หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

[ แนะนำหนังสือเล่มโปรด ]

รองศาสตราจารย์ นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์

อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พุทธศักราช 2551
นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว.-สกอ. ประจำปี พุทธศักราช 2551

 

ปกติผมอ่านหนังสือเป็นประจำและหลากหลาย ประเภทที่อ่านเป็นกิจวัตรก็จะเป็นวารสารที่เป็นสมาชิกอยู่ เช่น Science และ Scientific American คอลัมน์ที่ชอบก็จะเป็นบทความที่สั้นกระชับ เช่น บท editorials, news และ perspectives คอลัมน์พวกนี้ช่วยให้เราได้รับข่าวสารและแนวคิดที่ทันสมัยโดยเขียนด้วยภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่าย บางทีผมก็แวะร้านหนังสือก่อนกลับบ้าน เดินเลือกซื้อหนังสือ เช่น นวนิยาย ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว หรือศิลปะมาอ่านเวลาว่างหรือไปพักผ่อนต่างจังหวัด นอกจากจะอ่านหนังสือที่เป็นเล่มแล้วยังมีแบบที่เป็น e-book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทุกวันนี้ผมอ่านใน iPad ซึ่งก็สะดวก เพราะมีน้ำหนักเบาและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ที่จริงถึงแม้ว่าจะมี e-book ซึ่งพกติดตัวได้ง่ายทำให้มีความสะดวกในการอ่านมากขึ้น แต่ผมก็ยังชอบอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษอยู่ เพราะทำให้เราเปิดกลับไปกลับมาได้สะดวก หรือจดบันทึกได้ง่ายกว่า

ส่วนนวนิยายผมชอบอ่านเป็นเล่มแบบพ็อกเก็ตบุ๊ค ส่วนหนึ่งเพราะจะต้องใช้เวลากับมันมาก ถ้าเริ่มอ่านแล้วมักจะต้องนั่งอ่านตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อความต่อเนื่อง นวนิยายหลายเรื่องมีความน่าสนใจ เพราะอ้างอิงประวัติศาสตร์เหตุการณ์จริง หรือสถานที่จริง ถ้าเรื่องไหนได้รับความนิยมสูงก็จะมีคนทำคู่มือออกมาด้วย เช่น เรื่อง Da Vinci Code ของ Dan Brown คู่มืออธิบายถึงสถานที่ วัตถุ หรือประวัติความเป็นมาของสิ่งที่อ้างถึงในหนังสือ บางทีก็มีรูปภาพประกอบทำให้อ่านสนุกและได้ความรู้มากขึ้น

นวนิยายเรื่อง Deception Point ของ Dan Brown เป็นอีกเรื่องที่สนุกน่าตื่นเต้นมีความเป็น“วิทยาศาสตร์” ดี มีฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยด้วย แปลได้ดีทีเดียว แต่ผมว่าควรอ่านทั้งสองภาษาเพื่อเปรียบเทียบกันจะทำให้ได้อรรถรสมากกว่า Deception Point เป็นเรื่องราวของ NASA ที่ค้นพบอุกกาบาตที่มีฟอสซิลดึกดำบรรพ์อยู่ข้างใน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีสิ่งมีชีวิตอยู่นอกโลกจริง ซึ่งเป็นการค้นพบที่มี “Impact” สูงมาก เรื่องนี้มีความซับซ้อน มีทั้งเรื่องของการเมืองและวิทยาศาสตร์ ทั้ง NASA และประธานาธิบดีสหรัฐตื่นเต้นกับการค้นพบครั้งนี้มากจึงให้นักวิทยาศาสตร์หลายสาขามาร่วมทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริง และให้พระเอกซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรายการสารคดีชื่อดังทำรายการโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปเข้าใจ การค้นพบครั้งนี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนนางเอกเป็นลูกสาวนักการเมืองคู่แข่ง และเป็นนักวิเคราะห์ข่าวกรองประจำทำเนียบขาว เนื้อเรื่องจะมีการเล่าสลับไปมา ระหว่างการสำรวจอุกกาบาต และทีมสายลับที่เฝ้าสังเกตการณ์ ซึ่งจะคอยลอบสังหารคนที่พยายามจะเข้ามาสืบหรือค้นหาความจริงว่าอุกกาบาตนี้มีเรื่องไม่ชอบมาพากล หลังจากที่นางเอกและทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาลงลึกเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของวัตถุชิ้นนี้ก็พบความผิดปกติ พวกเขาคิดว่าอุกกาบาตนี้ไม่ธรรมดาและน่าจะมีความลับอื่นซ่อนอยู่ เมื่อพยายามค้นหาความจริงเพิ่มเติม พวกเขากลับถูกตามล่าทีละคนและต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดด้วยความยากลำบาก โดยมีเจ้านายของนางเอกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคอยช่วยเหลือ สุดท้ายพระเอกเข้าใจเรื่องทั้งหมด เนื่องจากผู้ช่วยวิจัยของพระเอกอ่านพบความลับใน “Paper” ที่ตีพิมพ์โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนหนึ่ง ...เห็นไหมครับว่าวารสารวิชาการมีประโยชน์มากจริง ๆ...

ประเด็นที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นคือ ความลับที่ต้องการเก็บซ่อนคืออะไร และ “ใคร” เป็นผู้บงการฆ่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังมีคะแนนนิยมต่ำลงอย่างมากและกำลังจะเลือกตั้งแพ้พ่อของนางเอก หรือจะเป็นผู้อำนวยการ NASA ที่ต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงาน หรือเป็นสมาชิกบางคนของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการผลงาน ผมไม่เฉลยดีกว่า แต่จะบอกว่าเป็นเรื่องที่หักมุมมาก ๆ เรื่องนี้อ่านแล้วได้แง่คิดหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง เช่น เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำงานเป็นทีมแบบบูรณาการ คือมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมแก้โจทย์วิจัยด้วยกัน การทำงานเดี่ยวเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งอาจจะได้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์หรืออาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด และอีกประเด็นคือ ความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบและภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไม่น่าสนใจ นอกจากนี้ผู้แต่งยังเชื่อมโยงเรื่องของการเมือง วิทยาศาสตร์ และความมั่นคงของประเทศได้อย่างกลมกลืนสมเหตุสมผล


สุดท้ายผมขอกล่าวสั้น ๆ ว่า หลายคนอาจชอบดูโทรทัศน์ หรือท่องโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อรับข่าวสารและหาข้อมูลมากกว่าอ่านหนังสือเป็นเล่ม แต่หนังสือก็มีเสน่ห์ที่น่าสนใจเพราะนอกจากรูปเล่มที่สวยงามน่าอ่าน ได้ความรู้และความบันเทิงแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการใช้ภาษาเขียน ตลอดจนวิธีการส่งผ่านความคิดโดยการใช้ตัวอักษรอีกด้วย

 

 

 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 2 มิถุนายน 2565 stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair2011