เล่มโปรดของผมนะครับ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า เป็นนิยายจีนแต่งโดย กิมย้ง เรื่องนี้มีตัวละครเยอะแล้วก็หลากหลาย แต่ละคนก็จะมีบุคลิกของตัวเอง
ซึ่งมันสะท้อนและสามารถเอามาเปรียบเทียบได้กับสถานการณ์ปัจจุบันหรือจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ได้
เพราะในสังคมเราก็จะมีคนที่หลากหลายรวมอยู่ด้วยกัน ข้อคิดต่างๆ ในนิยายเราก็เอามาใช้กับชีวิตเราได้เหมือนกัน
ตัวละครอย่าง เซียวฟง เป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำ
ตั้งใจที่จะทำ อย่างบุกเข้าไปเส้าหลิน ไม่ได้แคร์ใครเลย รู้ว่าไปก็อาจจะไม่รอดแต่ก็ยังไป
แสดงถึงความกล้าหาญแน่วแน่ในการตัดสินใจ คือถ้าคิดว่ามันเป็นประโยชน์ก็แน่วแน่ที่จะทำ
โดยไม่แคร์ถึงตัวแปรอื่นๆ ถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องเค้าก็จะทำ
แนวคิดของตัวละครตัวนี้ก็ช่วยสอนเราได้ อย่างบางทีเวลาเราจะทำอะไรก็ตามมักจะเจออุปสรรคเยอะแยะไปหมด
ถ้าเราคิดว่าเรามันถูกต้องและควรทำแล้วเราตั้งใจจริงที่จะทำ ที่สุดแล้วมันก็จะทำได้
เรื่องอื่นที่ชอบก็มี กระบี่เย้ยยุทธจักร ของ กิมย้ง เหมือนกัน มันสะท้อนภาพเหมือนนักการเมืองในปัจจุบัน สำนักต่างๆ ในเรื่องนี่เหมือนพรรคการเมืองเลย
สำนักต่างๆ จะยึดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง นิยายเรื่องนี้ผมว่าดีนะ
อยากให้นักศึกษาได้อ่านแล้วเอาไปเป็นคติ มันเป็นการคิดแบบนอกกรอบ
พระเอกนี่คือ เล้งฮู้ชง จะเป็นคนอยู่นอกกรอบในขณะที่คนอื่นจะวนเวียนอยู่กับการแย่งชิงอำนาจเละเทะไปหมด
แต่พระเอกไม่สนใจ ชั้นจะทำในสิ่งที่ชั้นคิดว่าถูกต้องและไม่โอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ในเรื่องนี้จะมีฝ่ายธรรมะกับอธรรม จะตีเส้นไว้เลยนะว่าใครเป็นฝ่ายไหน
แต่จริงๆ แล้วในโลกของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างเธอสีนี้ เธอสีนั้น
ผมว่ามันไม่ใช่ มันต้องดูกันที่เหตุผล อย่างในเรื่องนี้บางคนอยู่ฝ่ายอธรรมก็จริง
แต่บางเรื่องที่เค้าทำก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง พระเอกจึงกล้าที่จะมาสนับสนุนคนที่อยู่ฝ่ายอธรรม
คนฝ่ายธรรมะจึงมองว่าพระเอกเป็นพวกนอกรีต ฝ่ายธรรมะบางคนก็ทำชั่วเหมือนกัน
มันก็เป็นการตั้งคำถามว่า อ้าว...แล้วเค้าทำถูกเหรอ เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเป็นอยู่
ถ้าเราลองถอยออกมาแล้วมองในอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะเห็นภาพต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น
