หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

[ แนะนำหนังสือเล่มโปรด ]

ทวีธรรม ลิมปานุภาพ

Ph.D. Candidate, Research School of Chemistry,
The Australian National University

 

 

ผม ทวีธรรม ลิมปานุภาพ เป็นศิษย์เก่าที่นี่นะครับ ตอนนี้เรียนอยู่ที่ ANU (The Australian National University) เรียนเคมีเชิงทฤษฎี มีเวลาว่างผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่เป็นภาษาอังกฤษ เล่มที่อยากจะแนะนำคือ Monsoon Country อีกเล่มหนึ่งคือ The Force of Karma เขียนโดย Pira Sudham ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ถามว่าทำไมถึงสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมคิดว่ามันมีมุมมองที่ไม่สามารถสื่อสารได้เป็นภาษาไทย และเป็นมุมมองที่มาจากภายนอก คือเวลาเราไปเรียนต่างประเทศนะครับ กลับมามองเมืองไทยเราจะเห็นเมืองไทยในมุมมองที่แตกต่าง ทั้งสภาพสังคมหรือการเมือง หนังสือเรื่อง Monsoon Country เป็นเรื่องของคนอีสาน เป็นลูกคนอีสานที่เกิดมาไม่มีโอกาสอะไรเลย แต่ว่าได้มาเรียนในต่างประเทศ ในที่สุดเขาก็กลับไปอีสาน แต่ตอนจบอาจจะเศร้านิดนึง ไม่ขอเล่าละกัน ต้องไปหาอ่านเอานะครับ ซึ่งตอนแรกผมคิดว่ามันจะจบแค่นั้น มันกลับมีเล่มต่อมา คือ The Force of Karma ออกมาในปี 2002 แต่เล่มนี้ยังอ่านไม่จบนะครับ

เล่มแรกนั้นบอกไว้ว่า คนเขียนเป็น Nominated for Noble Peace Prize คือการเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้คนเขียนได้รับการ nominate ให้เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ว่าแค่เสนอชื่อนะครับ มันมีหลายๆ เรื่องที่คนไทยเราไม่คิดจะพูดถึง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือปัญหาการที่คนไทยเรียนหนังสือเอาแค่ท่องจำ เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า ทำให้หัวใจของคนที่เรียน cripple คือทุพพลภาพไป คนเขียนพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองออกมาเป็น fiction การที่เขาได้ไปเรียนในประเทศที่สอนให้คนคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักตั้งคำถาม ทำให้เขาเห็นว่าสำหรับบ้านเรามัน ไม่ใช่นะ มันต้องเป็นอีกแบบนึง คนเขียนนี่เป็นคนไทยนะครับ เขียนเป็น fiction ที่ไม่ได้บอกว่าเป็นตัวของเขาเอง แต่ก็คล้ายๆ นั่นแหละครับ

ในวรรณกรรมเมืองไทยนะครับ อย่าง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของคุณวินทร์ เลียววาริณ ที่ได้รางวัลซีไรต์ เขาก็ไม่ได้พูดถึง 6 ตุลา ไม่ได้พูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่คนไทยไม่อยากเล่า แต่ในต่างประเทศที่คล้ายๆ กันอย่าง Rice without Rain คนเขียนได้รางวัลซีไรต์ เป็นคนสิงคโปร์แต่ไม่ได้จากเล่มนี้นะครับ เรื่องของเรื่องคือผมไปต่างประเทศ ผมอยากรู้เรื่องเมืองไทยในมุมมองของฝรั่งว่าเขาคิดเกี่ยวกับเมืองไทยยังไง แล้วมันจะมีสื่ออะไรบ้าง สื่อที่ดีที่สุดมันไม่ใช่การบอกเล่าอย่างเป็นวิชาการ แต่มันเป็นก่ารผ่านแนว fiction เป็นบันเทิงคดี อย่างในเรื่อง Rice Without Rain นี้ มันคือ 6 ตุลาเลย เค้าเล่าว่านักศึกษาจากมหิดล ธรรมศาสตร์ จุฬา เข้าไปในต่างจังหวัดยังไง แล้วมันเกิดอะไรขึ้น คนเขียนคนนี้เขาเกิดที่พม่า โตที่เมืองไทย แต่สัญชาติสิงคโปร์ คนที่เขียนบทนำให้ คือคุุณจิรนันท์ พิตรปรีชา ในเล่มตอนนั้นเขาใช้ชื่อ จิรนันท์ ประเสริฐกุล

หลายๆ ครั้งเราอาจจะไม่พอใจที่ฝรั่งมาคิดกับเมืองไทยอย่างงั้นอย่างงี้ เราคิดว่าเรารู้ดีกว่าฝรั่ง แล้วก็มาคิดว่า ฝรั่งจะมาวิจารณ์เมืองไทยไม่ได้ หรือพวกเขามีความรู้ไม่เพียงพอ แต่บางครั้งคนไทยด้วยกันเองหรือเป็นฝรั่งที่เขาสามารถชี้ให้เห็นประเด็นบางอย่างที่คนไทยไม่รู้ คือคนไทยบางส่วนอาจจะเกิดมาเช่นเป็นชนชั้นกลาง ครอบครัวในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจปัญหาของคนต่างจังหวัด นั่นเป็นหัวใจของปัญหาทางการเมืองปัจจุบัน คือผมไม่ได้มองว่าใครจะผิด แต่ปัญหานี้มันเกิดมานานแล้ว เกิดก่อนผมเกิดอีก แล้วมันก็เกิดมาเป็นระยะ แต่เราไม่ได้ทำความเข้าใจกับมัน ยังปล่อยให้มันเกิดซ้ำอีกโดยไม่ได้เรียนรู้จากมัน การอ่านหนังสือมันช่วยให้เราเรียนรู้จากอดีต ผมไม่ได้เกิดปี 1976 ผมเกิด 1986 สิบปีหลังจากนั้น แต่ผมอยากเรียนรู้ว่าสิบปีนั้นมันเป็นยังไง ก่อนหน้านั้นเป็นยังไง หลายครั้งเราชอบมองเรื่องสิทธิมนุษยชน เราอาจจะดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน พม่า เขมร ลาว บางครั้งเรามาอ่านที่คนพวกนี้เขียนนะครับ จะเห็นว่าประเทศมันไม่ได้มีกรอบเป็นเขตแดนเสมอไป รัฐชาติในปัจจุบันเกิดมาไม่ถึงร้อยปีด้วยซ้ำมั้ง ก่อนหน้านั้นเป็นแค่ศูนย์กลาง ตอนนี้มีคนหลายชาติพันธุ์ในประเทศไทย แต่เราเรียกประเทศไทยตามชื่อชาติพันธุ์ที่มีใหญ่ที่สุด เลยทำให้มีความรู้สึกแตกแยก มีความไม่พอใจในชนกลุ่มน้อย ... ใช้คำนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาแล้วนะครับ ใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ละกัน พอไปเรียนต่างประเทศคือไม่ได้เรียนแต่วิทยาศาสตร์นะครับ ได้เห็นมุมมองที่ว่าคนอื่นเค้ามองประเทศไทยเรายังไงด้วย ถ้าเขาเห็นเราด่าคนอื่นว่า ไอ้ลาว ไอ้เขมร เค้าก็มองคนไทยว่า ... ก็ใช่ย่อยนะ เมื่อก่อนอย่างในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเค้าก็มีปัญหาแบบนี้นะครับ เค้าก็ด่าคนที่กลุ่มคนมีสีผิวต่างจากพวกเขา สุดท้ายเขาก็มีกฎหมายมีกระบวนการที่แก้ไขปัญหาตรงนี้ เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเท่ากัน แต่เมืองไทยก็ยัง ... ไม่เป็นไร ยังมีอะไรแบบนี้กันได้อยู่

