หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

 

ศ.ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ

ภาควิชาสรีรวิทยา และเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เป็นคนที่อ่านหนังสือหลายประเภทมาก ชอบอ่านมาแต่เด็ก ได้นิสัยรักการอ่านตั้งแต่ตอนไปเรียนที่อังกฤษ แต่ก่อนจะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาหนักๆ หน่อย แนวดราม่า หนังสือที่ได้รางวัลพวก Man Booker Prize จะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษนะคะ ไม่ค่อยได้อ่านภาษาไทย อ่านทั้ง magazine อย่างพวก Time, Newsweek, National Geographic จะอ่านตลอด subscribe ไว้หลายชื่อ ดังนั้นเลยมีเวลาน้อยสำหรับอ่านหนังสือ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเวลาอ่านเลย อ่านได้ประมาณ 5-6 เล่มต่อปี ก็จะเป็น paperback ซะส่วนมาก มีนักเขียนที่ตามเสมอ อ่านทุกเล่ม เป็นพวกหนังสืออ่านเล่น อ่านแล้วสบายใจ เป็น adventure หน่อยๆ คนเขียนชื่อ Wibur Smith เค้าเป็นชาวแอฟริกาใต้ แต่ก่อนเขาจะเขียนแนวผจญภัยในแอฟริกา แต่ว่ามีเนื้อหาอย่างอื่นเข้าไปด้วย เช่น Spy หรือสงคราม มีแบ๊คกราวนด์ในแอฟริกาใต้ ช่วงหลังเขาจะเปลี่ยนแนวไปเลย เขียนเกี่ยวกับอียิปต์ชื่อ River God ออกมาประมาณซัก 5 ปีที่แล้ว สนุกมาก เป็นเรื่องในสมัยอียิปต์โบราณ เขาทำ research ไว้ดีมาก เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของอียิปต์เยอะ เป็นเล่มหนึ่งที่เขียนดีมากๆ

อีกคนหนึ่งคือ Ken Follett สมัยก่อนเขาจะเขียนเรื่องตื่นเต้น สืบสวน สายลับ แต่สองเล่มหลังเริ่มเปลี่ยนแนวมาเป็นเรื่องประวัติศาสตร์อังกฤษ ในสมัยที่อังกฤษยังไม่เจริญ เรื่อง The Pillars of the Earth อันนี้เขียนได้เยี่ยมยอดมาก ถือว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยอ่านมา เพราะอ่านแล้วเห็นภาพของคนอังกฤษในสมัยก่อน การก้าวขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มต่างๆ มีเล่มที่ต่อกันมาอีกเรื่อง คือ World without End เป็นนิยายประวัติศาสตร์อังกฤษเหมือนกัน

อีกคนหนึ่งเป็นนักเขียนชาวอินเดีย แต่เขาไปเรียนที่ฝั่งตะวันตก เป็น Author ที่เขียนไว้หลายเรื่องมาก ชื่อ Arovind Adiaga เขียนเรื่อง White Tiger จริงๆ มันไม่เกี่ยวกับเสือเลย แต่เป็นชีวิตการต่อสู้ของคน มีคนอินเดียที่เขียนหนังสือดีๆ เยอะมาก คนญี่ปุ่นก็มีนักเขียนดีๆ เยอะ อย่าง Kazuo Ishiguro คนนี้เขียน Remain of the Day ที่เคยถูกเอาทำหนัง คนเขียนนี่ยังหนุ่มอยู่เลย อีกคนชื่อ Haruki Murakami เขียนเรื่อง Norwegian Wood ตอนนี้ก็ถูกเอามาทำเป็นหนังแล้วด้วย เล่มนี้ดีมากๆ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ดูลึกซึ้งนะ แล้วเขายังเขียนอีกเล่มนึงที่แปลกมาก คือคนนี้เป็นนักวิ่งด้วย เลยเขียนเรื่อง What I Talk About When I Talk About Running เขียนเกี่ยวกับการวิ่งของเขาที่มันโยงไปถึง Philosophy ของชีวิต มันแปลกดี แค่ชื่อเรื่องนี่ก็น่าซื้อมาอ่าน

The Hour ก็ชอบ เป็นหนังสือที่ดีมาก เอามาทำเป็นหนังด้วย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงสามคนที่จะ base on หนังสือของ Virginia Woolf แล้วตัวเองก็อ่านหนังสือของ Virginia Woolf ด้วย ย้อนไปอีกก็อ่านของ D.H. Lawrence ที่เขียน Woman in Love หนังสือที่เป็นแบบคลาสสิกก็ไล่อ่านมาหมด ชอบอ่านแนวนี้เพราะอยากรู้ว่าเขาเขียนดียังไง พวกนี้พอกลับมาอ่านใหม่นะ เทียบกับสมัยก่อนมันจะได้คนละภาพเลยนะ เวลาย้อนกลับไปอ่านเล่มเก่าที่เคยอ่าน เราจะคิดไปอีกแบบนึง มันน่าสนใจ



