Home » บรรณารักษ์ » ศึกษาดูงานกลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด ณ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ศึกษาดูงานกลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด ณ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน

กลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด ณ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 เวลา 9.00 – 16.00 น.

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม นางสาวกนกพร งามสว่างรุ่งโรจน์

            จากการที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรม การศึกษาดูงานกลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด ณ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะบุคลากรของหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีกิจกรรมดังนี้

ช่วงเช้า มีการกล่าวต้อนรับจากวิทยากรของสำนักบรรณสารการพัฒนา ณ ห้องประชุมสำนักบรรณสารการพัฒนา จากนั้นแนะนำสำนักบรรณสารการพัฒนา ได้แก่ ประวัติ วิสัยทัศน์ โครงสร้างขององค์กร ความร่วมมือของสำนักบรรณสารการพัฒนากับหน่วยงานภายนอก และขอบเขตภาระหน้าที่ต่างๆ ของกลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด

ช่วงบ่าย มีการประชาสัมพันธ์การเปิดให้บริการของ “ห้องสมุดอาเซียน ถนัด คอมันตร์”ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากนั้นวิทยากรพานำชมการทำงานของกลุ่มงานเทคนิค ชั้น 6 และนำชมพื้นที่ให้บริการของสำนักบรรณสารการพัฒนา ชั้น 2 , 3 และ 4

ประวัติสำนักบรรณสารการพัฒนา

สำนักบรรณสารการพัฒนาเป็นห้องสมุดระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้บริการสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม และการให้บริการวิชาการสาขาพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาสังคมศาสตร์ในระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ (Thai Natis) เป็นห้องสมุดเผยแพร่สิ่งพิมพ์ของธนาคารโลก (World Bank) และห้องสมุดเผยแพร่สิ่งพิมพ์ของสหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด (IFLA) นอกจากนี้ยังเป็นห้องสมุดในเครือข่ายระบบห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS)

สำนักบรรณสารการพัฒนาแต่เดิมเป็นห้องสมุดคณะรัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2498   ต่อมามีการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2509 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ได้โอนเข้ามาเป็นคณะหนึ่งของสถาบัน  ห้องสมุดคณะรัฐประศาสนศาสตร์จึงเปลี่ยนเป็นสำนักบรรณสารการพัฒนา และมีฐานะเป็นห้องสมุดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจจุบัน สำนักบรรณสารการพัฒนา ตั้งอยู่ที่ชั้น 2-4 อาคารอาคารบุญชนะ อัตถากร ผู้อำนวยการปัจจุบัน คือ ผศ. สุเทพ  ทองงาม

วิสัยทัศน์

สำนักบรรณสารการพัฒนาเป็นห้องสมุด เพื่อการวิจัยและการเรียนรู้ในสาขาพัฒนบริหารศาสตร์ และพัฒนาไปสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัล

ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (MOU)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศและข้อมูล รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการ และการพัฒนาคุณภาพงานบริการห้องสมุด กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

การจัดโครงสร้างองค์กร

สำนักบรรณสารการพัฒนา จัดแบ่งโครงสร้างโดยแยกภาระงานวิชาชีพของบรรณารักษ์ /นักวิชาการออกจากงานปฏิบัติการห้องสมุด ดังนั้นจึงแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ

             1) กลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติงานห้องสมุด เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการดำเนินงานและปฏิบัติงานห้องสมุดแบ่งออกเป็น3กลุ่มงาน คือ

  • กลุ่มงานเทคนิค
  • กลุ่มงานบริการ
  • กลุ่มงานจดหมายเหตุ

             2) สำนักงานเลขานุการ  ปฏิบัติงานสนับสนุนในสายงานหลักประกอบด้วย กลุ่มงานบริหารและธุรการกลุ่มงานการเงินและพัสดุ และกลุ่มงานแผนและพัฒนาองค์การ 

 กลุ่มงานเทคนิค มีขอบเขตภาระงาน  ดังนี้

1. งานเตรียมข้อมูลในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ มีหน้าที่รวบรวมความต้องการทรัพยากรสารสนเทศจากแหล่งต่าง ๆ เช่น คณาอาจารย์  นักศึกษา และ Course Syllabus เป็นต้น และตรวจสอบกับฐานข้อมูลว่ามีทรัพยากรสารสนเทศนั้นในห้องสมุดหรือไม่พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลการใช้บริการทรัพยากรสารสนเทศนั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศสำหรับทรัพยากรสารสนเทศ

ทรัพยากรสารสนเทศประเภทวารสาร มีการจัดเตรียม/สำรวจข้อมูลวารสารเพื่อการจัดหา ได้แก่ ข้อมูลสถานที่ติดต่อราคาบอกรับเป็นสมาชิกปีปัจจุบัน ใบสมัครสมาชิก  และติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนการสั่งซื้อ

  •  งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ มาจาก 3 ส่วน ได้แก่
  1. งบประมาณแผ่นดิน
  2. รายได้จากสถาบัน
  3. งบกองทุนทรัพยาการสนเทศของสำนักฯ
  •  ช่องทางการเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศ
  1. บันทึกข้อความจากอาจารย์
  2. แบบฟอร์มเสนอซื้อ (นักศึกษามผู้ใช้อื่นๆ)
  3. Book Request จากหน้าเว็บไซต์

2. งานจัดเก็บและปรับปรุงฐานข้อมูล / งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ  มีหน้าที่จัดเก็บ บันทึกข้อมูล ปรับปรุงฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ฐานข้อมูลหนังสือ งานวิจัยและสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ  ฐานข้อมูลวารสาร ฐานข้อมูลดรรชนีวารสารไทย และฐานข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียง  ส่วนงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ งานวิเคราะห์หนังสือภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ/ภาษาญี่ปุ่น  ภาคนิพนธ์/วิทยานิพนธ์  สื่อโสตทัศน์

โดยศูนย์บรรณสารการพัฒนา ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ HORIZON ในการจัดการฐานข้อมูลห้องสมุด และจัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (LC)
3. งานเตรียมทรัพยากรสารสนเทศเพื่อออกให้บริการ มีหน้าที่เตรียมและตรวจสอบความเรียบร้อยของทรัพยากรสารสนเทศก่อนออกให้บริการ ได้แก่ การติดใบรองปกหนังสือ การติดบัตรกำหนดส่ง การติดบาร์โค้ดและเทปแม่เหล็ก การพิมพ์ Label เลขเรียงหนังสือ การติดสันหนังสือ การจัดทำรายชื่อหนังสือพร้อมส่งตัวเล่มออกให้บริการ
4. งานแปลงเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ให้อยู่ในรูปดิจิทัล มีหน้าที่จัดการสแกนเอกสารสิ่งพิมพ์ของสถาบันที่เป็นรูปเล่มให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ได้แก่

  • งานแสกนวารสาร
  • งานแสกนวิทยานิพนธ์
  • งานสแกนหนังสือใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ หน้าปก, สารบัญ, เนื้อหา 10 หน้าแรก (เพื่อป้องกันปัญหาด้านลิขสิทธิ์) โดยเพิ่ม Tag 856 เพื่อเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาเมื่อผู้ใช้ทำการสืบค้นใน OPAC และมีการจัดแสดงที่ Digital Book Shelf

