เปิดคลังเอกสาร อมร ศรีวงศ์ = Unpacking the archives : Amorn Srivongse
AUTHOR พินัย สิริเกียรติกุล
CALL NO NA1523 พ65ป 2563
IMPRINT กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2563
[For MU Students and Staff can request here]
แม้ในปัจจุบันคนจะเริ่มรู้จักเขาในฐานะผู้ออกแบบตึกจานบินและตึกฟักทอง แต่ชื่อของอมร ศรีวงศ์ก็ยังคงลึกลับในวงการสถาปัตยกรรม และแม้ในทุกวันนี้จะเริ่มมีคนสนใจศึกษางานของอมรมากขึ้น แต่เราก็ยังรู้จักตัวเขาและผลงานของเขาน้อยมากเมื่อเทียบกับที่เขาได้สร้างสรรค์ไว้ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเขาเป็นผู้ออกแบบอาคารยุคแรก ๆ ในมหาวิทยาลัยไทยกว่า 6 แห่ง นับเฉพาะคณะวิชาต่างๆ รวมกันไม่น้อยกว่า 14 คณะ ทั้งที่ตัวเขาเองไม่เคยร่ำเรียนในโรงเรียนสถาปัตยกรรมเลย
ใน เปิดคลังเอกสาร อมร ศรีวงศ์ เล่มนี้ ผู้เขียนจะได้พาเราไปพบกับเอกสารส่วนตัวที่บันทึกเรื่องราวการทำงานของสถาปนิกสมัยใหม่ที่ครั้งหนึ่งได้รับการเรียกขานว่า “สถาปนิกเถื่อน” โดยพินัยเสนอว่าผลงานของสถาปนิกผู้ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งใบประกอบวิชาชีพท่านนี้ มีแก่นสารทางสถาปัตยกรรมชนิดไม่ได้ด้อยไปกว่าผลงานของสถาปนิกที่ผ่านการศึกษาในระบบแต่อย่างใด ทว่าในหลาย ๆ ครั้งกลับแสดงถึงความคิดที่สร้างสรรค์กว่า โลดโผนกว่า และกระทั่งลึกซึ้งกว่า หากแต่น่าเสียดายที่จนถึงบัดนี้ ผลงานของเขากลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากแวดวงวิชาการไทยสักเท่าใดเลย
จากการค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ ที่อมรเก็บไว้และไม่เคยเปิดเผยมาก่อน พินัยจะนำผู้อ่านไปหาคำตอบว่า อะไรคือศักยภาพนอกห้องเรียนที่เกื้อหนุนผลักดันให้อมรสามารถสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ “ก้าวหน้า” ที่สุดจำนวนหนึ่งขึ้นมาได้ และสิ่งใดที่หยุดพัฒนาการนั้น
“ในฐานะผู้เขียน ความปิติที่สุดในการทำงานชิ้นนี้คือ การได้มองเห็นความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจายปะปนอยู่ในหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่อมรเก็บไว้ การสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง และผลงานที่อมรได้สร้างขึ้นจริง ที่ดูเผิน ๆ แล้วอาจไม่เกี่ยวข้องกันนัก แต่เมื่อเชื่อมโยงกลุ่มข้อเท็จจริงเหล่านี้เข้าด้วยกันตามประเด็นคำถามที่ตั้งขึ้น ก็ทำให้ตัวตนและผลงานของอมรที่เต็มไปด้วยความมืดมนคลุมเครือในตอนแรกค่อย ๆ ชัดขึ้น กระจ่างแจ้งขึ้น และเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น บางอย่างสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่บ่อยครั้งกว่านั้นที่เกิดเป็นความเข้าใจใหม่อันสว่างโพล่งจากการมองเห็นความเชื่อมโยงของหลักฐานดังกล่าว แม้ข้อค้นพบจากการศึกษานี้จะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่อมรได้คิดและทำขึ้นจริงในอดีต แต่คงมีประโยชน์อยู่บ้างในการสะท้อนให้เห็นการใช้สติปัญญาทางการออกแบบก่อสร้างของสถาปนิกไทยผู้หนึ่ง ที่มีชีวิตการทำงานท่ามกลางการขยายตัวของระบบราชการและการศึกษาของไทยในช่วงทศวรรษที่ 2500 ถึง 2510 พอ ๆ กับที่เห็นเขาในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งที่ต่อสู้ดิ้นรนไปตามครรลองอาชีพสถาปนิก ที่ย่อมต้องผูกพันตนเองอยู่กับคุณค่าที่สังคมตั้งขึ้น ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับคุณค่านั้นหรือไม่ก็ตาม”
SOURCE : https://asa.or.th/handbook/unpacking-the-archives-amorn-srivongse/