|
|
ดร.
ชุติมา เจียรพินิจนันท์
อาจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
สมัยก่อนตอนเป็นเด็กนะ
พ่อกับแม่จะซื้อพวกการ์ตูนความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เอาไว้เยอะเลย
แล้วเค้าก็เอาไปวางไว้แม้กระทั่งในห้องน้ำด้วย คือจะได้มีอะไรหยิบมาอ่าน
เค้าจะพยายามเอาหนังสือไว้รอบตัวเรา ก็ถูกส่งเสริมให้รักการอ่านมาแต่เด็ก
เลยอ่านหนังสือเยอะพอสมควรนะ นิยายก็อ่าน การ์ตูนก็อ่าน paper ก็อ่าน
แต่ในเวลาว่างแล้วเล่มโปรดคือ ของขวัญวันวาน ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นเรื่องราวของเด็กคนนึงที่ไปค้นเจอกล่องของขวัญของแม่ เนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องเล่าสมัยเก่าๆ
ของแม่ของเด็กคนนี้ ว่าชีวิตแม่เค้าเป็นยังไง น่ารักดี คนเขียนจะถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครได้ดี
มีการพัฒนาของตัวละคร ชีวิตของตัวนางเอก พระเอก ตัวนางเอกนี่จะประเภท
average มาก ไม่ได้เป็นแบบนางเอกหนังไทย ที่ไม่เด่นไปเลยก็ชีวิตรันทดมาก
ตัวนางเอกเค้ามีปมด้อยอยู่บ้าง เพราะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับพี่สาว
ที่เด่นมากในแทบทุกด้าน ในเรื่องตัวนางเอกจะเรียนก็ไม่ค่อยเก่ง สอบไม่ติด
พ่อแม่ก็เลยส่งไปอยู่เมืองนอกเพื่อจะได้ให้พัฒนาตัวเอง ส่วนพี่สาวจะเรียนเก่ง
เด่นในแทบทุกด้าน มีความรับผิดชอบสูง พ่อแม่เลยส่งอยู่กับน้องเพื่อดูแล
ด้วยความที่พี่สาวเก่ง พ่อแม่จึงไม่ค่อยห่วงมาก แต่นั่นก็ทำให้พี่สาวเปรียบเทียบตัวเองกับน้องสาวด้านนี้เลยทำให้ขาดความอบอุ่น
หนังสือเล่มนี้จะเน้นที่พัฒนาการของตัวละครค่อนข้างมาก ถ้าอ่านผ่าน
ๆ ก็ให้ความรอยยิ้ม บันเทิงดี แต่ถ้าอ่านดีๆ ก็สะท้อนข้อคิดหลายๆอย่าง
เช่นคนโดยทั่วไปมักจะเห็นแต่จุดด้อยของตัวเอง แต่กลับมองไม่เห็นจุดเด่นของตัวเอง
ซึ่งคนอื่นเค้าจะเห็นจุดเด่นของเรา คืออย่างน้อยคนอื่นก็ไม่ได้ focus
แค่จุดด้อยของเรามากเท่าเรามองตัวเราเอง ในเรื่องก็แสดงถึงการพัฒนาตนเองของนางเอก
ที่เริ่มต้นด้วยการยอมรับในจุดด้อยของตัวเอง มันก็จะเกิดการพัฒนาตัวเองมากขึ้น
แต่ หลายครั้งเราชอบคิดไปก่อนว่าทำไม่ได้หรอก ทั้งที่ยังไม่ได้ลอง
เรามักจะคิดแต่ข้อด้อยของเรา แล้วก็หยุดที่การยอมรับ ไม่ได้ก้าวต่อ
อีกเล่มหนึ่งที่ชอบคือ กฎแห่งกระจก
(A Rule of a Mirror) เป็นหนังสือแปลของญี่ปุ่นเขียนโดย โยชิโนริ โนงุ จิ เค้าเขียนโฆษณาว่า 9 ใน 10 คนอ่านแล้วจะร้องไห้ พอเราอ่าน ตั้งใจนะว่าจะไม่ร้อง แล้วก็ร้องจริงๆ เป็นเรื่องของผู้หญิงคนนึงที่กำลังมีปัญหากับลูก
คือลูกไม่กล้าพูดถึงปัญหา ไม่ยอมเปิดใจกับเค้า แล้วเค้าก็กลับมาย้อนดูตัวเองก็พบว่า
ในอดีตตัวเค้าเองก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้กับพ่อและแม่ แต่ก็อัดอั้น
เก็บกดมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็กลับไปสะสางปมที่คาใจ ไม่ได้ให้อภัย
จึงเริ่มจากกลับไปขอโทษพ่อกับแม่ ขอบคุณพ่อแม่ ซึ่งก็สะท้อนความเป็นจริงในสังคมนะ
พูดจริงๆแล้วมันมีบ้างแหละ ที่ลูกกับพ่อกับแม่ที่มีความคิดไม่ตรงกัน
แต่โดยวัฒนธรรมคนไทยเรามักจะไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ พ่อแม่ว่ายังไงเราก็ว่าตาม
ในขณะที่ในใจเรากลับคิดไปอีกแบบนึง ซึ่งถ้ามันสะสมไปเรื่อยๆ มันก็จะเก็บกด
ทำทั้งที่ใจไม่เห็นด้วย กลายเป็นไม่พูดไม่คุยกันเพราะเห็นแตกต่างกัน
ความจริงพ่อแม่น่ะไม่ได้คิดหรอกว่าเขาอาจจะทำให้ลูกจะรู้สึกแย่ หรือไม่ได้คิดไกลไปถึงว่าลูกจะไม่เห็นด้วย
ด้วยความที่รักและอยากสอนสั่ง ถ่ายทอดประสบการณ์ แต่ด้วยความที่ไม่กล้าเปิดอกคุยกันในครอบครัวนี่แหละ
จึงทำให้เกิดปัญหา ปัญหาแบบนี้มันก็ถูกถ่ายทอดต่อไปเป็นลูกโซ่ อย่างในเรื่องนี้ก็คือลูกของตัวละครก็เป็นเหมือนตัวเขาเองในอดีต
สุดท้ายมันต้องแก้ปัญหาโดยเริ่มจากย้อนกลับไปมองตนเอง ให้อภัยกับสิ่งที่เป็นปมในใจ
เป็นเรื่องที่น่าสนใจดีคะ อย่างน้อยก็ควรลองอ่านว่าจะเป็น 1 ใน 10
ที่จะไม่ร้องไห้รึเปล่า
|
|