หนังสือเล่มโปรด (My Favorite Book)

[ แนะนำหนังสือเล่มโปรด ]

ผศ. บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ

อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

               ปกติแล้วเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าระยะหลังเนื่องจากงานมันเยอะ ก็พยายามจะไม่อ่าน เพราะถ้าอ่านแล้วมันจะติด มันจะทำให้เราเสียเวลามากเลย สิ่งที่เหลือที่อ่านก็คือ หนังสืองานศพกับหนังสือเกษียณ อันนี้พอได้รับมาก็จะอ่านเลย เพราะว่ามันอยากรู้มันสนใจจริงๆ เพราหนังสือที่สนใจจิงๆ จะเป็นหนังสืองานศพและหนังสือเกษียณ หนังสืออื่นๆ เมื่อก่อนชอบอ่าน อ่านหนังสือนิยาย ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว อ่านสกุลไทย ติดตามอ่าน ร่มฉัตร ของกฤษณา อโศกสิน อ่านนิยาย ชอบอ่านมาก แล้วก็อ่านกำลังภายใน อ่านแบบข้ามคืนข้ามวันเลย มาเป็นตั้งๆ แล้วก็อ่านทีเดียวรวดจนจบ เพราะเป็นคนที่มีนิสัยอ่านแล้วติด หลังๆพอโตขึ้นมา งานเยอะ ก็พยายามไม่อ่าน เพราะอ่านแล้วมันติด มันวางไม่ลงก็เลยไม่อ่าน ก็จะเหลือแต่ที่จำเป็นก็คือหนังสืองานศพ รับมาปั๊บก็จะอ่านเลย แล้วก็หนังสืองานเกษียณ เพราะอ่านแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าคนเรามันมีอะไรดีๆ เยอะแยะ ซึ่งตอนอยู่เราก็ไม่รับรู้เค้า เพราะเค้าไม่มีโอกาสได้แสดงออก ไม่มีใครได้เขียนถึงเค้า แต่พอเค้าเกษียณทีนึง หรือพอเค้าตายไปแล้ว คนถึงจะเขียนเรื่องอะไรที่เกียวกะเค้าเยอะแยะ ซึ่งมันน่าสนใจมาก เลยคิดว่าหนังสื่อที่ดีๆ ก็คือหนังสืองานศพกับหนังสือเกษียณอายุ ดีมากเลยนะคะ อ่านแล้วรู้สึกให้กำลังใจกับตัวเราเอง แล้วยังรู้สึกดีๆ กับคนอื่นมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ดี แล้วหนังสืองานศพที่ดีที่สุด ที่ชอบมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็คือเล่มที่เก่าที่สุด ก็คือ สูตรของเว่ยหลาง เป็นหนังสืองานศพตั้งแต่ปี 2498