หนังสือที่ทำเป็นหนังนี่ก็ชอบอ่าน อย่าง Eat Pray Love ของ Elizabeth Gilbert หนังเรื่องนี้ก็ได้ดูนะ Julia Roberts เล่น เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ผิดหวังเรื่องความรัก ก็เลยลุกขึ้นมาทำอะไรแปลกแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างไปเรียนภาษาอิตาเลียนเพราะชอบกินอาหารอิตาเลียน ทำยังไงให้ได้ภาษาดีๆ ก็เลยไปอยู่อิตาลี ไป enjoy กับอาหาร ไปเจอผู้คน แล้วก็ไปอยู่อินเดียเพื่อไปค้นหาตัวเอง ไปเรียนการนั่งสมาธิ แล้วก็ไปต่อที่บาหลีจนไปเจอรักใหม่ที่นั่น ถ้าเรื่องไหนทำมาจากหนังก็มักจะตามไปอ่านเล่มนั้นด้วย ก็จะเห็นว่าหนังเค้าตีความยังไง บางทีเราอ่านหนังสือก็จะเห็นภาพในหัวเราว่าเป็นยังไง แต่พอไปดูหนังก็อาจจะได้อีกภาพนึง

ตัวเองเป็นคนที่อ่านหลายๆ แบบ ที่บ้านมีหนังสือเยอะมาจนต้องสร้างห้องเพิ่มทำเป็นห้องสมุดเลย จะตามซื้อหนังพวกที่เป็น Best Seller เก็บไว้ แต่ก็ยังไม่ได้อ่าน ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน ก็เลยมีหนังสือเก็บไว้เป็นร้อยๆ เล่มเลยที่ยังไม่ได้อ่าน เวลาจะอ่านหนังสือทีก็จะไปยืนอยู่หน้าตู้แล้วก็ดูว่าอารมณ์เราตอนนั้นอยากอ่านแบบไหน บางครั้งถ้าจะเลือกอ่านหนังสือที่มันหนักๆ หน่อย มันก็ต้องค่อยๆ อ่าน อ่านช้าๆ ต้องติดตามไปด้วย

อ่านหนังสือนี่ทำให้เรารู้จักคน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เราจะมองเห็นคนในแบบที่ไม่ได้ฉาบฉวย มองคนมากกว่าสองมิติ คือมีมุมมองสามมิติ สี่มิติ เพราะแต่ละคนจะมีอะไรอยู่ข้างใน อย่างอ่านหนังสือนี่ก็จะเห็นตัวละครเขาจะมีเบื้องหลังชีวิตแบบไหน มีปมปัญหาชีวิตแบบไหน แล้วเขาแก้ปัญหาแบบไหน หรือว่าเบื้องหน้าเขาเป็นแบบนี้ แต่ในใจเขากำลังคิดอะไร สมมุติว่าเราเจอคนที่เราไม่ชอบเขาเลย อาจจะทำอะไรไม่ดีซักอย่าง แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกในความเป็นตัวตนของเขา ก็คงมีเหตุผลลึกๆ มีที่มาที่เขาเป็นอย่างนั้น หรือถ้าคนอื่นมองเราก็อาจจะมองเราในแง่หนึ่ง เป็นมุมที่ไม่ใช่เวลาเรามองตัวเอง ทำให้ยอมรับโลกได้ดีขึ้น ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับคนในแบบต่างๆ ได้ดีขึ้น พูดถึงเรื่องนี้ก็นึกถึงหนังสือเรื่อง Little Prince น่ารักมากเลย มีอยู่ตอนหนึ่ง เล่าถึงเพื่อนของเขาที่เป็นหมาจิ้งจอก มีคนไปถามเขาว่าทำไมถึงมารู้จักเจ้าหมาจิ้งจอกนี่ได้ มันเป็นแค่หมาจิ้งจอก แต่เขาบอกว่าไม่ใช่หรอก ถ้าเราเข้าไปทำความรู้จักแล้วเขาไม่ใช่แค่หมาจิ้งจอกหรอก แต่เขาจะเป็นเพื่อนเราอีกหนึ่งคน สมมุติตัวเองเนี่ยนะ เวลาขับรถไปติดไฟแดง แล้วมองคนข้างถนน คนเหล่านั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เพราะเราจะอยู่ตรงกลางโลกของเรา คือตัวเราเองนี่รู้สึกว่าเราเป็นตัวละครเอกในโลกของเรา แต่ถ้ามองในมุมของเขา เขาก็จะเป็นตัวละครเอกในโลกของเขา เราก็จะเป็นเพียงตัวประกอบในโลกของเขา ฉะนั้นทุกคนต่างเป็นตัวละครเอก ต้องอย่าเอาตัวเราเป็นตัวตั้งเสมอไป พออ่านหนังสือมากๆ เข้า ก็พบว่าทุกคนต่างมีโลกของตัวเอง ดังนั้นทุกคนจึงต่างมีความสำคัญ เราจึงควรเห็นความสำคัญของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวเราหรือโลกของเราเท่านั้น แล้วพอเราเป็นนักวิทยาศาสตร์เราก็ยิ่งได้เข้าใจมากขึ้น ถ้าเรามองจักรวาล เราเองก็ช่างเล็กนิดเดียวจนแทบจะไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับธรรมชาติ เราก็แค่เพียง คาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจน เท่านั้นเอง เราช่างไม่มีอะไรเลย เราไม่มีตัวตน ตายไปแล้วก็เป็นเถ้าถ่าน

หนังสือไทยนี่พยายามจะอ่านเหมือนกัน ตัวเองนี่ไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 15 ตอนที่กลับมาก็อ่านหนังสือมันไม่เข้าหัว อย่างของคุณรงษ์ วงสวรรค์ ที่ใช้คำที่ใครๆ ต่างก็ชื่นชมมาก แต่เราอ่านแล้วมันไม่สามารถซาบซึ้งได้ มันไม่ get แต่ก็ลองหาอ่านไปเรื่อยๆ ของ คุณจิรนันท์ พิตรปรีชา ที่เขียน ใบไม้ที่หายไป ชอบมากๆ เป็นเล่มหนึ่งที่ชอบที่สุด ส่วนหนังสือภาษาไทยอื่นๆ ก็ยังอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าหัว ของคุณปราบดา หยุ่น ที่ได้ซีไรต์นี่ก็พยายามอ่านแต่ก็ยังไม่ซาบซึ้ง เคยไปซื้อเรื่อง ตลิ่งสูง ซุงหนัก ของ คุณนิคม รายยวา อันนี้ก็ได้รางวัล ก็พอโอเค แล้วก็ ลูกอีสาน ของ คุณคำพูน บุญทวี คือพยายามหาหนังสือที่ได้รางวัลมาอ่าน ลูกอีสานนี่อ่านได้เพราะใช้คำที่ธรมดาๆ เล่าเรื่องแต่ถ้าเล่มไหนที่ใช้ภาษาแปลกๆ ภาษายากๆ ก็จะอ่านยากหน่อย คืออาจจะเป็นเรื่องของความเคยชินด้วยแหละ ภาษาอังกฤษนี่เราชิน อ่านแล้วก็ยังกลับไปอ่านใหม่ นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงชอบอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม มันถือไปไหนมาไหนได้ จะไปไหนก็ต้องมีหนังสือติดตัว ขับรถนี่ต้องมีแมกกาซีนไว้ข้างๆ เวลารถติดก็คว้าขึ้นมาอ่าน อ่านกับคอมนี่ยังไม่ชินเลย เผอิญได้ iPad มาตัวนึงก็รู้สึกดีมาก อ่านได้ไม่แสบตา แต่ก็สู้หนังสือไม่ได้นะ อ่านหนังสือนี่จะไม่พับเลย ใช้วิธีคั่น ใครยืมไปนี่จะบอกว่าห้ามพับเลย เวลามีงานบุ๊คแฟร์ที่คณะนี่ก็พยายามเลือกซื้อหนังสือไทย ตอนนี้ได้มา 5 เล่ม ก็ยังไม่ได้อ่านเลย อ่านหนังสือมากๆ เราก็ได้เพิ่มมุมมองให้กับชีวิตนะ จะเห็นว่าวัฒนธรรมมันต่างกัน การมองชีวิต การมองคน มันต่างกัน อย่างคนเขียนแต่ละชาติก็มีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เราก็จะรู้สึกยอมรับชีวิตได้มากขึ้น มีโลกทรรศน์ที่กว้างขึ้น เห็นความแตกต่างของคน

พยายามบอกลูกศิษย์เหมือนกันนะว่าคนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ว่าต้องบริหารจัดการเวลา ต้องมี Quality Time อย่างตัวเองนี่งานก็เยอะมาก แต่ก็ต้องมี Quality Time คือเวลาที่ให้คุณค่ากับตัวเอง อย่างก่อนนอนก็จะอ่านหนังสือบ้าง อ่านแมกกาซีนบ้าง วันหยุดก็จะหาเวลาว่างๆ อ่านเสมอ งานเยอะยังไงก็จะไม่ทิ้งการอ่าน