วนของยีนที่เรียกว่า Noncoding ซึ่งไม่ได้ถอดรหัส ของคนจะมีกลุ่มของยีนพวกนี้มากกว่าสัตว์ ฉะนั้นส่วนของยีนนี้เองที่ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยีนต่างๆของร่างกายจะถูกควบคุมเป็นลำดับขั้น ยีนบางยีนจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของยีนตัวอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น คนเราเกิดมาจากเซลล์ๆเดียวใช่ไหมครับ เซลล์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิสนธิ แล้วก็มีการแบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันยีนและโปรตีนกลุ่มแรกๆ ก็จะถูกสร้างขึ้น โปรตีนกลุ่มแรกๆเหล่านี้ บางตัวก็จะทำหน้าที่ในการควบคุมการถอดรหัสของยีนกลุ่มอื่นๆที่เกิดขึ้นภายหลังด้วย ความซับซ้อนของการควบคุมการถอดรหัสของยีนกลุ่มหลังเหล่านี้แหล่ะ ที่ทำให้คนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีความแตกต่างกัน ... นี่ผมอาจจะสื่อความได้ไม่ชัดเจนมากนะ แต่ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราก็จะมองเห็นภาพที่กว้างขึ้น และทำให้เข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้น

สมัยก่อนตอนเรียน ภาพแต่ละภาพที่สมัยเราเรียนที่ห้องเล็คเชอร์เนี่ย มันจะกระจัดกระจาย แต่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอในมุมมองที่ต่อเนื่องกัน ทำให้เราเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นลำดับขึ้น และเข้าใจว่า คนเราทำไมมีแขนสองแขน ทำไมไม่มีสี่แขน ทำไมไม่มีขาสี่ขา อย่างนี้เป็นต้นน่ะครับ หนังสือเล่มนี้ก็จะเหมาะกับคนที่สนใจในเรื่องของพัฒนาการและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษาทั่วไป รวมทั้งบุคคลทั่วๆ ไป ที่มีความสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและการเข้าใจธรรมชาติ เขาพยายามใช้คำที่สื่อความหมายง่ายๆ ไม่พยายามลงรายละเอียดมาก ในเชิงที่เราสามารถมองเห็นภาพได้ แต่คนอ่านอาจจะต้องมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์เล็กน้อยว่า DNA คืออะไร RNA คืออะไร

นอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้แล้วก็ยังมีหนังสือเล่มอื่นอีกที่เกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ และจัดทำเป็น Science Series ซึ่งเป็นของสำนักพิมพ์มติชนครับ