แนะนำหนังสือเล่มโปรด

รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หนังสือเล่มนี้ มีที่มาของการเป็นหนังสือเล่มโปรด ก่อนจะเล่าให้ฟัง จะขอประชาสัมพันธ์หน่อยนะคะ .. ใครสนใจยืมอ่านได้ ที่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข อยู่ในหมวด หนังสืออ่านนอกเวลา (เลขหมู่ นว ซ534ด 2549) . แม้ว่าห้องสมุดของเราจะมีหนังสือส่วนใหญ่เป็นตำราวิทยาศาสตร์ แต่ปรากฎว่าหนังสือดีเล่มนี้ กลับมีคนสนใจยืมอ่านกันมากกว่า 30 ครั้งแล้ว .. น่ามหัศจรรย์มาก

"ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน" เป็นวรรณกรรมชื่อก้องโลกที่เขียนโดย มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดร้า รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปนจัดพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2548 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 400 ปี ของหนังสือต้นฉบับ "El Ingenioso Hidalgo Don Quixote De La Mancha" ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อีกหนึ่งเล่มถวายเป็นที่ระลึกแด่ สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน การ์ลอส ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งราชอาณาจักรสเปน ในวโรกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ การพิมพ์ครั้งแรกนั้นได้ขึ้นรูปเล่มหนังสือจริง เพียง 11 เล่ม มีการส่งมอบให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปน สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด อีกทั้งเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ด้วย

ความประทับใจของดิฉัน คือ "หนังสือ" ได้กลายเป็นทูตวัฒนธรรมชั้นเยี่ยม ในการรักษาความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว บางทีก็อดนึกไม่ได้นะ ว่าเมื่อ 400 ปีที่แล้ว ในขณะที่สเปนมีวรรณกรรมงานเขียน ตอนนั้นเราเป็นยังไงในสมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสือแปลเล่มนี้ มีความสวยงาม สไตล์แบบโบราณ เย็บอย่างแข็งแรงด้วยระบบเย็บกี่ ใช้กระดาษถนอมสายตา ตัวอักษรขนาดใหญ่อ่านง่ายสบายตา ด้วยฟอนต์ PSL-ThaiAntique และใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยและปราณีตมาก ต้องขอยกย่องชื่นชมสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และผู้แปล คือ อาจารย์สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ที่มีความอุตสาหะวิริยะมาก เข้าใจว่าท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้านวัฒนธรรมของประเทศสเปนด้วย .. คนเราถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด ก็มักจะประสบความสำเร็จเช่นนี้แหละค่ะ

มีผู้กล่าวสรรเสริญหนังสือเล่มนี้กันไว้มาก อีกทั้งที่ด้านหลังปกของหนังสือเล่มนี้ ยังจารึกข้อความ (เชิงโอ้อวด) เอาไว้ว่า จำนวนพิมพ์และจำนวนผู้อ่าน เป็นรองก็แต่พระคัมภีร์ไบเบิ้ล ... "ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้ " เชิญชวนให้คนที่ยังไม่เคยอ่าน หันมาสนใจ หาเวลามาอ่านหนังสือเล่มหนาเตอะที่แสนจะสนุกสนาน มีทั้งขบขัน ปนโศกระทมทุกข์สลับกันไปมา เป็นตลกที่โหดสุดๆ ทั้งตัวเอกของเรื่องคือ ดอนกิโฆเต้ อัศวินเฒ่าผู้เข้มแข็งเกินสังขาร และตัวนักประพันธ์คือ เซร์บันเตส ซึ่งเป็นเชลยสงคราม เข้าใจว่าแต่งเรื่องนี้ในระหว่างอยู่ในคุก.. อ่านแล้วจะพบว่า ไม่ผิดหวังค่ะ วรรณกรรมเล่มนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครบรอดเวย์ ชื่อ Man of La Mancha ซึ่งเพลงประกอบละคร "The Impossible Dream" คนไทยรู้จักกันดี เพราะนำคำร้องและทำนองมาแต่งเป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติ ชื่อเพลง "ความฝันอันสูงสุด"

This is my quest, to follow that star ... No matter how hopeless, no matter how far ...
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป

