ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี สมรสกับ รศ. ดร. คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ มีบุตร 1 คน ท่านเข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปัจจุบันคือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสอบเข้าได้ที่หนึ่ง เมื่อเข้ามาศึกษาแล้วมีใจรักในวิชาอินทรีย์เคมี กอปรกับการชักชวนของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข จึงตัดสินใจรับทุน Colombo Plan และจากการช่วยเหลือโดยตรงของท่านอาจารย์สตางค์ จนเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก ภายในเวลา 6 ปี เมื่อจบการศึกษาได้กลับมาทำงานที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเมื่อปี พ.ศ. 2529-2533

ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ณ ภาควิชาเคมี ท่านมีส่วนร่วมในความก้าวหน้าของภาควิชาในการการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก มากกว่า 50 คน และส่วนใหญ่ของนักศึกษาที่จบปริญญาโทได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนักศึกษาเหล่านั้นกลับมาเป็นอาจารย์ นักวิจัย ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ลูกศิษย์เหล่านี้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ ผลสำเร็จของลูกศิษย์ทุกคนเป็นรางวัลและแรงบันดาลใจในการทำงานของท่านตลอดมา






(ที่มาภาพ : ข่าวงาน CGI OPEN HOUSE 2021 ของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ จาก มติชนออนไลน์)

ปี พ.ศ. 2549 ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีในปี พ.ศ. 2560 แม้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระแล้ว ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ประกอบกับความทุ่มเทในการทำงานของท่านอาจารย์สมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระวินิจฉัยเสนอให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ ดํารงตําแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ มีส่วนร่วมในการจัดการประชุม Princess Chulabhorn Science Congress หรือที่เรียกว่า Princess Congress ตั้งแต่ครั้งปฐมฤกษ์เป็นต้นมา โดยการประชุมนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลหรือนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมประชุม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำแหล่านี้ เป็นการกระตุ้นความสนใจและพัฒนางานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทย

ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นเวลามากกว่า 20 ปี เริ่มจาก NRCT-JSPS Core University Program: Chemistry of Natural Products and Polymer Science เมื่อ JSPS ยกเลิกระบบ Core University Program ท่านเข้าร่วมเป็น Founding Member ของ Program ใหม่ของ JSPS จัดตั้ง Asian Core Program (ACP): Cutting Edge in Organic Chemistry โดยเริ่มแรกมีสมาชิก 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และไทย ปัจจุบันมีชาติสมาชิกเพิ่มเติมคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย

วัตถุประสงค์ของ ACP คือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการสร้างเครือข่ายของนักอินทรีย์เคมีในประเทศแถบเอเชีย เพิ่มความเข้มแข็งของงานวิจัยด้านอินทรีย์เคมี พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ ในแต่ละปีจะจัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดการประชุมในกลุ่มประเทศสมาชิก เมื่อมีการประชุมแต่ละครั้ง มีการจัด Lectureship Award ให้แก่นักเคมีที่มีผลงานยอดเยี่ยมจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ 6-8 คน มาเป็นวิทยากรบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนักเคมีไทยที่มีผลงานดีเด่นก็จะได้รับการคัดเลือกไปบรรยายในประเทศต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

ผลพวงจาก ACP นี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยและนักศึกษามีโอกาสได้พบและฟังการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างงานวิจัย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย



(ที่มาภาพ : ข่าวงาน CGI OPEN HOUSE 2021 ของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ จาก แนวหน้า)

ประวัติการศึกษา

- จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- เข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2506-2512 : ได้รับทุนโคลัมโบ (The Colombo Plan Scholarship) จากรัฐบาลอังกฤษ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ จนจบปริญญาตรี สาขาเคมี (เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2509 และปริญญาเอก สาขาเคมีอินทรีย์ ในปี พ.ศ. 2512 โดยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง "Studies on the Biosynthesis of Hasubanonine"
- พ.ศ. 2513-2514 : ได้รับทุนจาก South-East Asia Treaty Organization (SEATO) Fellowship ไปทำวิจัยหลังปริญญาเอก (Posdoctoral Training) ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2512-2519 : อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2513-2514 : Postdoctoral Fellow, Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2514-2515 : Research Associate, Boston University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนของ National Cancer Institute
พ.ศ. 2519 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2522 : รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2524-2526 : Visiting Scientist, Neurochemistry and Addiction Research, Veterans Administration Medical Center, Houston, Texas
ตำแหน่งทางด้านบริหาร
พ.ศ. 2529-2533 : หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533-2537 : ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเคมีอินทรีย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2532 : หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนายาสังเคราะห์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533 : หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
พ.ศ. 2538 : ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัย
พ.ศ. 2549-2560 : รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน : อธิการบดี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2540-2543 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาเคมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • พ.ศ. 2544-2547 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาเคมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • พ.ศ. 2547 : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลงานวิจัย

ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ ทำงานวิจัยด้านการสังเคราะห์ การหาสูตรโครงสร้าง และฤทธิ์ทางยาของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ได้จากสมุนไพร และมีความสนใจในสารประกอบพวก Nitrogen Heterocycles โดยเฉพาะสารประเภทอัลคาลอยด์ เป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังได้ร่วมวิจัยในหลายโครงการกับนักวิจัยในแขนงวิชาอื่น ๆ โดยทำหน้าที่แยกสาร หาสูตรโครงสร้าง หรือสังเคราะห์สาร ที่ใช้ประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ เช่น ศึกษาสารประเภท cyanogenic glycosides จากต้นมันสำปะหลัง การศึกษาและสังเคราะห์สารประกอบ sulphonamides เพื่อใช้ทดสอบฤทธิ์ในการใช้เป็นยาหมันชาย และศึกษากลไกในการเป็นหมัน การหาสารที่เป็นยารักษาโรคมาเลเรีย ได้หาวิธีการใหม่และประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ mefloquine และอนุพันธ์ต่าง ๆ ผลจากงานวิจัยนี้ได้พบสารที่ฆ่าเชื้อมาเลเรียที่ดีมากตัวหนึ่ง และได้รับสิทธิบัตรภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โครงการสังเคราะห์และฤทธิ์ทางยาของ praziquantel และอนุพันธ์จำนวนมาก โครงการวิจัยอนุพันธ์ colchicine จากต้นดองดึง ได้หาสูตรโครงสร้างอนุพันธ์ colchicine หลายตัว พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสูตรโครงสร้างโดยการสังเคราะห์เพื่อใช้ในการทดสอบมะเร็ง cell line ต่าง ๆ รวมถึง cell line ของมะเร็งท่อน้ำดี โครงการพัฒนาและการผลิตน้ำยาอิมมูโนเคมี เพื่อตรวจสอบหาสารแอมเฟตามีน (ยาม้าและยาอี) โดยสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนเพื่อใช้ในการเตรียมน้ำยา ตรวจวินิจฉัยยาม้าและยาอี เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนมากกว่า 400 เรื่อง เขียนบทความทางวิชาการในหนังสือตำราต่างประเทศจำนวน 4 เรื่อง และมีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจำนวน 2 เรื่อง และบทความที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนกว่า 90 เรื่อง

เรียบเรียงจาก :
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์. (2545). คุณูปการาจารย์ รศ. ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
สูจิบัตรที่ระลึกงานสถาปนนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2556

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล