หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

“คณะวิทยาศาสตร์ ในความทรงจำ”

ศ.เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566
สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

สัมภาษณ์เมื่อ วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566


อาจารย์กวี กับ คณะวิทยาศาสตร์

ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นอันดับหนึ่ง ใจจริงผมไม่อยากเรียนแพทย์ แต่คุณแม่ท่านขอให้ผมเรียนแพทย์ พอผมสอบได้และได้พบท่านอาจารย์สตางค์ครั้งแรกตอนสัมภาษณ์ ท่านดูประวัติผมแล้วก็บอกว่า “เธออย่าเรียนแพทย์เลย ควรไปเรียนวิทยาศาสตร์” ซึ่งช่วงเวลานั้น ท่านอาจารย์กำลังเตรียมสร้างโรงเรียนแพทย์ และหานักศึกษาไปเรียนปริญญาเอก เพื่อกลับมาทำวิจัยและสอน นักศึกษาแพทย์ ผมรู้สึกดีใจมากเพราะว่าผมเองไม่อยากเป็นหมออยู่แล้ว ผมเป็นคนที่รู้สึกอ่อนไหวต่อการเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย ผมอยากเป็นวิศวกรมากกว่า แต่ในที่สุดผมก็เป็นคนเดียวในรุ่นที่สละสิทธิ์เรียนแพทย์ต่อหลังเรียนจบปี 2

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสมัยนั้นเป็นที่ต้องการของนักศึกษาที่จะสอบเข้ามาก เป็นคณะอันดับหนึ่งที่เข้ายากที่สุด ถ้าเข้าเรียนที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ นักศึกษา 70 คนแรกแทบจะมั่นใจได้ว่าได้เรียนแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นที่ศิริราชหรือจุฬาฯ แต่ถ้าไปเข้าที่อื่นต้องไปแข่งกันอีกรอบตอนจบปีที่สองเพื่อจะเข้าแพทย์อีก เพราะฉะนั้นคนเลยอยากเข้าวิทยาศาสตร์การแพทย์

ผมเข้าเรียนที่คณะวิทย์เมื่อปี พ.ศ. 2506 เดิมทีท่านอาจารย์สตางค์บอกผมว่าจะให้ผมไปเรียน Nuclear Physics ที่ Birmingham แต่ปรากฏว่าทุนที่ท่านเตรียมไว้มันไม่ได้ ผมเลยเรียนอินทรีย์เคมีต่อ ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีเพราะว่าอินทรีย์เคมีเป็นพื้นฐานที่ดีมากต่อการเป็นนักวิจัยด้านชีวการแพทย์ เมื่อผมกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ ผมก็แนะนำให้นักศึกษาปริญญาเอกของผมทุกคนไปเรียนวิชาอินทรีย์เคมีเพิ่ม ซึ่งบัณฑิตวิทยาลัยบอกว่าไม่ได้อยู่ในโปรแกรม ทำให้ผมต้องเขียนจดหมายพิเศษถึงบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อขอให้นักศึกษาปริญญาเอกของผมให้ไปเรียนได้ นักศึกษาที่ไปเรียนทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ความรู้และเป็นพื้นฐานที่ดีมาก

ผมได้ทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปเรียนต่อที่ University of Wisconsin ระหว่างนั้น ท่านอาจารย์สตางค์ได้ไปธุระที่สหรัฐฯ และได้แวะไปที่มหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ ท่านไปคุยกับ Advisor ของผม ตอนนั้นอาจารย์พรชัย (ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ) ยังเรียนอยู่นั่นด้วย ท่านบอกให้ผมทำงานให้เต็มที่ เพราะ Advisor เป็นคนเอาจริงเอาจังมาก อย่าทำให้เขาผิดหวัง พอท่านกลับไปพักใหญ่ผมก็ได้รับจดหมายจาก Dr. Kuperman (Prof. Dr. Albert S. Kuperman) แจ้งถึงผมว่าท่านอาจารย์สตางค์ถึงแก่อสัญกรรม ผมจึงไม่มีโอกาสได้พบท่านอีก ผมรู้สึกเสียดายมาก ในใจผมยังรู้สึกว่าท่านให้ความเมตตาและ ผมเป็นหนี้บุญคุณท่าน ไม่ได้มีโอกาสขอบคุณและตอบแทนท่านโดยส่วนตัว แต่ทุกครั้งที่ผมเดินผ่านรูปปั้นปฏิมากรรมของท่าน ผมก็นึกถึงบุญคุณของท่าน เพราะการที่ผมได้เรียนและทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ มันทำให้ผมรู้สึกดี และเป็นสิ่งที่ดีในชีวิต


บทบาทและภาระหน้าที่ของอาจารย์

ผมกลับมาเป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาเภสัชวิทยา หน้าที่ของผมและทางมหาวิทยาลัยต้องการคือให้เราสอนและวิจัยให้เต็มที่ แต่ผมพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานด้านบริหาร เพราะมีคนที่มีความสามารถและชอบทำอยู่แล้ว โดยผมจะใช้เวลาที่พอว่างไปเดินป่าและเดินทางไปต่างประเทศ ผมทำงานที่ภาควิชาเภสัชวิทยาอยู่ระยะหนึ่งจึงย้ายไปอยู่ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา และทำวิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันของพิษงูและการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งผมได้เรียนรู้อย่างมากจากท่านอาจารย์สถิตย์ (ศ.เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห์) และท่านอาจารย์พรชัย (ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ)

ผมรับผิดชอบดูแลนักศึกษาทั้ง ป.โท และ ป.เอก และรู้สึกว่านักศึกษาในยุคสมัยนั้นมีความมุ่งมั่น ความกระตือรือร้น ความอดทน มากกว่านักศึกษาในยุคหลัง ๆ มาก ผมมองกลับไปก็นึกเห็นใจนักศึกษาสมัยนั้น ต้องนอนเฝ้าการทดลองทั้งคืน เมื่อเครื่องมือไม่มี เราก็ต้องใช้ความคิดมากหน่อย เพื่อมาทดแทนสิ่งที่เราขาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ผลดี สมัยนั้นนักศึกษามีส่วนสร้างผลงานดี ๆ ขึ้นมามาก แต่ยุคหลัง ๆ ดูความอดทน ความมุ่งมั่นของนักศึกษาจะลดลงกว่าเดิม คนที่มุ่งมั่นอยากได้ผลงานที่ดีและอยากรีบเรียนจบยังคงมีอยู่ ยอมอดหลับอดนอนทำงานวิจัย แต่ว่ามันจะน้อยกว่ายุคก่อน ๆ

แนวทางที่ผมแนะนำนักศึกษาคือ “หัวต้องเลอะก่อนที่มือจะเลอะ” คือก่อนจะไปทำการทดลองอะไรให้มือเลอะ เราต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ในหัวเสียก่อนว่า เราต้องการทำอะไร ปฏิกริยาอะไรที่จะเกิดขึ้น และเพราะเหตุใด ต้องชัดเจนในหัว หัวต้องเลอะก่อน ถ้าหัวเราไม่เลอะ เราเริ่มทำเลย มันก็มักจะเจ๊งเสียก่อน ถ้าเราเข้าใจว่ามันเกิดปฏิกิริยาอย่างไร ทำงานอย่างไร จุดไหนที่เราต้องระวัง จุดไหนต้องทำ จุดไหนไม่ต้องทำ เราก็จะรู้ทางหนีทีไล่หมด พอรู้ทั้งหมดเราก็มีโอกาสพลาดน้อยลง เรื่องนี้สำคัญ

