แนะนำหนังสือเล่มโปรด

ผศ.ดร. เทียนทอง ทองพันชั่ง

อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผมชอบหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ครับ เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับอียิปต์โบราณ วิธีเขียนอักษร Hieroglyphics แต่ผมเขียนไม่เป็นหรอก แต่ที่ผมชอบมากๆจะเป็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ชอบมากๆเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่ชื่อ รัตนโกสินทร์ ของ ว.วินิจฉัยกุล ซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มันเป็นนิยายนะครับ แต่ก็จะมีข้อมูลบางอย่างที่เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์มาก่อนแล้วมาจับกับในนิยายเรื่องนี้ก็จะเข้าใจในเนื้อหาดียิ่งขึ้น และทำให้เราอยากค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของเรามากขึ้น นอกจากนั้นก็จะอ่านหนังสืออย่าง สี่แผ่นดิน ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และแนวความคิดของคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 – 8 ซึ่งก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจดีมาก หนังสืออีกเล่มที่ผมชอบมาก็คือ หนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก แม้ว่าดูแล้วอาจจะเป็นหนังสือเด็ก แต่เราจะได้เรียนรู้เรื่องอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้นเยอะ

ผมไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบตัวบุคคลเท่าไหร่ แต่สนใจว่าบ้านเมืองที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี่มันผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง ซึ่งก็จะต้องมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ การที่เราได้เรียนรู้จากการอ่านหนังสือเหล่านี้ ทำให้ผมภูมิใจในความเป็นคนไทย และผมขอบคุณสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้ทำไว้ให้ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยก่อนๆ มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ท่านรับผิดชอบเยอะ ท่านทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาให้แผ่นดินรอด และเจริญก้าวหน้าตั้งแต่อดีตที่ท่านรับผิดชอบโดยตรง แม้ในปัจจุบันพระเจ้าอยู่หัวของเราจะมีกลุ่มผู้ถวายงานรับใช้ต่างพระเนตรพระกรรณ แต่ว่าท่านก็ยังคงดูแลพวกเราอยู่เสมอ การที่ผมได้เรียนรู้พัฒนาการมาตั้งแต่ต้นที่บรรพบุรุษเราได้ช่วยรักษาเมืองไทยไว้ ทำให้ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย

ที่มันสนุกจากการอ่านเรื่องราวเก่าๆ ก็คือเราได้รู้ ได้คิดตามว่าคนในสมัยนั้นเค้าคิดอะไร ทำอะไร ทำไมถึงทำแบบนั้น ทำไมถึงคิดแบบนั้น บางอย่างที่คนสมัยนี้คิดว่าทำไมถึงทำแบบนั้น แต่เราก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งนั้นคือความเหมาะสมในสิ่งที่เค้าทำ ไม่ตัดสินคนด้วยปัจจุบันหรือสภาพแวดล้อมที่เราเป็น เราก็จะเริ่มเรียนรู้มากขึ้นว่าสมัยนั้นมันไม่มีอะไรแบบนี้นะ แต่เค้าคิดและแก้ปัญหาในชีวิตของเค้าได้แบบนี้ นั่นคือความฉลาด คือภูมิปัญญาของคนยุคนั้น ทำให้เราได้รู้ที่มาที่ไปด้วย และที่ผมชอบก็คือถ้าเรามีโอกาสได้ไปยังที่ตรงนั้น แล้วลองหลับตาจินตนาการตามสิ่งที่เราอ่าน นึกย้อนไปในอดีตว่าบ้านเมืองเรารุ่งเรืองขนาดไหน สมมุติว่าถ้าย้อนไปสมัยอยุธยาที่เค้าบรรยายวัดวาอารามบ้านช่องที่สวยงาม ในปัจจุบัน แม้เราเห็นแต่สิ่งที่เป็นซากปรักหักพัง แต่ถ้าเราลองหลับตาแล้วจินตนาการภาพตามที่หนังสือบรรยายว่ามันเคยเป็นยังไงในสมัยนั้น ผมรู้สึกเสียดายความรุ่งเรืองในอดีตที่เกิดจากสภาพความขัดแย้งในขณะนั้น และเมื่อมองเราในปัจจุบัน ทำให้ผมเกิดคำถามว่าเราต้องการที่จะกลับไปอยู่ในสภาพแบบนั้นอีกละหรือ ยิ่งทำให้เราได้คิดและกลับมามองปัจจุบันให้มากขึ้น

นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงมาเป็นครู เพราะเราสามารถให้ความรู้ ถ่ายทอดวิชาและความคิดของเราให้นักศึกษาได้เอาไปไตร่ตรอง และเลือกนำไปใช้ในชีวิตของเขาได้ เด็กมหิดลต้องเป็นคนที่จะคิดก่อน กลั่นกรอง แล้วนำไปปฏิบัติ อย่างน้อยถ้าเรามีโอกาสได้คุยกับเค้า นำเสนอความคิดในแง่ของคุณธรรม ความรับผิดชอบ สิ่งที่เราจะทำให้สังคม ถ้าเค้าเห็นสิ่งที่เราทำแล้วเค้าเห็นด้วยกับสิ่งที่เราแนะนำแล้วนำไปปฏิบัติ นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่าผมจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเราดีขึ้น

มาอ่านหนังสือกันเถอะครับ เล่มไหนก็ได้ ขอแค่หยิบมันขึ้นมาอ่าน ผมอาจจะแนะนำไม่ได้เพราะแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกัน แต่ขอให้อ่านนะครับ การอ่านหนังสือจะทำให้เราหยุด สงบ และมีสมาธิกับตัวหนังสือที่มันโลดแล่นอยู่บนแผ่นกระดาษ เพราะฉะนั้นการที่เราได้หยุดอยู่กับตัวเอง มีเวลาให้ตัวเองสงบ ไม่ให้สิ่งรอบข้างมาทำให้ใจเราเขวไป เราหยุดอยู่กับตัวหนังสือ ได้ใช้ความคิดใช้สมองของเรา เราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้น มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น เราก็จะไม่มีเวลาไปกินเหล้า สูบบุหรี่ ไปเที่ยวเตร็ดเตร่ มันก็ลดปัญหาอะไรไปได้หลายๆ อย่าง ที่สำคัญคือการอ่านหนังสือมันอาจจะดูช้ากว่าเมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ต ถ้าเราเปิดหนังสือแล้วอ่าน เปิดหนังสือแล้วค้นคว้า เราจะได้อะไรมากกว่าสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเปิดในเน็ท คุณคลิก Google คุณจะได้เฉพาะสิ่งที่คุณถาม แต่การอ่านหนังสือจะทำให้คุณได้มากกว่าสิ่งที่คุณถาม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าและหาความรู้