               เล่มนี้เป็นเรื่องของเว่ยหลาง ซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญคนนึง แล้วก็เป็นคนจีนในสมัยนานมากแล้ว ราชวงศ์ถังเมื่อพันปีก่อน เค้าก็อยากจะศึกษา เค้าก็รู้ว่ามีพระสังฆปรินายกอยู่ที่ตำบลไกลๆ ที่นึง เค้าอยู่กับแม่ เค้าก็ฝากแม่ไว้ไว้กับคนนึง แล้วเค้าก็เดินทางไปเป็นเดือน พอไปถึงเค้าก็ถูกจัดให้ไปอยู่ไกลๆ ไปอยู่ที่นั่นเป็นปี ก็ยังไม่ค่อยได้เจอพระสังฆปรินายก ไม่ได้รับการสอนเท่าไร เค้าก็ไปผ่าฟืนทำงานไปเรื่อย จนกระทั่งวันนึง เค้าได้ทราบข่าวว่าพระสังฆปรินายก ให้ศิษย์ที่มาเรียน พระที่เป็นศิษย์ทั้งหลาย เขียนโศลกเพื่อจะแสดงให้เห็นว่ามีความรู้ทางด้านธรรมะมากน้อยแค่ไหน ให้ทุกคนมาเขียนส่งให้ท่าน ท่านกำลังจะหาคนที่จะมาสืบทอดเป็นพระสังฆปรินายกองค์ต่อไป พอรู้ข่าว ก็บอกว่า นี่ไง ทุกคนเค้าไปท่องโศลกอันนึง ก็คือศิษย์เอกของพระสังฆปรินายก เค้าไปเขียนเอาไว้อันนึง ศิษย์เอกคนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองจะไปเขียนจะถูกหรือไม่ถูก แทนที่จะเอาไปให้พระสังฆปรินายก ก็กลัวว่าจะผิด แต่ว่าถ้าไม่เขียนให้ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองเรียนมามากน้อยแค่ไหน ก็เลยไปเขียนไว้ที่กำแพง ทางที่ท่านจะผ่าน ก็ไปเขียนว่า “กายเราคือต้นโพธิ์ จิตใจเราคือกระจกอันใสสะอาด เราจะคอยชำระกระจกนั้นทุกวัน ทุกชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีฝุ่นละอองจับ” ก็ไปเขียนเอาไว้ อันนี้ก็เป็นเหมือนเป็นปริศนาธรรม พระสังฆปรินายกก็มาเห็นก็รู้แล้วว่า ศิษย์เอกคนนี้ ยังไม่บรรลุ ยังไม่ถึงจุดที่จะมอบตำแหน่งพระสังฆปรินายกให้ แต่ก็เรียกศิษย์ทั้งวัดมาบอกว่า นี่เป็นโศลกที่ดีนะ อ่านแล้วท่านก็จะมีความสุข ให้ทุกคนท่องบทโศลกนี้ไว้ คนก็จะนึกว่า ท่านคงพอใจ แล้วทุกคนก็ท่องบทนี้ไปจนถึงโรงฟืน ก็ไปเจอกับเว่ยหลาง เว่ยหลางถามว่า ทำอะไร ก็บอกว่าเรากำลังท่องบทโศลกอันนี้อยู่ เพราะว่าศิษย์เอกไปเขียนเอาไว้ แล้วท่านสังฆปรินายกก็บอกให้ท่องเอาไว้ก็จะทำให้จิตใจเจริญขึ้น เว่ยหลางฟังแล้วก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่หรอก แล้วก็ถามว่า เค้าเขียนไว้ที่ไหนล่ะ พาเราไปหน่อยได้ไหม พระก็บอกว่า เป็นชาวบ้านไม่รู้หนังสือแบบนี้ จะไปดูทำไม โศลกอันนี้เค้ามีไว้สำหรับคนที่จะบรรลุธรรม เว่ยหลางบอกไม่เป็นไร เราขอไปหน่อย ก็มีคนพาไป พอพาไปแล้ว เว่ยหลางก็เขียนหนังสือไม่เป็น ก็เลยบอกว่า เราก็มีโศลกเหมือนกัน เขียนให้เราหน่อยได้ไหม ลูกศิษย์พระก็บอกว่า เป็นชาวป่าชาวดง ริจะมาเขียนโศลกกะเค้าด้วยหรอ เว่ยหลางก็บอกว่า คนเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนป่าคนดง จะถึงพุทธะไม่ได้ เค้าก็เลยตกลงว่าจะเขียนให้ เว่ยหลางก็บอกว่า “ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจก ฝุ่นจะจับอะไร ก็ไม่ต้องเช็ดอะไร” พระสังฆปรินายกก็มาเห็น ในเรื่องก็บอกว่ากลัวว่าเว่ยหลางจะถูกทำร้าย ก็เลยบอกให้คนลบทิ้ง หลายวันต่อมาก็มาหาเว่ยหลาง บอกว่าเรารู้แล้วว่าท่านเป็นคนที่จิตใจหลุดพ้น แล้วก็เป็นคนที่เห็นจิตเดิมแท้ของตัวเองจิงๆ ก็จะมอบผ้ากาสาวพัสตร์กับบาตร ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระสังฆปรินายกให้ แต่ว่าให้แล้วให้หลบหนีไปให้ไกลๆ แล้วก็ให้พยายามถ่ายทอดต่อไป ให้เก็บตัวเงียบสักระยะนึงเพื่อความปลอดภัย เรื่องก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ ตอนแรกคนก็ยังดูถูก แต่พอฟังแล้ว คนก็รู้สึกว่ามันจิงนะ คือฟังปั๊บมันจะรู้ได้ทันทีด้วยญาณ ทำให้คนบรรลุได้ โดยง่าย ที่เค้าเรียกว่านิกายเฉียบพลัน เพราะเว่ยหลางไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ท่องบท ไม่ได้ทำสมาธิ แต่เค้าบอกว่า คนเรานี่มันขึ้นกับปัญญาของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับกิเลสว่ามันห่อหุ้มจิตเดิมแท้ไว้ มันพันธนาการมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดว่าคนที่พันธนาการมาก ก็คงจะต้องใช้เวลาเรียนนาน อันนี้เป็นนิกายมหายาน ก็ไม่ผิดที่คนอื่นเค้าจะใช้วิธีไปท่องมนตร์ บริกรรมคาถา ทำสมาธิ กว่าที่จะทำให้ถึงปัญญา เพราะว่ามันก็เป็นวิถีทางที่จะทำให้จิตของเรานี่เข้าไปถึงจิตเดิมแท้ได้ง่ายขึ้น แต่คนบางคนก็ไม่จำเป็น ถ้าเค้าเพ่งศึกษาเข้าไปในจิตตัวเอง แล้วก็อยู่กับตัวเอง แล้วก็คิดเพ่งจนกระทั่ง เหมือนกับอินไซด์มันเกิด เค้าก็จะสามารถบรรลุเห็นถึงจิตเดิมแท้ของตนเองได้ แล้วก็ถึงโพธิญาณ เรื่องทั้งหมดก็ประมาณนี้ ก็จะมีตัวอย่าง แล้วก็จะมีปริศนาธรรมต่างๆ มีให้เราคิดตาม ก็สนุกดี

