หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

[ แนะนำหนังสือเล่มโปรด ]

ผศ.ดร. สมชาย เชื้อวัชรินทร์

อาจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ชอบอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส ชอบ “คู่มือมนุษย์” แต่เล่มแรกที่อ่านคือ “เราศึกษาไปเพื่ออะไร” เล่มนี้พูดถึงเรื่องว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อตัวเองรึเปล่า ตัวกูของกูรึเปล่า ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้เรื่องธรรมะอะไร ค่อนข้างเป็นเด็กที่เรียนตามที่เราต้องการ คือเรียนแบบเค้าเรียนกันน่ะ เราก็เรียนเลย เอาให้สูง ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดถึงเพื่อนๆ ไม่คิดถึงใครเลย พออ่านแล้วทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองในชีวิตเรา เรื่องการวางตัวเองทำนองนี้ จริยธรรมก็มีมากขึ้น เดิมทีเราอยากได้อะไร อยากทำอะไร ก็ทำ ไม่สนใจใคร แต่พอมาอ่าน ก็รู้แล้วว่าศึกษาไปเพื่ออะไร เราศึกษาไปเพื่อให้เราเข้าใจว่า เราจะต้องทำตัวยังไงให้ "หยุด" ในสิ่งที่กิเลสมันเข้ามา เขาเรียกว่า ภัสส เวลาเราใช้ชีวิตประจำวันมันก็จะมีเรื่องของภัสส ถ้าเรารู้ว่านี่คือภัสสปุ๊บ เราก็จะหยุดมันได้ ถ้าเราหยุดมันไม่ได้เราก็จะเกิดอารมณ์ อารมณ์ยินดี อารมณ์โกรธ อารมณ์เสียใจ แต่ถ้าเราหยุดตามมันทันเมื่อไหร่เราก็จะเข้าใจว่า มันเป็นอย่างงั้นนะ ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

หนังสือธรรมะ สำหรับผม อ่านแล้วไม่ค่อย get .. แต่หนังสือของท่านพุทธทาส นี่ อ่านแล้วเข้าใจ ... ก็เลยเริ่มอ่านจากเล่มนั้นมา แล้วก็หา "คู่มือมนุษย์" มาอ่าน เขาจะบอกว่าเกิดมาเพื่ออะไร ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้มีชื่อเสียง เค้าจะบอกว่าเกิดมาเพื่อเป็นมนุษย์ ที่เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นแค่คนธรรมดา มีจริยธรรม มีความคิด จะมีอธิบายไว้ว่าเราจะมีวิธีการยังไงที่จะควบคุม กำหนดจิตใจ มีแนวทางยังไงให้เราเป็นคนที่ aware.. เล่มนี้่อ่านแล้วรู้สึกทำให้เราเข้าใจธรรมะมากขึ้น จากเดิมที่เราไม่เข้าใจเท่าไหร่ ไปวัดก็ไปเวียนเทียน แล้วรู้สึกดี แต่ไม่ได้เข้าใจถึงแก่นพุทธศาสนาว่ามันเป็นยังไง

การอ่านคู่มือมนุษย์ เป็นการสอนให้เอาพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือธรรมะอื่นๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น แล้วฟังเทปของท่านพุทธทาสเราก็เข้าใจ มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ วิธีการอธิบายของท่านเป็นเหตุและเป็นผล ที่เข้าใจได้ จับต้องได้ ท่านจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด

นั่นคือในแง่ของหนังสือธรรมะ แต่ถ้าเป็นหนังสือแบบประโลมโลกย์นี่ ก็ต้อง “สามเกลอ” พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต อ่านทุกตอน สะสมทุกตอนที่เราหาได้นะ เก็บเป็นซี่รี่ส์เลย เจอปุ๊บก็ซื้อปั๊บ มันให้เราเรียนรู้ว่าในอดีตมี event อะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ มีหลักความคิด มีค่านิยมอะไรเกิดขึ้นในตอนนั้น สอดแทรกอารมณ์ขัน มีคนหลายๆ คาแร็กเตอร์ คนนึงก็เป็นด็อกเตอร์ ชื่อ ดร.ดิเรก เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมาก อะไรที่คนธรรมดาทำไม่ได้ แกจะประดิษฐ์ออกมาได้ กลายเป็น idol ของเรานะ ว่า โตขึ้นอยากเป็น ดร.ดิเรก คิดอะไรแปลกๆ อะไรที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ กลายเป็นสิ่งที่เราชอบ และอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่นั้น อีกคนคือ พล เป็นคนรูปหล่อ มีวาทะศิลป์ สาวๆ ชอบ อีกคนจะกะล่อน คือ นิกร ส่วน กิมหงวน นี่รวยมาแต่เกิด ใช้เงินไม่มีเหตุผล แต่ทั้งหมดนี้เป็นคนที่มีคุณธรรม ในเรื่องเค้าก็จะเจอปัญหาต่างๆ ต้องมาแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพ อย่างตอนสงครามอินโดจีน ว่าคนไทยสมัยก่อนเค้าคิดยังไงกับฝรั่งเศส เราถูกรุกรานนะ เราต้องต่อสู้กับพวกนี้นะ

ที่ได้มากที่สุดคือภาษา การอ่านหนังสือจะทำให้เราใช้คำพูดได้สละสลวย คนเข้าใจได้มากขึ้น ดีขึ้น เวลาเราเขียนเรียงความก็จะดีขึ้นอย่างชัดเจน คือการอ่านหนังสือจะทำให้เรารู้จักใช้คำ ไม่ซ้ำซาก ถ้าเราไม่อ่านหนังสือเลย เอาแต่ฟังเค้าพูดไปมา การใช้คำพูดหรือการจัดเรียงประโยคก็จะไม่นุ่มนวลเท่าไหร่

ปัจจุบันหนังสือมันมีเยอะมากนะ อยากอ่านอะไรก็แล้วแต่เราชอบ ลองดูที่เราชอบแล้วมันเป็นประโยชน์ ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น อ่านแล้วสบายใจ แต่อย่าอ่านแล้วหมกมุ่น หมกมุ่นกับสบายใจมันไม่เหมือนกัน หมกมุ่นนี่อ่านแล้วต้องติด มันจะต้องให้ได้อ่าน อ่านเยอะๆ แต่ถ้าเอาสบายใจก็อ่านแล้ว เออ...ชีวิตเราดีขึ้น นั่นก็จะเป็นหนังสือที่ดีสำหรับเรา ก็มีทั้งหนังสือธรรมะ หนังสือวิชาการ บางทีถ้าเราไม่ชอบวิชาการในเรื่องไหน ลองไปหาหนังสือที่เกี่ยวกับมุมมองของนักวิชาการในเรื่องนั้นมาอ่าน บางทีเราก็ทำให้เรามีมุมมองในเรื่องที่เราไม่ชอบให้ดีขึ้น เหมือนอ่านตำรา ถ้าเราอ่านตำราเล่มนี้ไม่รู้เรื่องก็ไปหาฉบับอื่นมาอ่าน มันก็จะช่วยให้รู้เรื่อง เพราะว่ามุมมองของคนเขียนแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเลือกอ่านหลายๆ มุมมอง เราก็จะได้ภาพรวมที่กว้างขึ้น


 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 2 มิถุนายน 2565 stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair2011