ตลอดชีวิตของเซร์บันเตสมีความทุกข์ยากลำบากมาก ตอนที่เขียนเรื่องดอนกิโฆเต้เขาอายุเกือบ 58 ปีแล้ว (ซึ่งจัดว่าเป็นชายชราในวัยไม้ใกล้ฝั่ง เพราะสมัยนั้นอายุเฉลี่ยของคนไม่เกิน 60 ปี) แต่งานเขียนของเขากลับไม่ได้แสดงความขมขื่นในชีวิตอย่างใด ตรงกันข้ามกลับสะท้อนให้เห็นความเข้าใจโลกอย่างลึกซื้งว่า ชีวิตมนุษย์เรามีหลายแง่มุมสุดแท้แต่ใครจะตีความ จึงไม่ควรวัดว่าใครถูก-ผิด-วิกลจริตด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน และมนุษย์ทุกคนพึงดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความฝัน จินตนาการและอุดมการณ์ของตนโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สไตล์การเขียนของเขาจะใช้วิธีการล้อเลียนและมองชีวิตเป็นเรื่องขำขำ ไม่เคยเขียนแบบเสียดสีหรือมองโลกในแง่ร้าย ในอารัมภบท หน้า 29 เซร์บันเตสเล่าว่า เขาได้รับคำแนะนำดีๆจากเพื่อนก่อนเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ ว่า “จงเพียงให้คนอ่านรู้สึกดังนี้ยามที่อ่านนิยายของท่าน ผู้โศกเศร้าให้ขบขัน ผู้เปี่ยมสุขยิ่งหัวร่อร่า ผู้เบาปัญญาไม่ขุ่นเคืองใจ ผู้ชาญฉลาดนิยมความคิดใหม่ ผู้เคร่งครัดไม่รู้สึกหมิ่นแคลน และผู้มีสติปัญญาลึกซึ้งมิอาจหักห้ามความนิยม”

เรื่องราวเนื้อหาของวรรณกรรมนี้ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นลามันช่า มีขุนนางต่ำศักดิ์ ผู้เฒ่าวัย 50 ปีเศษ ร่างกายแข็งแรง ผอมเกร็ง แก้มตอบ ฐานะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ วันๆเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการอ่านนิยายมากเกินไป จนเกิดสติฟั่นเฟือน จินตนาการว่าตัวเองเป็นอัศวินในนิยาย เรียกตัวเองว่า “ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า” (ดอน เป็นคำนำหน้าขุนนางระดับสูง และ “ดอนกิโฆเต้” เป็นการตั้งชื่อเลียนแบบเซอร์ลานซล็อต อัศวินแห่งกษัตริย์อาเธอร์ ซึ่งออกเสียงในภาษาสเปนว่า “ลานซาโลเต้” ) เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดไปผจญภัยเพื่อสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ปราบเหล่าร้าย พิทักษ์คุณธรรม โดยสมมุติสิ่งรอบตัวให้เข้ากับบรรยากาศ เช่น ม้าที่ผอมกะหร่องของเขา กลายเป็นอาชาคู่ใจอัศวิน นามว่า “โรสินันเต้” และเนื่องจากอัศวินทุกคนต้องมีนางในฝัน ก็เลยสมมุติหญิงชาวบ้านร่างอ้วนหนา ขึ้นมาเป็นแม่หญิงโฉมสะคราญ มีนามว่า “แม่หญิงดุล์สิเนอาแห่งโตโบโซ่” จากนั้นก็ชักชวนชาวนาเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ให้ทิ้งลูกทิ้งเมียออกเดินทางติดตามไปด้วย เป็นบ่าวรับใช้ผู้จงรักภักดี โดยแต่งตั้งให้เป็นอัศวินสำรอง มีนามว่า “ซานโช่ ปันซ่า” (ปันซ่า แปลว่า พุงพลุ้ย) โดยสัญญาว่ากลับมาจากผจญภัยเขาจะให้ซานโช่ได้มีโอกาสปกครองดินแดนที่มีน้ำล้อมรอบเป็นการตอบแทน

ตลอดการเดินทางผจญภัยของดอนกิโฆเต้ เจอปัญหามากมาย โดนกลั่นแกล้งเล่นสนุกเพราะเห็นว่าเป็นคนวิกลจริตก็บ่อย หลายครั้งถึงกับสะบักสะบอมอาการปางตาย แต่เขาก็ไม่ยี่หระ อดทนด้วยความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของความเป็นอัศวิน ที่ดังมากคือ ตอนที่ต่อสู้กับกังหันลมขนาดมหึมา ด้วยเข้าใจเอาเองว่ากำลังต่อสู้กับยักษ์ อ่านหนังสือเล่นนี้ ขำก็ขำ สงสารก็สงสาร เศร้าก็เศร้า .. สลับไปมา คนอ่านแทบจะสติวิปลาสตามไปด้วย แต่ในบางตอนจะพบว่า ความวิกลจริตของดอนกิโฆเต้นั้นไม่ใช่ธรรมดา เขาไม่ได้เป็นคนคลุ้มคลั่งขาดสติ แต่เลือกที่จะบ้า วีรกรรมผจญภัยบ้าๆบอๆของเขาไม่ใช่สิ่งไร้สาระ แต่แฝงไว้ซึ่งความคิด นั่นคงเป็นเพราะเขาอ่านหนังสือมามาก และมีความมุ่งมั่นในการกระทำความดี ส่วนซานโช่ ปันซ่า เป็นคนไม่รู้หนังสือ ดูเหมือนคนเซ่อซ่า แต่ซื่อและมีศรัทธาอย่างแรงกล้า น่ารักไปอีกแบบ

ในที่สุด บรรดาคนข้างบ้าน ทั้งบาทหลวงและกัลบก (ช่างตัดผม) ประจำหมู่บ้าน และผองเพื่อนคนอื่นๆ ก็พากันหลอกล่อ นำเขากลับบ้านจนได้ บาทหลวงพยายามจะบอกกับดอนกิโฆเต้ว่า นิยายอัศวินเป็นเรื่องโกหกเหลวไหลไร้สาระ เขาควรหัดอ่านหนังสืออื่นๆ ที่เป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า แต่ดอนกิโฆเต้กลับเถียงด้วยความรู้ในเรื่องอัศวินอย่างแตกฉาน จับเอาเรื่องจริงและนิยายมาผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก แถมยังอ้างว่า หนังสือก่อนตีพิมพ์ทุกเรื่องจะต้องได้รับอนุญาตจาก “พวกที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน” เสียก่อน (เหมือนเป็นกองบรรณาธิการ) คนพวกนั้นจะยอมให้พิมพ์เรื่องโป้ปดมดเท็จเป็นเล่มๆได้กระนั้นหรือ และตั้งแต่ตนกลายมาเป็นอัศวินพเนจรแล้ว กลับกลายเป็นคนกล้าหาญ องอาจ อ่อนโยน ใจกว้าง เอื้อเฟื้อ สุภาพ รู้จักอดกลั้นและทนความลำบากได้ แต่ก่อนเหมือนถูกกักขังไว้ในกรงดั่งเป็นคนเสียจริต แต่บัดนี้ได้ออกเดินทาง หากมีโอกาสขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแว่นแคว้น ต้องมีช่องทางประกอบคุณงามความดี ช่วยเหลือผู้คนได้อีกเป็นจำนวนมาก .. “ตามความเห็นของข้า คนจนย่อมมิอาจแสดงคุณธรรมเรื่องเอื้อเฟื้อแก่ผู้ใดทั้งสิ้น” .. เออ ดูแกสิ ช่าง “คิดต่าง” ได้จริงๆ

 


สุดท้ายก่อนจบ ดิฉันมีอะไรจะเล่าให้ฟัง .. ค่ำคืนที่จะเขียน "แนะนำหนังสือเล่มโปรด" เล่มนี้ ได้หอบหนังสือขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน ก่อนเข้าบ้านแวะซื้อโจ๊กที่ปากซอย เด็กลูกจ้างร้านจ้องเขม็งแล้วเอ่ยปากถามว่า นี่หนังสืออะไร ทำไมเล่มโตนัก ดูขลังจัง ดูเหมือนจะอ่านยากนะ เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ฯลฯไม่คิดว่าเขาจะถามจริงจังอะไร ก็เลยตอบสั้นๆ ว่า วรรณกรรม แต่เขาก็ไม่เลิกรา จ้องหนังสือด้วยความอยากรู้ ก็เลยต้องเปิดเล่มให้ดูและอธิบายว่า ข้างในเป็นภาษาไทย ตัวอักษรโตๆ มีภาพประกอบ และอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ในใจคิดว่า เด็กคนนี้อยากอ่านจริงๆเหรอนี่ ทุกวันนี้ดิฉันยังจำสีหน้าเด็กคนนั้นได้เลย .. ท่าทางเธออยากอ่านมาก

ประทับใจที่ใครต่อใครมักนิยมชมชอบหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ยังไม่เคยได้อ่านด้วยซ้ำไป .. ช่างเป็นหนังสือเล่มโปรดจริงๆค่ะ