อย่างนักศึกษาเนี่ย เวลาเค้ามองปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม
ถ้าเค้าหมกมุ่นกับปัญหา วงที่เค้ามองเห็นก็จะอยู่แค่ตรงนั้น มองไม่เห็นทางแก้
แต่ถ้าลองถอยออกมาซักนิดนึงแล้วค่อยมอง เค้าอาจจะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาทางอื่นเพิ่มเติม
ผมอยากให้อ่านหนังสือกันเยอะๆ เด็กสมัยนี้ผมว่าอ่านเยอะ แต่กลับอ่านวรรณกรรมไม่เยอะ
ที่ว่าอ่านเยอะคืออ่านเฟซบุ๊ค อ่านอะไรที่อยู่บนหน้าจอ ไม่ได้ว่ามันไม่ดีนะ
แต่ว่ามันไม่ได้มีการกลั่นกรองและร้อยเรียง แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมมันจะมีการร้อยเรียง
แล้วเค้าจะได้ความรู้ซึมซับเข้าไป เราต้องเริ่มต้นว่าจะส่งเสริมให้รักการอ่านกันได้อย่างไร
คืออ่านแล้วต้องสนุก ไม่ใช่อ่านเพื่อสอบ สอบเสร็จก็ลืมหมดเลย อย่างผมนี่เจออะไรก็อ่าน
เจอร้านหนังสือนี่ก็ต้องเข้าไปแล้ว รู้สึกว่ามันดึงดูดเรา แต่ถ้าเค้าจะเริ่มจากอินเทอร์เน็ตก็ได้นะ
ที่จริงก็มีอะไรดีๆ ให้อ่านในเน็ตเยอะแยะ อย่าง ไวท์โร้ด นี่ก็โด่งดังมาจากอินเทอร์เน็ตแล้วก็มาตีพิมพ์เป็นเล่ม
หรือจะอ่านการ์ตูนก็ยังได้ มีเยอะเลยที่มีสาระแฝง นิยายจีนที่ผมว่านี่ก็มีออกเป็นการ์ตูน
บางทีหนังสือนิยายนี่ เปิดมาแล้วตัวหนังสือเยอะเลย แปดเทพอสูรมังกรฟ้านี่ตั้ง
4-5 เล่ม เค้าอาจจะไม่อยากอ่าน แต่ถ้าลองเริ่มจากการ์ตูนหรือดูหนังก็ได้
ก็จะเกิดแรงบันดาลใจว่าในหนังสือมันเป็นยังไง ผมเชื่อว่าถ้าเค้ามาลองอ่านนี่
สมมุติเริ่มจากการ์ตูนก็ได้แล้วมาอ่านนิยาย จะรู้เลยว่านิยายมันจะลุ่มลึกกว่า
สามก๊กนี่ผมก็อ่านเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยชอบสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง
เพราะมันคงโบราณเกินไป ถ้า น.นพรัตน์ เอามาทำใหม่ก็อาจจะชอบ สามก๊กนี่มีคนเอามาดัดแปลงต่อเยอะ
อย่างเป็นการ์ตูนก็แต่งต่อเพิ่มเติมกันไป มันก็จะหลากหลาย เป็นเรื่องที่ดีนะ
ประวัติศาสตร์จีนมันก็จะแฝงไว้ในนิยาย บางทีนี่อ่านจนอาจจะรู้ประวัติศาสตร์จีนมากกว่าคนจีนบางคนซะอีก
เพราะก็เหมือนคนไทยนี่แหละที่เกลียดประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเราสนใจนิยายจีนเราก็จะสนใจประวัติศาสตร์ตาม
เพราะนิยายจีนมันจะอิงประวัติศาสตร์ อย่างแปดเทพอสูรมังกรฟ้าก็จะมีส่วนที่อิงประวัติศาสตร์เป็นยุคๆ
ไป ตอนนี้มีการ์ตูนออกมาเป็นตำนานจักรพรรดิ ออกมา 5 ภาคแล้ว มีตั้งแต่ยุคจิ๋นซี
เล่าปัง จ้าวควงอิน ไล่ลำดับเป็นยุคมาเหมือนบ้านเรา แต่บ้านเราประวัติศาสตร์มันสั้นกว่าเค้า
ถ้าให้สนุกและน่าติดตามบางทีมันก็ต้องใส่ดราม่าเข้าไป ไม่งั้นก็น่าเบื่อ |