ผมสงสารเด็กสมัยใหม่ เขาอาจไม่มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตมากเหมือนเด็กสมัยก่อน คือมุ่งมั่นที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว ผมยังคุยกับเพื่อนฝูงเลยว่า เด็กเหล่านี้วิ่งเข้ามหาวิทยาลัยจนทำชีวิตหล่นหายไประหว่างทาง รู้แต่จะเรียน รู้แต่จะเข้ามหาวิทยาลัย สมัยที่พวกเราเป็นเด็ก ส่วนใหญ่ต้องช่วยทำงานที่บ้าน เดินไปโรงเรียนไกล ๆ ได้เงินมาก็ต้องประหยัด ตกเย็นกลับมาก็ต้องช่วยทำงานบ้าน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำงาน ทำอะไรต่ออะไร ถึงพ่อแม่ไม่ได้สั่ง งานต่าง ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตมากขึ้น ถือว่าเป็นบุญของคนรุ่นก่อนที่ต้องฝ่าดงหนาม ผลดีก็คือทำให้เราแข็งแรงทั้งกายและใจ เป็นผลพลอยได้ทำให้เราแกร่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามให้กับ นศ. ของผมนอกจากความรู้และความคิดทางวิทยาศาสตร์แล้ว คือความคิดเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตและการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจนอกเหนือความรับผิดชอบของ อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ผมรู้สึกว่า นศ. ก็เหมือนเป็นลูกผม และอยากให้เขามีชีวิตที่ดีมีความสุข



ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร ในโอกาสได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช)
ประจำปีงบประมาณ 2566

บทบาทของคณะวิทยาศาสตร์ในด้านการวิจัยและการสอน

ยุคนั้นเป็นยุคทองของคณะวิทย์ หรือน่าจะเป็นยุคทองของประเทศเราในด้านงานวิจัยด้วย คณะของเราโชคดีมาก ประการแรกคือเราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ส่งอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญจากสหรัฐอเมริกามาช่วยวางรากฐาน ส่วนใหญ่มาเป็นหัวหน้าภาควิชา เช่น Dr. Olsen (Prof. James A. Olson) มาดูแลที่ภาควิชาชีวเคมี ภาควิชาเภสัชวิทยาก็มี Dr. Kuperman (Prof. Dr. Albert S. Kuperman) ฯลฯ ท่านเหล่านี้ช่วยวางแผนวางแนวทางการสอนและการทำวิจัย

ประการที่สองคือบรรดานักเรียนที่ท่านอาจารย์สตางค์ชวนออกมาจากโรงเรียนแพทย์ หรือที่ได้ทุน ก.พ. หรือทุนอื่น ๆ ก็อยากมาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นที่นี่จึงกลายเป็นชุมนุมของนักเรียนทุนที่เก่งและมีไฟ สังคมของคณะวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานวิจัย ผลของความกระตือรือร้นและความเก่งของอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงทำให้ชื่อเสียงของคณะวิทยาศาสตร์ไปไกลมาก หลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็ส่งคนของเขามาเรียนต่อหรือมาทำวิจัยที่นี่ นักศึกษาเหล่านี้ต่างกลับไปเป็นใหญ่เป็นโตที่ประเทศตัวเองทั้งสิ้น ส่วนตัวผมเองในหลายปีที่ผ่านมาผมยังร่วมทำวิจัยกับอาจารย์ชาวมาเลเซียซึ่งจบ ป.โท จากชีวเคมีของเรา แล้วกลับไปเป็น Professor ที่โน่น เรายังร่วมทำวิจัยกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

นักศึกษาไทยที่จบจากคณะวิทยาศาสตร์ของเราออกไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้เจริญก้าวหน้าและผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพออกมาอีกจำนวนมาก

ประการที่สาม ด้วยความโด่งดังของคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้มีคนอยากมาเรียน แพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเรียนรุ่นแรก ๆ ก็ต้องมาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ที่พวกเราเป็นผู้สอน จบออกไปเป็นแพทย์ที่เก่งและมีชื่อเสียงมาก ทำให้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยุคนั้นรุ่งโรจน์มาก บทบาทของคณะวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการสอน การวิจัย การเป็นแพทย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของไทย ซึ่งผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม



ตึกกลม หรือ อาคารปาฐกถา Landmark สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์สมัยก่อน

ที่บริเวณนี้เป็นทุ่ง เขาว่ากันว่ามันเป็นที่ทิ้งขยะ ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าสวนจิตรฯ (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) อยู่ตรงนี้ จะเอาตรงนี้เป็นที่ทิ้งขยะใกล้กับที่อยู่ของในหลวง ผมว่ามันคิดน้อยไปรึเปล่า แต่ว่ามันก็อาจจะเป็นที่ทิ้งขยะจริง ตรงนี้มันปลูกต้นไม้ดีมากเพราะดินแถวนี้ดี

ตอนที่อยู่ตึกเก่า (ถนนศรีอยุธยา) เรามีแข่งฟุตบอล เราก็เดินมาแข่งกันตรงนี้ มันเป็นทุ่งกว้าง ตอนที่ผมไปเรียนต่อ ในหลวงท่านเสด็จฯ มาวางศิลาฤกษ์ ก็ยังไม่มีการก่อสร้างอะไร พอผมกลับมาก็สร้างเสร็จแล้ว ส่วนที่ตั้งเดิมก็ยกให้เป็นของคณะเภสัชศาสตร์ ตอนนั้นคณะวิทยาศาสตร์ยังใช้อยู่บ้างก่อนจะย้ายมาที่นี่ทั้งหมด

คณะวิทยาศาสตร์เราโชคดี ตึกที่อาจารย์สตางค์สร้างไว้นี่ดีมาก คนที่ออกแบบคือ คุณอมร ศรีวงศ์ ท่านเป็นเพื่อนอาจารย์สตางค์ น่าจะอายุใกล้เคียงกัน บังเอิญว่าคุณอมรกับผมมีความสนใจหลาย ๆ เรื่องที่คล้ายกัน โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ก็เลยสนิทสนมกันทั้งที่อายุท่านมากกว่าผมมาก เป็นคุณลุงคุณอา แต่ผมเรียก พี่อมร ท่านชอบใจมาก แบบตึกที่คุณอมรออกแบบมันดีมาก เพราะว่าอยู่ในแนวที่รับลมเต็มที่ ไม่ต้องกลัวแดดตอนบ่าย ไม่ต้องกลัวฝน เพราะชายคาที่คุณอมรออกแบบไว้กว้างร่วมสองเมตร ฝนสาดแรงก็ไม่เดือดร้อน ช่วงที่คณะฯ มีการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ ผมก็อาสาเข้ามาช่วยงานเพราะผมสนใจเรื่องวิศวกรรมอยู่แล้ว ตอนนั้นท่านอาจารย์พรชัยเป็นคณบดี พอมีปัญหาตรงไหนผมก็ปรึกษาคุณอมรก็มาช่วยแนะนำเพื่อที่จะรักษาโครงสร้างให้ดีอย่างเก่า ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ทั้งตึกกลม ทางเดินเฟื่องฟ้า คุณอมรก็มาช่วยแนะนำให้

