Home » บรรณารักษ์ » การประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน โดย สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

การประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน โดย สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

การประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน
(Library Development Towards Sustainability)
และประชุมใหญ่สามัญประจำปี พุทธศักราช 2565

วัน-เวลา : วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566
สถานที่ : โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพ
ผู้เข้าอบรม :  วรัษยา สุนทรศารทูล และ  อภิชัย อารยะเจริญชัย

สรุปประเด็นน่าสนใจแบบรวบยอด

ESCAP Library

  • Economic And Social Commission For Asia And The Pacific: ESCAP หรือ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นส่วนหนึ่งของ UN ซึ่งแน่นอนว่าพันธกิจต่าง ๆ ย่อมสนอง SDGs ในทุกข้อ โดยในปีนี้มีอายุครบ 75 ปี
  • ESCAP มีห้องสมุดด้วย อยู่ที่อาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นห้องสมุดเฉพาะที่รวบรวมข้อมูลและทรัพยากรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้
  • แน่นอนว่า Collection ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลโครงการ การดำเนินการ report ต่าง ๆ ของ ESCAP แต่ที่น่าสนใจคือมีการบอกรับฐานข้อมูลทั้งวารสารและหนังสือเหมือนกัน เช่น EBSCO Nature Oxford ScienceDirect Taylor&Francis ไม่ธรรมดานะครับ (https://www.unescap.org/library)


ภายในห้องสมุดที่อาคารสำนักงานฯ ถนนราชดำเนินกลาง

คลังข้อมูลและฐานข้อมูลที่มีให้บริการที่ ESCAP Library

ห้องสมุดสีเขียว

  • สมาคมฯ มีหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของการเป็น “ห้องสมุดสีเขียว” หากเราต้องการจะเข้าร่วมก็สามารถทำตามหลักเกณฑ์ได้ ยื่นเสนอขอเข้าร่วม แล้วจะมีคณะกรรมการมาตรวจสอบ
  • ข้อจำกัดใหญ่ของห้องสมุดสตางค์ คือการควบคุมการใช้พลังงานและการจัดการกับทรัพยากร ด้วยความที่ห้องสมุดเราอยู่ภายใต้อาคารที่รวมหลายหน่วยงาน จึงยากที่จะบริหารจัดการด้วยตัวเราเอง ตัวอย่างหอสมุดฯ ศาลายา สามารถจัดการทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ เนื่องจากเป็นอาคารเอกเทศ ควบคุมและบริหารได้เองทั้งการใช้พลังงาน การจัดการทรัพยากรที่เป็นของเสีย หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน
  • แต่หากเรามุ่งจะพัฒนาห้องสมุดสู่การเป็นห้องสมุดรักษ์โลก นอกเหนือจากจัดการเรื่องพลังงาน เรื่องอื่น ๆ ที่พอจะดำเนินการได้เราก็ทำได้ โดยยึดหลัก 3R ที่แสนจะเบสิก คือ Reduce Reuse Recycle ซึ่งเราทำแล้วเพียงแต่เราไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง
  • Zero Waste Library เราก็พอจะทำได้ และที่ทำไปแล้วก็มีหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบไฟส่องสว่าง การลดใช้กระดาษ การกำหนดช่วงเวลาในการเปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศ (ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเราอาจจะหยิบยกขึ้นมานำเสนอให้โลกรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกเหมือนกันนะ)

ศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

  • ห้องสมุดหลายแห่งโดยเฉพาะห้องสมุดประชาชนหรือห้องสมุดในชุมชน ปรับตัวเข้าหาสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างตรงเป้า เลิกคิดเรื่องทำยังไงให้คนเข้าห้องสมุด นั่งรอว่าคนมาเข้าห้องสมุด ทำไมคนไม่อ่านหนังสือ โดยการปรับทิศทางเข้าหาชุมชนเสียเอง การเข้าถึงความรู้ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนมาอ่านหนังสือ ห้องสมุดมีหน้าที่ทำยังไงก็ได้ให้ส่งผ่านความรู้ถึงประชาชน
  • ความรู้ที่ห้องสมุดให้ เอาไปทำอะไร? ผู้รับต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต และดีที่สุดคือการนำไปต่อยอดสร้างรายได้ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
  • ตัวอย่างในการประชุมฯ นำเสนอศูนย์การเรียนรู้ฯ จากหลายพื้นที่ ห้องสมุดประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมตรงถึงประชาชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มอะไรก็แล้วแต่ สร้างให้เกิดมูลค่า ห้องสมุดอาจไม่ได้ลงไปทำโดยตรง แต่ห้องสมุดเป็นแหล่งสารสนเทศ มีหน้าที่นำพาสาระความรู้ไปให้ถึงชุมชน จะผ่านช่องทางใดก็แล้วแต่
  • ทั้งหมดที่ว่ามาก็จะตอบโจทย์ SDGs ได้แบบเห็นผลเป็นรูปธรรม
  • เราทำหรือยัง? ด้วยความเป็นห้องสมุดเฉพาะ เราสนองโจทย์ SDGs ด้วยสถานะของการเป็นห้องสมุดคณะฯ ด้วยการสนับสนุนการเรียน การสอน การวิจัย เรามีศูนย์รับบริจาคฯ เรามี Training เรามีโน่นนี่นั่น บ้างก็ตอบโจทย์ในทางตรง บ้างก็ตอบโจทย์ในทางอ้อม แล้วเรายังทำอะไรได้อีกไหม?

ตัวอย่างจาก สำนักหอสมุด มรภ.เชียงใหม่ เกินกว่าร้อยละ 80 มุ่งตอบโจทย์ SDGs ข้อที่ 4 (การศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต) ในฐานะที่มีสถานะเป็นห้องสมุดในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน เขาก็ไม่ต่างอะไรจากเรา แต่ด้วยความที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เข้าถึงชุมชนได้ง่ายกว่าเรา นโยบายขององค์กรด้านการเข้าถึงชุมชนต่างจากเรา เขาจึงมีโครงการอะไรมากมายที่มุ่งสู่ชุมชนมากกว่า บางโครงการมีห้องสมุดเป็นเจ้าภาพ เช่น การจัดสร้างห้องสมุด การให้ความรู้ต่าง ๆ บางโครงการห้องสมุดเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น โครงการอนุรักษ์ผ้าพื้นเมือง การอนุรักษ์ภาษาถิ่น

นอกเหนือจากข้อ 4 ข้ออื่นก็น่าสนใจ เช่น

  • ข้อ 5 Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) เขามีโครงการเผยแพร่ข้อมูลส่งเสริมความเข้าใจและความเท่าเทียมทางเพศ กิจกรรมแฟชั่นไร้เพศ
  • ข้อ 7 Affordable and Clean Energy อันนี้ก็โยงไปสู่ห้องสมุดสีเขียว
  • ข้อ 11 Sustainable Cities and Communities การเข้าถึงพื้นที่ห้องสมุดอย่างเสรี เปิดให้บริการแก่คนทั่วไป รวมถึงในรูปแบบดิจิทัล การักษามรดกทางวัฒนธรรม

เอกสารประกอบการประชุม >> https://www.tla.or.th/index.php/th/news-and-events/tla-news/activities-2566/443-2023-03-29