               อาจารย์อยากจะแนะนำเรื่องการอ่านให้กับเด็กคณะเรา เพราะว่าเท่าที่ถามๆดู จะมีเด็กบางส่วนที่อ่านหมด กับอีกบางส่วนที่อ่านสอบก็จะตายแล้ว ถ้าเค้าต้องอ่าน textbook ก็ไม่ผิดอะไรนะ การอ่าน text มันก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างนึง คือมันมีแต่เรื่องที่ดีๆ แต่เค้าต้องอ่านให้เป็น อ่านแล้วก็ทำความเข้าใจกับมัน จริงๆแล้วมันก็เหมือนกับการที่เราอยู่กับตัวเองแล้วทำความเข้าใจ มันก็เป็นการรู้แจ้งอย่างนึงนะ ในเนื้อหาวิชาการ มันไม่ใช่ท่องๆ ๆ ๆ แต่อ่านแล้วทำความเข้าใจ อย่างเช่นเด็กแพทย์ อ่านแล้วทำความเข้าใจ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเองทั้งนั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ตัวเอง เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เป็นการค้นพบความจริง มันก็เหมือนศาสนาพุทธนั่นแหล่ะ มันอ่านแล้วมันทำให้เรารู้แจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เค้าก็อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง แต่ต้องอ่านอย่างที่ คือตอนเด็กๆเราไม่เป็นอย่างนั้น แต่พอเราโตขึ้น เรากลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมหรืออ่านเล็คเชอร์โน้ตของเราเดิมเนี่ย เราจะ appreciate เมื่อก่อนเราจด จดแล้วก็ท่องไปสอบ แต่ถ้าเริ่มอ่านแบบ อ่านแล้วรู้แจ้ง ตั้งแต่บัดนี้ จะเป็นการฝึกอ่านที่ดี อ่าน textbook ก็ได้ ไม่ต้องไปอ่านหนังสืออะไรที่ไหน เรื่องที่สำคัญก็คือให้เลือก เลือกข้องแวะแต่กับสิ่งที่ดี

               การอ่านหนังสือที่ดีต้องอ่านอย่างมีสติ อ่านอย่างเข้าใจและทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ อ่านไปเค้าจะได้ความเบิกบานนะ อย่างคนที่มีความเพลิดเพลินในการอ่านตำราเนี่ยมี เค้าก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย อ่านแล้วก็เข้าใจดี รู้เรื่องดี แล้วเวลาทำสอบก็มีสติ ก็ค่อยคิดแล้วทำ แต่ถ้าท่องๆ ๆ ไป บางทีมันก็หลงลืมหมด อัดๆ เข้าไปแล้วมันก็ปวดหัว มันเครียดไง มันอ่านด้วยจุดประสงค์ความเครียด แต่ถ้าอ่านด้วยจิตที่เบิกบาน มันไม่มีความเครียดแต่มันต้องมีเวลา ต้องมีเวลพอสมควร ถึงจะอ่านด้วยความเบิกบานได้ ถ้าเราอ่านด้วยจิตที่เบิกบาน ถ้าเรามีสติเราอ่านแล้วเราคิดตามไปด้วยแล้วเราเข้าใจ มันก็จะอยู่กับเรา เพราะเราเข้าใจมันแล้วไง มากี่ครั้งเราก็เข้าใจมันแล้ว เพราะมันเข้าใจ มันอยู่ในใจเราแล้ว โจทย์มาแบบไหน เราเข้าใจมันแล้ว เราก็จะคิดแล้วเราก็จะตอบได้ ก็ถึงบอกว่าการที่จะดูหนังสือที่ดีที่สุด คือการดูเพื่อจะไปอธิบายให้คนอื่นฟัง เพราะเราต้องทำความเข้าใจ เราถึงจะไปสอนเพื่อนได้ เพราฉะนั้นคนที่สอนเพื่อนเนี่ย ไม่มีอะไรเสียหาย เรายิ่งจะเข้าใจลึกซึ้งดี เพราะเราอ่านเพื่อทำความเข้าใจเพื่อไปบอกคนอื่น เพราฉะนั้นคนที่เป็นติวเตอร์นี่ก็จะดีที่สุด ยังไงเพื่อนก็ได้คะแนนไม่เท่าติวเตอร์หรอก เพราะติวเตอร์มันเข้าใจลึกซึ้ง ยกเว้นจะท่องๆ ๆ มาแล้วไปบอกเพื่อน ไอ้คนที่ฟังอย่างเข้าใจมันไม่มีความเครียด มันอาจจะได้มากกว่าเราก็ได้ คนที่ไม่มีความเครียดจะรับอะไรได้อย่างปลอดโปร่ง สบายๆ

 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 2 มิถุนายน 2565 stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair2011