ทราบว่าอาจารย์มีส่วนช่วยปรับปรุงงานรอบ ๆ คณะวิทย์

ผมเป็นคนชอบงานด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พอคณะฯ มีงานซ่อมสร้าง ผมก็มักจะเข้าไปมีส่วนร่วม โดยหวังว่าเพื่อช่วยให้งานมันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้บริหารต้องการให้มีคนร่วม เช่น การออกแบบและก่อสร้างตึก K (อาคารเฉลิมพระเกียรติ) ซึ่ง อ.พรชัย ก็ให้ผมเป็นกรรมการด้วย ส่วนเรื่องซ่อมสร้างเพื่อปรับปรุงคณะฯ ผมก็มักจะเข้าไปมีส่วนเป็นกรรมการด้วยโดยหวังให้เป็นประโยชน์แก่คณะ เช่น การซ่อมตึกกลม ซึ่งเพิ่งจะซ่อมแซมบางส่วนมาได้ไม่นาน ผู้รับเหมาที่เข้ามาก็มักจะเสนอให้ทำมากเข้าไว้และทำให้ดูยุ่งยาก เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายสูงและคณะฯ ต้องเสียเงินมาก ๆ เช่นเสนอให้เปลี่ยนหลังคากระเบื้องลอนคู่ ทั้งที่กระเบื้องนี้หนา 5 มม. และอยู่ได้ 40-50 ปี ต่อให้ขึ้นไปเหยียบก็ไม่แตก ผู้รับเหมายังแนะให้เปลี่ยนโคมไฟหลายร้อยดวง ดวงละราว 2 พันบาท ซึ่งยังใหม่อยู่ ผมจึงเสนอให้ท่านคณบดีพิจารณาทบทวน ท่านก็เห็นด้วยว่ายังไม่ควรเปลี่ยน ทำให้คณะฯ ประหยัดเงินไปได้มาก

ช่วงที่เราสร้างตึก K เราก็ต้องช่วยหาเงินและหาบริษัท Big Tree Mover มาย้ายต้นไม้ใหญ่ประมาณ 72 ต้นจากที่บริเวณก่อสร้างมาปลูกในบริเวณ ใกล้ตึกกลมและส่วนอื่น ๆ ของคณะฯ

ตึกฟิสิกส์สมัยก่อนด้านล่างเป็นสระน้ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกมีบรรยากาศดี ร่มรื่น แต่ระยะหลังสระน้ำนี้กลายเป็นปัญหา ต้องเติมน้ำช่วงหน้าแล้งเพราะสระรั่วซึม แต่ที่สำคัญคือมีกระดาษ ใบไม้ ขยะ ปลิวมาหล่นในสระ กลายเป็นหลุมขยะ ต้องมาช้อนขยะ มาเปลี่ยนน้ำ มาดูดตะกอน ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่าแทนที่จะมีสระที่เป็นภาระ ก็เลยถมและปรับพื้นที่กลายเป็นออฟฟิศ

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย สวยงามและประหยัด คือ การซ่อมทางเดินเฟื่องฟ้า ซึ่งผมเสียดายมากที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จ

หลังคาทางเดินเฟื่องฟ้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งหนักมาก แถมยังมีต้นเฟื่องฟ้าขึ้นไปเลื้อยเกาะทับมากขึ้น ๆ ใบที่ร่วงหมักหมมบนหลังคาไปอุดท่อระบายน้ำ และมีสายไฟฟ้าสายโทรศัพท์พาดอยู่อีก เสาเหล็กที่ค้ำอยู่มีสนิมกัดกร่อน ต้องรับน้ำหนักคอนกรีตที่เป็นหลังคา รับน้ำหนักกิ่งเฟื่องฟ้าที่กดทับ รับน้ำหนักขยะใบไม้ รวมทั้งน้ำฝนที่ค้างนองอยู่ ถ้าจุดใดจุดหนึ่งมัน Fail หลังคาก็มีโอกาสจะร่วงลงมาทั้งแผงเลย



