ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์

ประวัติ

ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยาประจันตคาม โรงเรียนประจันตราษฎร์บำรุง และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลเรียนดีและประพฤติดีเป็นเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2524 และรางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่นจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ในปี พ.ศ. 2526 จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาฟิสิคัลเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิคัลเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ในปี พ.ศ. 2529 และได้ทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยได้รับ Diplome Elementaire de la Langue Francaise (DELF) ที่ CAVILAM เมือง Vichy ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับ Diplome D’Etude Applofondie (DEA; Chimie Physique) ในปี พ.ศ. 2531 และปริญญาเอก (Docteur; Chimie Macromoleculaire) จาก Universite de Haute Alsace, Ecole Nationale Superieure de Chimie de Multhouse ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2534

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2534 : เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2537 : ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
พ.ศ. 2540 : ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์
พ.ศ. 2547 : ได้รับโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งศาสตราจารย์
พ.ศ. 2545 - 2547 : ผู้ประสานงานโครงการเจียระไนเพชร ฝ่ายวิชาการ สกว.
พ.ศ. 2546 - 2549 : เลขานุการคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
พ.ศ. 2548 : ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากำลังคน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.)
พ.ศ. 2549 - 2551 : ดำรงตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการ ศจ. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
ตุลาคม พ.ศ. 2549 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 : เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

พ.ศ. 2539 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2542 : รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของ สกว.
พ.ศ. 2552 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎเมื่อ

ผลงานเด่น

การปรับแต่งพื้นผิวของพอลิเมอร์และอนุภาคคอลลอยด์เพื่อการประยุกต์ในทางชีวการแพทย์

ศ. ดร.ประมวลศึกษาวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติหรือยางพาราเพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐานที่ผิวของอนุภาคยางในน้ำยางและสามารถนำยางธรรมชาติไปใช้ในรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และขยายไปสู่หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยางในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ยางธรรมชาติส่วนมากจะอยู่ในรูปวัตถุดิบ เช่น ยางแผ่น และน้ำยางข้น ทำให้มีมูลค่าทางการค้าไม่สูง การศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนประกอบที่แน่นอนของน้ำยางและอนุภาคยาง รวมทั้งการดัดแปร ปรับแต่ง หรือใช้พอลิเมอร์ชนิดอื่นร่วมด้วย จะนำไปสู่การพัฒนาให้ยางมีสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม กว้างขึ้นกว่าเดิม หรือลดข้อด้อย ทำให้ยางธรรมชาติมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นในหลายด้าน รวมทั้งด้านสาธารณสุขและชีวการแพทย์ ศ. ดร.ประมวลจึงได้รับการสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อทำวิจัยเรื่อง “การปรับแต่งพื้นผิวของพอลิเมอร์และอนุภาคคอลลอยด์เพื่อการประยุกต์ในทางชีวการแพทย์”

ก่อนหน้านี้ ศ. ดร.ประมวลได้พัฒนาเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า เทคนิคเฟสทรานสเฟอร์ เพื่อศึกษาโครงสร้างพื้นฐานและประจุที่ผิวของอนุภาคยางในน้ำยางพารา ซึ่งพบว่ามีโปรตีนและไขมันอยู่ที่ผิวของอนุภาคยางในลักษณะเป็นกลุ่มๆ ต่อมาได้นำเทคนิคนี้มาใช้ศึกษาโครงสร้างสัณฐาน/รูปร่างของอนุภาคยางที่มีการเชื่อมโยงสายโซ่พอลิเมอร์ (น้ำยางพรีวัลคาไนซ์) องค์ความรู้ที่ค้นพบสามารถนำไปใช้ควบคุมสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตจากน้ำยางข้น เช่น ถุงมือ และนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมในการทำให้พลาสติกพอลิสไตรีนที่เปราะแตกหักง่ายสามารถทนแรงกระแทกได้มากขึ้น โดยใช้อนุภาคยางธรรมชาติแทนการใช้ยางสังเคราะห์ที่ได้จากปิโตรเคมี

