แนะนำหนังสือเล่มโปรด

อภิชัย อารยะเจริญชัย

บรรณารักษ์ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

ช่วงนี้สนใจเรื่องของประเทศพม่า เลยตามอ่านหนังสือประวัติศาสตร์พม่าอยู่หลายเล่ม ที่ชอบๆ และเห็นว่าดี เช่น พม่าเสียเมือง โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, พม่ารบไทย โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์, ประวัติศาสตร์พม่า โดย หม่องทินอ่อง และ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน โดย Sudha Shah ทั้งสี่เล่มว่าด้วยประวัติศาสตร์ของประเทศพม่าในมุมที่แตกต่างกันไป แต่จะมีความเชื่อมโยงถึงกันคือมีส่วนที่เล่าถึงการปกครองและสถาบันกษัตริย์

ถ้าเอาว่าอ่านสนุกก็ต้อง พม่าเสียเมือง ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ท่านเล่าถึงพม่าช่วงที่ถูกอังกฤษยึดครองโดยเริ่มในสมัยพระเจ้ามินดง มาจนถึงพระเจ้าธีบอ (หรือพระเจ้าสีป่อ) จนกระทั่งเสียเอกราช ที่ว่าอ่านสนุกเพราะท่านช่างพรรณานาราวกับเป็นเรื่องแต่งทั้งที่เป็นเรื่องจริง ข้อด้อยของเล่มนี้คืออาจารย์หม่อมยังคงความเป็นชาตินิยมค่อนข้างมาก คือมองพม่าในสายตาคนไทยที่ยังมีมายาคติแบบเก่าที่ว่าไทยกับพม่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะคนไทยโดยส่วนใหญ่ (ยิ่งในยุคก่อน) ถูกสอนให้เห็นเป็นอย่างนั้น เมื่อพม่าเขาเสียเอกราชก็จึงได้ทียกเอาว่าเป็นเพราะบาปกรรมที่ทำแก่กรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้น พม่าเสียเมือง ก็ยังอิงความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์อยู่มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นตำราประวัติศาสตร์ที่เขียนให้อ่านสนุกก็คงได้

ส่วนสามเล่มที่เหลือนั้นน่าจะเป็นยาขมสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ พม่ารบไทย ของอาจารย์สุเนตร เล่าถึงข้อเท็จจริงที่อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และงานวิจัยที่เป็นสากล ถึงสงครามระหว่างสองประเทศ ที่มีคติความเชื่อชาตินิยมฝังแน่นอยู่ในสำนึกของคนทั้งสองชาติ อย่างไทยเราก็คิดเสมอว่าพม่าคือผู้รุกราน เสมือนคนโฉด ทั้งที่ไทยเราเองก็เคยรุกรานพม่าเขาเหมือนกัน แต่เราอ้างว่าเพื่อขยายดินแดนและปกป้องเอกราช จึงมีคำกล่าวที่ว่าประวัติศาสตร์คือบันทึกของผู้ชนะ ใครจะเขียนอย่างไรก็สุดแท้แต่ เช่นเดียวกับ History of Burma ของ หม่องทินอ่อง นักวิชาการของพม่าที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง ที่เขียนตำราเล่มนี้ผ่านมุมมองของเจ้าของประเทศที่ค่อนข้างเป็นกลางอย่างที่สุดแล้ว ทั้งสองเล่มนี้จะอ่านสนุกก็ต้องอ่านเล่มอื่นๆ ประกอบ หรือไม่ก็ต้องมีพื้นฐานประวัติศาสตร์อยู่บ้างพอสมควร ไม่งั้นจะอ่านไม่ได้รส

เล่มสุดท้าย ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เป็นเสมือนหนังสือที่เติมเต็มข้อสงสัยของผมเอง (และอาจของอีกหลายคนทั่วโลก) โดยทั่วไปนั้นเราทราบกันดีว่าหลังจากอังกฤษเข้าครองพม่าโดยสมบูรณ์ พระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายถูกเนรเทศไปประทับที่อินเดีย แต่เราไม่เคยทราบรายละเอียดหลังจากนั้นเลย จนกระทั่ง Sudha Shah ได้ค้นคว้าและเขียนเล่มนี้ขึ้นมา ชีวิตหลังจากที่ถูกเนรเทศออกจากแผ่นดินพม่าของพระเจ้าธีบอ พระมเหสีศุภยาลัต พระราชธิดา รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ความพยายามของผู้เขียนนั้นนับว่าเป็นเลิศ คือแกต้องตระเวนออกตามสืบหาผู้สืบสกุลของกษัตริย์ซึ่งนับเป็นรุ่นที่สามหรือสี่ไปแล้ว ไหนจะต้องค้นคว้าเอกสารเก่า บันทึกเก่าๆ รวบรวมประมวลมาเป็นเล่มนี้ ได้รับการยกย่องจากบรรดานักวิชาการพม่าศึกษามากว่าเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์มากของประวัติศาสตร์พม่าหลังเสียเอกราช

หนังสือประวัติศาสตร์นั้นคนส่วนมากไม่ค่อยนิยมอ่าน นอกจากว่าผู้เขียนจะสรรหากลวิธีต่างๆ นำเสนอให้น่าอ่านน่าติดตาม หากเป็นความเรียงที่เป็นตำราคงยากที่จะหยิบมาอ่าน แต่ผมเชื่อว่าใครที่ลองอ่านแล้วจะติดใจ ประวัติศาสตร์ก็ไม่ต่างจากนิยายสักเรื่องหรอกครับ มีความจริง วามลวง ลึกลับซับซ้อน มีตัวเอก ตัวร้าย มีบทดราม่า ที่สำคัญอ่านประวัติศาสตร์แล้วต้องคิดตาม อย่าเชื่อทั้งหมด อ่านหลายๆ เล่มประกอบ หาจุดร่วมจุดต่าง พิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะอ่านสนุก