การสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรเบื้องต้น โดยฐานข้อมูล Patent lens และฐานข้อมูลสิทธิบัตรไทย เพื่อการวางแผนการวิจัยและเตรียมคำขอสิทธิบัตร
วิทยากร: วัชรพงศ์ หมีสมุทร ตัวแทนสิทธิบัตร สำนักงานวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สถานที่: ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ ชั้น 2 อาคารหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
วัน-เวลา: วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น.
ผู้เข้าร่วมอบรม: นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ นางสาวรัตน์ชนก ยอดพินิจ นางสาวดวงพร โพธิ์บุตร
หัวข้อการบรรยาย
1.สิทธิบัตรคืออะไร
สิทธิบัตร เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ ต้องมีความใหม่ ไม่ซ้ำกับผู้อื่น และมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องออกแบบลักษณะภายนอก หรือรูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากเดิม
- อนุสิทธิบัตร มีความใหม่ แต่ไม่ต้องมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงมีระยะคุ้มครองน้อยกว่าสิทธิบัตร
ทั้งนี้ผู้ประดิษฐ์ (Inventor) หรือเจ้าของ (Owner) มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และต้องเปิดเผยเทคโนโลยีการผลิต
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตร ต้องมีลักษณะดังนี้ 1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ 2) มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และ 3) สามารถประยุกต์ทางอุตสาหกรรม ยกเว้น อนุสิทธิบัตร ที่มีคุณสมบัติเพียง ข้อ 1) และ ข้อ 3) ก็สามารถยื่นคำขอได้
การยื่นคำขอสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือองค์กรต่างประเทศที่ทำหน้าที่รับคำขอ เช่น WIPO มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี เนื่องจากมีผู้ยื่นคำขอจำนวนมาก และต้องใช้เวลาพิจารณาเอกสาร ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับการประดิษฐ์/ผลิตภัณฑ์อื่น เงื่อนไขเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เป็นสิ่งสำคัญของสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ดังนั้นวันที่ยื่นคำขอจึงเป็นจุดชี้ขาดว่าการประดิษฐ์ใดใหม่กว่า ทั้งนี้ตั้งแต่ขั้นตอนยื่นคำขอ จนถึงวันประกาศโฆษณา จะมีเพียงองค์กรทำหน้าที่รับคำขอ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ WIPO ที่เห็นข้อมูลและเอกสารคำขอ ข้อมูลจะเผยแพร่ในฐานข้อมูลต่อเมื่อได้รับเลขประกาศโฆษณาแล้วเท่านั้น
2. จุดประสงค์การสืบค้นสิทธิบัตร มีแนวการสืบค้น 2 ประเภท คือ
- Defensive & Focus
a. สืบค้นความเป็นไปได้ในการรับสิทธิบัตร/เอกสารก่อนหน้า
b. หลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิบัตร มีการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันหรือมีความซ้ำซ้อนหรือไม่
c. การเพิกถอนสิทธิบัตร การยื่นคัดค้านสิทธิบัตร
d. ความอิสระในการดำเนินการ โดยดูข้อถือสิทธิเป็นหลัก เช่น การระบุลักษณะของผลิตภัณฑ์ สามารถทำซ้ำได้ในลักษณะใด เป็นต้น
2. Offensive & Broader
a.เพื่อระบุแนวโน้มของเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนาอยู่ใช้เทคโนโลยีเก่า หรือล้าสมัยหรือไม่
b. รวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ ตรวจสอบข้อมูลและกลยุทธ์คู่แข่ง เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
c.ประเมินมูลค่าสิทธิบัตร หรือการขาย หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร เพื่อตั้งราคาขายให้เหมาะสมหรือใกล้เคียงกับคู่แข่ง
3. เมื่อไรที่ต้องสืบค้นสิทธิบัตร
เบื้องต้นขั้นตอนการพัฒนาหรือรวบรวมแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประดิษฐ์ควรสืบค้นสิทธิบัตร เพื่อตรวจสอบแนวโน้มของเทคโนโลยี ความเป็นไปได้ในการรับสิทธิบัตร/เอกสารก่อนหน้า และรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ หลังจากนั้นขั้นตอนการเตรียมตัวผลิตหรือประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ ควรสืบค้นเพื่อ ตรวจสอบความอิสระในการดำเนินการ การเพิกถอนสิทธิบัตร การยื่นคัดค้านสิทธิบัตร รวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ และประเมินมูลค่าสิทธิบัตร หรือการขาย หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร
4. เว็บไซต์เพื่อสืบค้นสิทธิบัตร สามารถสืบค้นได้จาก
-
- สำนักงานสิทธิบัตรไทย ipthailand.go.th
- องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก https://patentscope.wipo.int
- Google Patent https://patents.google.com
- สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป worldwide.espacenet.com
- สำนักงานสิทธิบัตรอเมริกา uspto.gov
- สำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น jpo.go.jp
- Commercial Database ฐานข้อมูลอื่นๆ ที่ต้องบอกรับหรือมีค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้งาน
5. สิ่งสำคัญในการสืบค้นสิทธิบัตร
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ผลการสืบค้นยิ่งมากดีกว่าได้ผลน้อย การได้ผลลัพธ์จำนวน 10 รายการ อาจไม่ใช่จำนวนทั้งหมด แต่อาจใช้คำศัพท์ไม่ครอบคลุม จึงควรสืบค้นหลายครั้ง และควรสืบค้นข้อมูลทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยใช้คำศัพท์ การสะกดคำในรูปแบบอื่น ตัวย่อชื่อวิทยาศาสตร์ และใช้เทคนิคสืบค้นช่วยด้วย หากผลลัพธ์ไม่ครอบคลุม อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ประดิษฐ์จะละเมิดสิทธิบัตร หรือประดิษฐ์ซ้ำซ้อน เพราะการประดิษฐ์ที่กำลังยื่นขอนี้ อาจเคยยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศอื่นแล้ว และมีข้อถือสิทธิที่อาจซ้ำซ้อนได้ เช่น ปากกา อาจสืบค้นโดยใช้คำว่า pen หรือ writing instrument เพื่อได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น
การใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยสืบค้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละฐานข้อมูล 1) การใช้สัญลักษณ์แทนบางส่วนของคำ เช่น * ? $ เป็นต้น 2) ใช้สัญลักษณ์ “” เพื่อการค้นหากลุ่มคำ ให้ปรากฏผลลัพธ์ตรงตามค่าที่ใส่ไว้ 3) การใช้คำเชื่อมเพื่อระบุเงื่อนไข เช่น AND OR NOT เป็นต้น 4) การใช้เครื่องหมายคณิตศาสตร์ กับค่าที่เป็นตัวเลข เลขที่ วันที่ เช่น = > < เป็นต้น
6. ฐานข้อมูล LENS http://www.lens.org
เป็นฐานข้อมูลฟรีที่ให้บริการสืบค้นสิทธิบัตรและบทความวิชาการ ประกอบด้วยข้อมูลสิทธิบัตร 116.5 ล้านรายการ 105 ประเทศ จากฐานข้อมูล European Patent Office, USPTO, WIPO และ Australian Patent โดยสืบค้นอย่างง่ายด้วย Keyword สามารถกรองหรือจำกัดผลการสืบค้น และแสดงผลการสืบค้นได้แบบกราฟ เพื่อดูแนวโน้มการจดสิทธิบัตร การกระจาย การรวมกลุ่มของข้อมูล แสดงข้อมูลของแต่ละประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรทั่วโลก แสดงจำนวนการผลิตในแต่ละบริษัท/หน่วยงาน
ข้อดี
1) ครอบคลุมสิทธิบัตรจากหลายฐานข้อมูล ไม่จำเป็นต้องสืบค้นจากหลายแหล่ง
2) สามารถอ่านบทคัดย่อ ข้อถือสิทธิ หรือดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ทันที
3) สามารถ Export ข้อมูลเพื่อตรวจสอบหรือศึกษาเพิ่มได้ในภายหลังในรูปแบบไฟล์ Excel
4) ฐานข้อมูลใช้งานง่าย และไม่มีขั้นตอนซับซ้อน
7. ฐานข้อมูลสืบค้นสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา http://patentsearch.ipthailand.go.th
ฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรภายในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น WIPO, European Patent Office, USPTO เป็นต้น โดยสืบค้นอย่างง่ายด้วย Keyword หรือสืบค้นจากเลขที่สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร สามารถระบุประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบ หรืออนุสิทธิบัตร ทั้งนี้ผลการสืบค้นแสดงในรูปแบบรายการ และแสดงผลในรูปแบบตารางสรุปพร้อมกราฟได้
ข้อดี
1) เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย จึงมีข้อมูลค่อนข้างครอบคลุม
2) สามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ในรูปแบบไฟล์ PDF
ข้อควรระวัง
การเลือกฐานข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อการสืบค้น ไม่ควรเลือกหลายฐานในคราวเดียว เพื่อความรวดเร็วยิ่งขึ้น