ปัจจุบัน ศ. ดร.ประมวล และคณะได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาถุงมือที่เตรียมจากน้ำยางธรรมชาติให้มีความพิเศษ สามารถนำไปใช้ได้ดีในทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวคือ ต้องการเตรียมถุงมือยางที่มีสามชั้น โดยชั้นกลางบรรจุยาฆ่าเชื้อโรคไว้ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ทันตแพทย์ หรือศัลยแพทย์ สวมใส่ถุงมือแล้วเกิดรอยบาด การฉีกขาด หรือรั่วเมื่อเข็มฉีดยาแทงทะลุ เชื้อโรคจากเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยจะถูกกำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อโรคที่บรรจุไว้ในถุงมือพิเศษนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ผิวหนังของแพทย์ผู้สวมใส่ ทั้งนี้จะเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในรูปแบบของแคปซูล ก่อนจะนำไปติดลงบนพื้นผิวของถุงมือยางแล้วปิดทับด้วยแผ่นฟิล์มยางอีกชั้นหนึ่ง ในขณะนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ถุงมือยางที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและบางลง เพื่อให้สวมใส่ได้สะดวก และสามารถจับต้องอุปกรณ์ขนาดเล็กได้ถนัด ทำให้มีความแม่นยำในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาให้สามารถสวมใส่หรือถอดถุงมือยางออกได้อย่างสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องโรยแป้งแบบเดิมๆ ที่มักมีการฟุ้งกระจาย จึงใช้ไม่ได้ดีในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และในงานที่ต้องการความสะอาดสูง โดยได้สังเคราะห์อนุภาคพลาสติกใสที่มีขนาดเล็กระดับนาโน ได้แก่ พอลิเมทิล เมทาคริเลต แล้วยึดติดบนพื้นผิวของแผ่นยางโดยอาศัยแรงดึงดูดระหว่างประจุที่ตรงข้ามกัน ทำให้ความขรุขระและความแข็งที่ผิวของแผ่นยางเพิ่มขึ้น โดยที่ความแข็งแรงของถุงมือยังดีเช่นเดิมและอนุภาคไม่หลุดออกมาขณะใช้งาน การที่ถุงมือไม่แนบสนิทกับผิวหนังส่งผลให้แรงเสียดทานลดลง ถุงมือจึงลื่นขึ้น ทั้งนี้การติดอนุภาคนาโนยังทำให้ลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างถุงมือยางกับผิวหนัง จึงเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้ในกลุ่มเสี่ยงที่แพ้โปรตีนซึ่งอยู่ในยางพารา งานวิจัยต่อไป คือ การสังเคราะห์พอลิเมอร์ที่มีหมู่ฟังก์ชันที่เหมาะสมและ/หรือมีฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อนำไปติดบนแผ่นยางธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์และสาธารณสุข

งานวิจัยอีกด้านหนึ่ง คือ การนำความรู้เกี่ยวกับพอลิเมอร์คอลลอยด์ไปพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคให้มีความไว แม่นยำ และสะดวกในการใช้งาน ราคาไม่แพง อาทิ การพัฒนาชุดตรวจเชื้อมาลาเรียเพื่อใช้งานในภาคสนาม ที่สามารถอ่านผลการทดสอบอย่างชัดเจนได้ด้วยตาเปล่า



เข้ารับพระราชทาน ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2550

แคปซูลยางหุ้มปุ๋ยยูเรีย

นอกจากการพัฒนาถุงมือทางการแพทย์แล้ว ศ. ดร.ประมวลยังทำวิจัยเพื่อพัฒนาการนำนํ้ายางธรรมชาติไปใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ การใช้น้ำยางมาเตรียมเป็นแคปซูลยางหุ้มปุ๋ยยูเรียด้วยเทคนิคการตกตะกอนในกรด เพื่อควบคุมอัตราการปลดปล่อยปุ๋ยให้นานขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม จึงทำให้ใช้ปุ๋ยได้อย่างคุ้มค่าโดยไม่มีการตกค้างสะสมในดินและน้ำ รวมทั้งไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้นำเทคนิคนี้ไปใช้เตรียมน้ำยางธรรมชาติที่ผสมกับผงเขม่าดำให้ได้เป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเม็ด ซึ่งสะดวกต่อการนำไปเข้าเครื่องผสมและการขึ้นรูป เพิ่มประสิทธิภาพการผสมในเครื่อง ลดพลังงานที่ใช้ในการผสมในเครื่อง และลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่ใช้เติมซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ต่อมาได้คิดค้นกระบวนการใหม่เพื่อนำอนุภาคยางสังเคราะห์มาหุ้มรอบอนุภาคยางธรรมชาติ ส่งผลให้ยางธรรมชาติสามารถทนน้ำมันได้ดีขึ้น และนำเทคนิคดังกล่าวมาปรับใช้กับอนุภาคยางในหางน้ำยางหรือน้ำยางสกิม เพื่อเพิ่มแนวทางการใช้งานของน้ำยางข้นและหางน้ำยางให้กว้างขึ้น

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (2552). ประวัติและผลงานเด่น เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2551-2552. กรุงเทพฯ : สำนักงาน

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล