แนะนำหนังสือเล่มโปรด

กนกพร งามสว่างรุ่งโรจน์

บรรณารักษ์ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

เคยรู้สึกไหมว่า...ทำไม ยิ่งรีบ ยิ่งช้า?
เคยรู้สึกไหมว่า...ทำไม ยิ่งรีบ แต่ไม่เหลือเวลา?
เคยสงสัยไหมว่า...เวลาของเราหายไปไหน?

          หากคุณเคยรู้สึกหรือสงสัยเช่นนั้น ขอแนะนำให้รู้จักหนังสือเรื่อง “โมโม่” (Momo) ของ มิชาเอ็ล เอ็นเด้ (Michael Ende) แปลจากภาษาเยอรมันโดย ชินนรงค์ เนียวกุล วรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีที่จะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของ “เวลา” ซึ่งผู้เขียนเล่าเรื่องออกเป็น 3 ตอนใหญ่ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

          ตอนที่หนึ่ง “โมโม่และเพื่อนๆ” บทเริ่มต้นของเรื่องราวของโมโม่ เด็กหญิงกำพร้าจรจัดคนหนึ่ง เนื้อตัวมอมแมม สวมเสื้อโค้ทตัวหลวมใหญ่ เด็กหญิงที่มาพร้อมกับพรสวรรค์ในการเป็นนักฟังสุดวิเศษ เด็กหญิงที่ทุกคนในชุมชนรักและเอ็นดู ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มีคำพูดหนึ่งที่ทุกคนในชุมชนติดปากก็คือ “ไปหาโมโม่สิ!” เพราะไม่ว่าใครที่ไปหาเธอ และเล่าเรื่องอะไรก็ตาม เธอจะตั้งใจฟังพวกเขา และพวกเขาก็จะได้รับความสบายใจกลับมาทุกครั้ง และโมโม่มีเวลาเหลือเฟือพอที่จะฟังสิ่งที่ทุกคนอยากจะเล่า

          ต่อมาในตอนที่สอง “ผู้ชายสีเทา” เล่าถึงกลุ่มผู้ชายผิวสีเทาแต่งตัวในมาดนักธุรกิจ ใส่สูทผูกเนกไท หิ้วกระเป๋าเอกสารหนาเตอะ และคาบซิก้าร์ไว้ที่ปากอยู่เสมอ เวลาเป็นสิ่งที่พวกผู้ชายสีเทาต้องการ พวกเขากระหายเวลาอย่างไม่รู้จักพอเพื่อที่จะต่อชีวิตให้พวกเขาดำรงอยู่ต่อไป พวกเขาขโมยเวลาไปจากมนุษย์ด้วยวิธีที่แยบยล ทำให้เวลาของมนุษย์น้อยลง ต้องเร่งรีบและเคร่งเครียดมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกผู้ชายสีเทาต้องการ และใครก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าจะเป็นตัวขัดขวางภารกิจนี้ คนๆ นั้นจะต้องโดนกำจัดไม่เว้นแม้แต่ โมโม่ เด็กหญิงผู้มีอิสระและเวลาเหลือล้น คนที่ผู้ชายสีเทาไม่สามารถขโมยเวลาของเธอมาได้ และถือว่าเป็นศัตรูที่ต้องถูกกำจัด

          ผู้เขียนสื่อประเด็นเรื่องของเวลา โดยแบ่งมุมมองออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ โมโม่ คนที่มีอิสระและมีเวลาอย่างมากมาย และผู้ชายสีเทา ผู้ที่หิวกระหายเวลาอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่รู้จักพอ เมื่อความเห็นสวนทางกันจึงต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อยู่ต่อไป เรื่องราวจึงเข้มข้นขึ้นในตอนที่สาม “ดอกไม้ชั่วโมง” ซึ่งเป็นบทสรุปของประเด็นเรื่อง “เวลา” ระหว่าง “โมโม่” กับ “ผู้ชายสีเทา” ว่าจะจบลงอย่างไร

          ผู้อ่านจำความรู้สึกที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบเป็นครั้งแรกได้ว่า รู้สึกตกหลุมรักและประทับใจหนังสือเล่มนี้มาก เป็นความประทับใจที่ซึมซับลงไปอยู่ในหัวใจ จนกลายเป็นหนังสือเล่มโปรดในที่สุด สิ่งที่ชอบ คือ การเล่าเรื่องของนักเขียนท่านนี้ที่สามารถบรรยายตัวละคร สถานที่ บริบทต่างๆ ให้จินตนาการตามได้อย่างไม่มีขอบเขต ซึ่งแม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซี และมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว (เขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973) แต่นัยยะที่แฝงอยู่ในเรื่องนั้น ยังคงสะท้อนสภาพของสังคมเมืองในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจน  เมื่อมองสภาพแวดล้อมสังคมรอบตัว บ่อยครั้งที่เราเห็นผู้คนหน้าตาเคร่งเครียดเดินกันขวักไขว่ในชั่วโมงเร่งด่วน เดินชนกัน ต่างคนต่างก็เร่งรีบจะไปยังจุดหมายปลายทางของตัวเอง โดยไม่ยอมเสียเวลาที่จะพูดคำสั้นๆว่า “ขอโทษ” มีแต่คำพูดจาที่รุนแรงใส่กัน ปราศจากไมตรี มีแต่ความฉุนเฉียว แม้ในชีวิตจริงเราไม่มีผู้ชายสีเทามาปรากฎตัวให้เห็นอย่างในหนังสือ แต่ผู้ชายสีเทาไม่ได้หายไปไหน หากแต่เป็นความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ ไม่มีโมโม่ที่จะมาช่วยเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่จะเอาชนะผู้ชายสีเทาพวกนี้ได้ด้วยตัวของเราเอง

          ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องรู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่า บริหารจัดการเวลาให้ดี และใช้ชีวิตอย่างมีสติโดยไม่เบียดเบียนชีวิตตนเองจนกระทั่งเลยเถิดไปกระทบชีวิตของคนอื่น ทุกกิจกรรมในชีวิตของเราสำคัญทั้งหมด แต่เราต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ชีวิตเคร่งเครียดมากเกินไปจนลืมที่จะมองความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัว

          สุดท้ายนี้ ผู้อ่านขอยกบางบทบางตอนที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้มาส่งท้าย

          “มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งแสนจะลึกลับ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่คุ้นเคยอยู่ทุกวี่ทุกวัน มนุษย์ทุกคนเกี่ยวข้องกับมัน ทุกคนรู้จักมัน แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่นึกถึง คนส่วนมากยอมรับโดยปริยายและไม่แปลกใจอะไรเกี่ยวกับมัน สิ่งลึกลับที่ว่านี้ก็คือ เวลา

          เรามีปฏิทินและนาฬิกาสำหรับวัดเวลา แต่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากไปกว่านั้น เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่า บางครั้งเวลาหนึ่งชั่วโมงก็นานเหมือนกับจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่บางทีกลับเหมือนเป็นเพียงพริบตาหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประสบอะไรในชั่วโมงนั้น
          เพราะเวลาคือชีวิต และชีวิตสถิตอยู่ในหัวใจ”