ตึกกลม และ ทางเดินเฟื่องฟ้า ในอดีต


ผมรู้จักกับสถาปนิกท่านหนึ่งเป็น Landscape Architect ที่มีชื่อเสียงมาก คือ คุณพงศ์พันธ์ พิศาลสารกิจ หรือพี่เตี้ย เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกับอาจารย์พรชัยที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และก็รู้จักกับคุณอมร ผมกับพี่เตี้ยสนิทรักใคร่เหมือนพี่น้องกัน ท่านเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของ บริษัท สถาปนิก 110 ที่ออกแบบตึก K ท่านแวะมาคุยกับผมอยู่เสมอ ท่านออกแบบ Landscape ให้ดอยตุง และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และอาจรวมถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผมเชิญท่านมาคุยเรื่องทางเดินเฟื่องฟ้า พี่เตี้ย บอกว่า คณะเรา (สมัยนั้น) เวลาจะเดินจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งมันไม่มีหลังคากันฝน จะเข้าผ่านในตึกก็ไม่ได้ ท่านบอกว่าเดี๋ยวพี่จะออกแบบภูมิทัศน์ทั้งคณะฯ ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ท่านก็ออกแบบทางเดินเฟื่องฟ้าโดยตัดหลังคาคอนกรีตออกเหลือแต่เสา ทำหลังคามุงกระเบื้องเป็นทรงจั่ว เพราะทางเดินมีสายไฟห้อยระเกะระกะ ก็ให้เอามันเข้าไปเก็บไว้ข้างใต้จั่วหลังคา ก็จะมองไม่เห็นสายไฟ และช่วยให้ซ่อมแซมได้ง่าย เป็นโครงสร้างที่เบา ไม่ต้องกลัวว่ามันจะยุบลงมา และยังมีศาลาที่จะเป็น Landmark สำหรับจัดงานเทศกาล

ในความเห็นของผม ผมคิดว่าแนวคิดของพี่เตี้ยนี้ดีมาก ๆ เราจะได้ทางเดินที่สวยงาม เรียบง่าย และปลอดภัย แถมได้ Photographic Point ที่มีตึกกลมเป็นฉากหลัง และเป็นเอกลักษณ์ของคณะวิทย์ซึ่ง นักศึกษาใช้ถ่ายภาพวันรับปริญญาได้ ผมนำรูปแบบรายละเอียดนี้ เข้าไปเสนอในที่ประชุมคณบดี แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ผมจึงเสียดายมากที่โครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้น

คณะวิทยาศาสตร์ กับเหตุการณ์ พ.ศ. 2516 และ 2519

ปี พ.ศ. 2516 ตอนนั้นมีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พวกเราและนักศึกษาในเวลานั้นก็ตื่นตัวกันพอสมควร ผมก็ออกไปเดินกับเขาด้วยที่ถนนราชดำเนิน ไปกับอาจารยประเสริฐ (ศ.เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน) ไปช่วยทำกิจกรรม นักศึกษาของเราก็มีส่วนร่วม แต่ที่น่ากลัวที่สุดก็คือเหตุการณ์ปี 2519 (6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) เมื่อมีการปิดล้อมที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่หลายคนจะโดนจับหรือไม่ก็หนีเข้าป่า ผมจำได้ว่าตอนเช้าวันนั้นผมมาที่คณะฯ มีนักศึกษามารวมตัวกันค่อนข้างมากที่ใต้ตึกฟิสิกส์เพื่อจะพากันไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้ข่าวจากเพื่อนหลายคนที่เป็นทหารและตำรวจ บอกว่าไม่ต้องมานะ อย่ามาที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวง วันนี้เขาจะมีการปราบปรามขั้นเด็ดขาด ผมรีบไปที่ใต้ตึกฟิสิกส์บอกให้นักศึกษารีบกลับบ้าน เขาก็ลังเลกัน มีหลายคนที่กลับบ้าน แต่ก็มีหลายคนที่ยืนยันจะไป ผมไม่รู้ว่ามีกี่คนที่โดนจับ

คณะวิทยาศาสตร์ กับสังคมไทย

ผมคิดว่า ผลงานวิจัยของพวกเราชาวคณะวิทย์มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน แก่คนไทยและประเทศ แต่พวกเรามักจะไม่ป่าวประกาศจนเกินเลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ผมไม่อยากให้มีการประกาศให้ชาวบ้านตื่นเต้นจนมีความหวังมากเกินจริง แต่เราควรทำวิจัยจนได้ผลการทดลองที่แน่นอนถึงที่สุดแล้วค่อยประกาศ ซึ่งผมคิดว่าพวกเราก็คิดเช่นนี้

  • ที่มาภาพ : ศ.เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร
  • หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล