หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

ประวัติคณะวิทยาศาสตร์

โดย ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ

เมื่อบรรณาธิการวารสารสโมสรมาขอให้ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของคณะวิทยาศาสตร์ ผมรับว่าจะเขียนให้เพราะว่าคิดว่าได้อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์นี้มา 2 ใน 5 ของเวลาที่อยู่ในโลกนี้มา ก็ควรจะเขียนได้มากพอควร ต่อมาล่วงเวลาหลายวันผมไม่ได้เขียน ท่านบรรณาธิการยังอุตส่าห์มาเตือนถึงห้องและกล่าวขอให้เขียนอย่างสนุก ๆ ด้วย ผมก็รับปากอีก แต่ก็มาได้คิดว่าเรื่องที่สนุกเกี่ยวกับความเป็นมาของคณะนั้นไม่ใคร่ได้พบเห็นมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นตัวละครเล่นสนุก ๆ ให้คนหัวเราะเสียเองโดยที่ตนเองไม่นึกเช่นนั้นก็ได้ ผมทำงานมาก็ไม่เคยได้บันทึกเหตุกาณ์ต่าง ๆ ที่มีในคณะวิทยาศาสตร์ เลยจำไม่ได้แน่ชัดว่าประวัติของคณะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าอยากทราบจริงก็มีคนที่เขาปวารณาตัวว่าจะให้ความกระจ่างอยู่แล้ว โปรดถามเอาเองเถิด

สถานที่ตั้งแต่เดิมของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์

ผมได้มีโอกาสทราบถึงความตั้งใจของท่านศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ที่จะตั้งสถานศึกษาสำหรับเป็นชั้นเตรียมในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์ ตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ในห้องเล็ก ๆ ด้านติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และทราบดีถึงความยุ่งยากนานาประการพร้อมด้วยความไม่ร่วมอนุเคราะห์ของหลายฝ่ายในการที่ท่านย้ายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มายังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แต่ไม่อาจจะเล่ารายละเอียดได้เนื่องจากจะเป็นการกระทบกระเทือนท่านผู้ขัดขวางที่ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องต่าง ๆ ก็ล่วงเลยมาแล้ว แต่อุปสรรคเหล่านี้เป็นกำลังใจอย่างหนึ่งให้ท่านศาสตราจารย์สตางค์ ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนตั้งคณะวิทยาศาสตร์ได้จนเจริญอย่างที่เห็นปัจจุบันนี้

เมื่อผมกลับจากการศึกษาจากต่างประเทศก็ได้มีโอกาสมาช่วยสอนพิเศษนักศึกษาของคณะนี้บางชั่วโมงและบางวัน ที่ตึกเดิมของคณะซึ่งชั้นบนกำลังก่อสร้าง ชั้นล่างใช้เป็นที่เรียน ตึกอยู่หน้าโรงเรียนอำนวยศิลป์ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นถนนเล็ก ๆ สองข้างทางเป็นลำคู ดังนั้นจึงมีสะพานไม้สำหรับเป็นทางเข้าตึกที่กำลังก่อสร้าง เดินผ่านสะพานไปทางด้านขวามือจะเป็นบึงเล็ก ๆ มีสวะอยู่เต็ม และมีโรงเล็ก ๆ ขายกาแฟ เครื่องดื่ม สำหรับคนงานที่ก่อสร้าง ตึกที่กำลังก่อสร้างนั้นซึ่งเป็นตึกแรกของคณะ ท่านศาสตราจารย์สตางค์เป็นผู้ทำพิธีลงฤกษ์ยกเสาเอก กำหนดวันตอกเข็ม ตลอดจนควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง

เมื่อไปที่ตึกจะต้องจอดรถไว้ริมถนน รถในสมัยนั้นไม่มากนัก คนที่จะขโมยก็ไม่มี จึงจอดตากแดดตากฝนไว้ได้อย่างสบาย ผมอยู่ช่วยได้ไม่นานก็ไปต่างประเทศปีกว่า กลับมาได้พบความเปลี่ยนแปลงของสถานที่จากสะพานไม้เข้าไปมีถนนถึงหน้าตึก บึงสวะที่เคยมีกลายเป็นสนามหญ้า มีหอประชุมและตึกสำนักงาน (ซึ่งต่อมาให้สภาการศึกษาแห่งชาติยืมใช้ 2 ชั้น อยู่หลายปี) ก่อสร้างอยู่แล้ว เวลาไปสอนยังต้องข้ามสะพานไม้ข้ามคูอยู่ ผมโอนมาทำงานที่คณะเมื่อตึกหน้าและหอประชุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว การไปทำงานจึงไม่ทุลักทุเลเหมือนเมื่อครั้งไปช่วยสอน

กิจกรรมกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ เภสัช-วิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านไกลจะเห็นมีคูน้ำกั้นก่อนถึงถนน
(ภาพจาก อนุสรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย พ.ศ. 2504)

อยู่มาจนปี 2505 จึงได้มีการทำพิธีตั้งศาลพระภูมิกันอย่างถูกต้อง มีพระครูวามเทพมุนีพร้อมคณะพราหมณ์ของท่านมาดำเนินการ ตั้งศาลพระภูมิด้านติดรั้งติดถนนศรีอยุธยาระหว่างประตูทางเข้าและหอประชุม เราทำงานอยู่ด้วยกันทั้งคณาจารย์และนักศึกษาอย่างมีความสุข มีเรื่องราวเกิดขึ้นบ้างก็แต่เพียงนักศึกษากลุ่มสองกลุ่มชกต่อยกันเนื่องจากการเชียร์กีฬา นึกถึงอดีตสมัยนั้นแล้วมีแต่ความสุขความร่มรื่น ทั้งทางกายและใจ ผมคิดว่าทุกคนที่ทำงานอยู่ในระยะนั้นคงจะจำถึงความหลังอันสดชื่นได้

ต่อมาความเจริญของคณะก็มากขึ้น โดยมีการก่อสร้างตึกห้องสมุดและบรรยาย ด้านหลังตึกหอประชุมและตึกสามชั้นด้านหลังตึกแรกที่สร้างขึ้นซึ่งเป็นตึกสุดท้ายที่สร้างในบริเวณนั้น และเป็นตึกแรกที่ได้เริ่มมีการดำเนินงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้น ความเจริญมากขึ้นจนต้องขยายตนเองออกจากแหล่งที่แสนสงบนั้น แล้วมาปักหลักอยู่ที่ดินแดนใหม่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

กำจร มนุญปิจุ. (2519). ประวัติคณะวิทยาศาสตร์. ใน วารสารสโมรสรอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2519) : 28-29.

ศาสตราจารย์ ดร. น.ต.กำจร มนุญปิจุ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอินทรีย์เคมี เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้เกิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรีย เคยดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2514-2518) และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2519-2521)