สวัสดีค่ะ
ฉันชื่อ วรัษยา สุนทรศารทูล ทำงานอยู่ที่หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางวิชาการ
งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข หนังสือที่ชอบมากของฉัน คือ
"คำพิพากษา"
เป็นนวนิยายรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๒๕ ผลงานของ "ชาติ กอบจิตติ"
คำพิพากษา ดำเนินเรื่องโดยนายฟัก เป็นภารโรงคนหนึ่งที่ต้องคอยดูแล
สมทรง แม่เลี้ยงยังสาวที่สติไม่ดี ชาวบ้านมักจะมองฟักในแง่ร้าย และแสดงความรังเกียจเขาเสมอเพราะหาว่าเขามีความสัมพันธ์กับแม่เลี้ยง
ทั้งที่แต่ก่อนนั้นสมัยที่ฟักยังบวชเรียนเป็นสามเณร ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธาให้ความเคารพ
แต่เมื่อสึกออกมาหลังที่พ่อเขาตาย ฟักกลับกลายคนที่ชาวบ้านไม่ค่อยอยากจะสุงสิงด้วย
โดยเฉพาะข้อหาร้ายแรงที่ชาวบ้านพร้อมใจกันตราหน้าว่าเขามีอะไรกับแม่เลี้ยงที่เป็นบ้า
ด้วยสภาพสังคมที่กดดันบวกกับความเครียด ฟักเริ่มหันเข้าหาเหล้าจนติดงอมแงม
งานการไม่ค่อยจะทำ จนถูกชาวบ้านตราหน้าอีกว่าจนไม่มีจะกินแล้วยังขี้เมา
ฟักฝากเงินเดือนอันน้อยนิดของตนไว้กับครูใหญ่ที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพว่าเป็นคนดี
แต่แท้จริงแล้วครูใหญ่กับเอาเงินของเขาไปจนหมด ฟักพยายามเล่าความจริงให้ชาวบ้านฟังแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ
ซ้ำยังประนามเขาอีก หาว่าไปใส่ร้ายคนดี ท้ายที่สุดฟักเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจนตาย
มีเพียงคนบ้าอย่างสมทรงอยู่ข้างๆ
เรื่องราวของฟักสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของค่านิยมของคนในสังคม ที่มักมองคนแต่เพียงเปลือกนอก
มองเห็นแค่เพียงสิ่งสวยงามที่ฉาบไว้แต่ไม่ได้มองลึกเข้าไปที่ตัวตน
เหมือนฟักที่เมื่อมีจีวรคลุมกายชาวบ้านก็มองด้วยสายตาชื่นชม แต่เมื่อสลัดจีวรออกเขาก็กลายเป็นเพียง
"ไอ้ฟัก" รวมถึงอคติที่บดบังมโนธรรมของชาวบ้าน ชายหนุ่มกับหญิงบ้าที่ต้องมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
ก็ถูกมองในแง่ร้ายและถูกพิพากษาว่าทำการบัดสี ทั้งที่ไม่มีใครรู้เรื่องราวที่แท้จริงเลยซักคน
และตัวละครอย่างครูใหญ่ก็เป็นเหมือนคนมี "ภาพลักษณ์" ดูดีแต่ไส้ในนั้นมีแต่ความคดโกง
แม้นวนิยายเรื่องนี้จะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ฉันคิดว่ายังคงความทันสมัย
เพราะสังคมเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นในสังคม
ทำให้ได้ข้อคิดว่าอย่ามองคนแต่เพียงเปลือกนอก และตัดสินคนจากแค่สิ่งที่เราเห็นเท่านั้น
ขอให้มองที่ตัวตนของเค้า และอย่าไปตัดสินชีวิตใครว่าถูกหรือผิดเพราะทุกคนต่างมีเหตุผลในการกระทำของตนเอง
อยากให้ชาวคณะวิทย์ฯ อ่านหนังสือกันเยอะๆ เพราะหนังสือทุกเล่มมีคุณค่าและมีสาระประโยชน์
หากแต่เราต้องสกัดเอาประโยชน์นั้นออกมา ไม่ใช่อ่านเพียงแค่เอาสนุก
มิเช่นนั้นก็คงจะเหมือนอย่างไอ้ฟัก ที่ถูกมองเป็นแค่เรื่องที่ไว้นินทากันสนุกปากแต่หาสาระอันใดไม่ได้
|