ในเรื่องนี้เป็นภาษาอีสานหมด เราก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้พูดไทย เขาไม่ใช่คนไทย เกิดความรู้สึกแบ่งแยก แตกแยก ถ้าเราไปเรียนต่างประเทศ จะเห็นว่ามันไม่จำเป็นนะที่ภาษากลางจะเป็นภาษาราชการ คนทั้งประเทศต้องตัดสินกันมาว่าภาษาอะไรที่จะเป็นทางการ และภาษาอะไรจะถูกต้อง อย่างในญี่ปุ่นก็มีหลายสำเนียงก็ไม่เห็นเป็นปัญหา ไม่เห็นต้องดูถูกว่าสำเนียงโอซาก้านี่แหม...บ้านนอกนะ อันนั้นเป็นสำเนียงจากภาษาเดียวกัน ถ้ามันมีศัพท์ใหม่ มีกระบวนการคิดคำพูดที่ต่างกันไป มันก็จะมองว่าเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ทำนองนี้ ซึ่งพออ่านพวกนี้แล้วเลยทำให้ความคิดเรากว้างขึ้น ทำให้เราไม่ได้มองว่าปัญหาปัจจุบันนี่สีอะไรจะถูก แต่ทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้นี่อยู่ภายใต้กรอบความคิดอะไร ซ้ำรอยเดิมมั้ย เมื่อก่อนนี่ 35 ก็มี 16 19 ก็มี 2500 ก็มี มันไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดมาตั้งนานแล้ว เพราะมันไม่มีสื่อแบบนี้ในภาษาไทย เล่มนี้นี่ถ้าผมแปลได้ก็อยากแปลนะ ...

บางครั้งมันมี Censorship หลายอย่างทำให้ไม่มีเป็นภาษาไทย แต่อันนี้อาจจะมีกรอบแคบๆ อย่างปี 16-19 มีหนังสือมากมายผุดขึ้นมา จากนั้นก็หายไปหมด เมื่อก่อนเราอาจจะมี Censorship อย่างกรมตำรวจ มีอะไรหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้ผมว่ามันมีแรงกดดันจากนานาชาติมากขึ้น เร็วๆ นี้ผมอ่านเรื่องของ Wikileaks ซึ่ง Julian Assange เป็นชาวออสเตรเลียก่อตั้งขึ้น เค้าบอกว่าชาวออสเตรเลียต้องระดมเงินทุนเพื่อไปลงโฆษณาในสหรัฐอเมริกา เพื่อจะบอกว่าการที่นักการเมืองหลายคนของสหรัฐ พูดเหมือนที่ใส่ใน List น่ะครับว่าฆ่าได้เลย มันไม่ถูกต้อง ในต่างประเทศการดำเนินการทางกฎหมาย เขาจะมี Presumption of Innocence คือทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด มีคำพูดของ Thomas Jefferson อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ เคยพูดไว้ว่า “Information is the Currency of Democracy" คือข้อมูลข่าวสารนี่เป็นเงินตราของประชาธิปไตย ข้อมูลข่าวสารอะไรก็ตามควรจะเปิดเผยให้คนตัดสินใจ บางคนอาจจะว่าไม่ถูกต้อง บิดเบือน แต่ทุกคนมีสมอง พิจารณากันได้เอง ไปต่างประเทศผมก็ได้มุมมองที่ต่างไปแบบนี้

ในเรื่องนี้มันมีการบอกเรื่องของนักเรียนทุนด้วยนะครับ เขาเล่าว่านักเรียนทุนไปเรียนที่ต่างประเทศ เจอผู้ดูแลนักเรียนทุนที่...ตรงนี้ไม่อยากเล่าในเนื้อหานะครับ อยากให้อ่านเองด้วย แต่อย่างประเทศไทย ส่งนักเรียนทุนไทยไปต่างประเทศก็ไม่ได้ดูแลเขาอย่างเต็มที่ ไม่ดีเหมือนทุนที่ต่างประเทศให้ เด็กก็จะรู้สึกว่าน้อยใจ เงินก็ดีไม่เท่า ดูแลก็ดีไม่เท่า แถมบางทียังเอาเราไปใช้งานอีก ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดนะครับ ตอนอยู่เมืองไทยนี่จะรู้สึกว่าทุนรัฐบาลไทยนี่เป็นทุนที่ดีที่สุด มีเกียรติสูงสุด เราอยากได้ตรงนั้นเพราะเราอยากรับใช้ประเทศชาติ แต่พอไปต่างประเทศแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ อย่างเงินทุนก็ไม่เท่ากับบางทุนที่การคัดเลือกแย่กว่าซะอีก หมายถึงว่าคนไม่ต้องมีคุณภาพเท่า ไม่ต้องสอบโน่นสอบนี่ก็ได้มาง่ายๆ มันเลยเห็นถึงความไม่เท่ากัน ซึ่งในเล่มนี้ก็มีเล่าไว้บ้างเหมือนกันครับ

 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 2 มิถุนายน 2565 stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair2011