หน้าหลัก > หอเกียรติยศ > รางวัลเชิดชูเกียรติ > ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ

ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ เป็นทั้งอาจารย์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่สังคม โดยมีแนวคิดในการทำงาน คือ หน้าที่ของครูไม่ใช่แค่เพียงให้ความรู้ตามตำรา แต่ต้องเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ส่วนหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ คือการแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อเจอปัญหาอย่าได้กลัว สำหรับนักวิทยาศาสตร์ปัญหาคือโอกาสในการสร้างนวัตกรรม

ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ มีผลงานการออกแบบนวัตกรรมการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ มากมาย เช่น การประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นเพื่อสร้างกล้องจุลทรรศน์แบบ DIY การใช้พลานาเรียในการศึกษา Ethogram ของสิ่งมีชีวิต และเทคนิคการสอนแบบ Time-Restricted Inquiry-Based Learning เพื่อกระตุ้นความสนใจและฝึกทักษะการทำงานเป็นหมู่คณะให้กับนักศึกษาในวิชาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ออกแบบบทเรียนวิวัฒนาการสมัยใหม่ สำหรับนักศึกษาแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ที่ครอบคลุม ทันโลก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเรื่อง หลักการกับโรคอุบัติใหม่ การวิวัฒน์ของเชื้อดื้อยา การต้านยาของมะเร็ง วิวัฒนาการกับเพศวิถี เป็นต้น และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิจัยชีววิทยาเพื่อการศึกษาและความบันเทิง สร้างห้องเรียนออนไลน์พิษวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นบรรณาธิการและผู้เขียนร่วมในหนังสือ โลกของสารพิษและถิ่นที่อยู่ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนพิษวิทยาเพื่อประชาชน ร่วมก่อตั้ง Facebook fanpage ToxicAnt – เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นพิษ

นอกจากนั้น ยังสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยร่วมเป็นผู้บรรยายในงาน TEDxChiangMai 2014 เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์และผู้ร่วมจัด TEDxMahidolU 2017 และ 2018 และสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยที่น่าสนใจทั่วโลก โดยเป็นผู้เขียน ผู้แปล และบรรณาธิการหนังสือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายเล่ม อาทิ Vaccine war สงครามวัคซีน สำนักพิมพ์มติชน, เมื่อโลกติดเชื้อฉบับกระชับ สำนักพิมพ์ Illuminations Editions และยังเป็นนักเขียนประจำให้กับคอลัมน์ทะลุกรอบ ในมติชนสุดสัปดาห์ อีกด้วย

จากผลงานข้างต้น ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2565 จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 48 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566



  • ที่มาภาพ : งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์