5. งานเชื่อมโยงเอกสารฉบับเต็มกับรายการทางบรรณานุกรม มีหน้าที่เชื่อมโยงเอกสารฉบับเต็ม (Full text) กับรายการดรรชนีในฐานข้อมูลดรรชนีวารสารไทยเพื่อผู้ใช้จะได้อ่านบทความฉบับเต็มขณะสืบค้น โดยไม่ต้องหาวารสารจากชั้น
6. งานวารสารเย็บเล่ม  มีหน้าที่รวบรวมและจัดเตรียมรายชื่อวารสารฉบับปลีกเพื่อส่ง เย็บเล่มพร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของตัวเล่มวารสารเมื่อได้รับคืนจากร้านค้า  ตลอดจนจัดเตรียมวารสารที่เย็บเล่มแล้วส่งให้งานบริการเพื่อออกให้บริการต่อไป
7. งานอนุรักษ์และบำรุงรักษาสภาพสิ่งพิมพ์ มีหน้าที่นำสิ่งพิมพ์ที่ผ่านการออกให้บริการแก่ผู้ใช้ซึ่งมีสภาพรูปเล่มไม่แข็งแรง หรือชำรุดในส่วนต่าง ๆ มาดำเนินการซ่อมแซมตามวิธีการอนุรักษ์สิ่งพิมพ์ โดยเลือกใช้วิธีให้เหมาะสมกับสภาพการชำรุดของสิ่งพิมพ์นั้น ๆ ให้กลับมีสภาพที่ดีและยืดอายุการใช้งาน สามารถนำออกให้บริการได้ต่อไป  สำหรับสิ่งพิมพ์ที่จัดหามาใหม่จะมีการหุ้มปกพลาสติกก่อนนำออกให้บริการ
8. งานพิมพ์บันทึกข้อความที่เกี่ยวเนื่องกับงานเทคนิค ได้แก่งานพิมพ์บันทึกส่งโสตทัศนวัสดุงานพิมพ์บันทึกส่งคืนวารสารที่ทำดรรชนีเสร็จแล้วและงานพิมพ์บันทึกรายชื่อวารสารที่ทางสำนักรับผิดชอบทำดรรชนีร่วมกับสำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นต้น

พื้นที่บริการ    ห้องสมุดตั้งอยู่บนอาคารบุญชนะ อัตถากร ชั้น 2 – 4 มีที่นั่งอ่านหนังสือกว่า 900 ที่นั่ง บนพื้นที่ใช้สอย 9,125 ตารางเมตร ดังนี้

ชั้น 2 : มีบริการต่างๆ ได้แก่

– เคาน์เตอร์บริการยืม – คืน ทรัพยากรสารสนเทศ

– Digital Information Noticeboard เป็นจอประชาสัมพันธ์ดิจิตอล จัดแสดงข้อมูลแนะนำหน่วยงาน ระเบียบการใช้ห้องสมุด และข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงาน

– Digital Bookshelves เป็นชั้นหนังสือดิจิตอลแบบ Touch Screen จัดแสดงหนังสือใหม่ในรูปแบบดิจิตอล (ประกอบด้วยหน้าปก สารบัญและเนื้อหา 10 หน้าแรก) และตัวอย่างภาพยนตร์ (Trailer) ที่มีให้บริการในห้องสมุด  นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศได้จากชั้นหนังสือนี้

– โต๊ะบริการสารสนเทศ (Reference Service) สำหรับให้บริการคำแนะนำด้านสารสนเทศแก่ผู้ใช้

– Training Room เป็นห้องคอมพิวเตอร์สำหรับให้ผู้ใช้สืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ใช้ต้องมีรหัสผ่านในการเข้าใช้

– Multimedia room เป็นห้องขนาดเล็ก สำหรับชมสื่อโสตทํศน์ต่างๆ เช่น ภาพยนตร์

– มุมหนังสือต่างๆ ได้แก่ มุมหนังสือราชวงศ์จักรี,  หอจดหมายเหตุ,  มุมหนังสือขบวนการเสรีไทย,  มุมหนังสือใหม่ (Recommended  books),  มุมหนังสือพิมพ์และวารสาร,  มุมศิษย์เก่าของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

– พื้นที่ให้บริการต่างๆ ได้แก่ Internet Zone,  E-book Zone,  OPAC Zone

ชั้น 3 : ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทย ได้แก่

– วารสารเย็บเล่มฉบับล่วงเวลา,  วิทยานิพนธ์,  ภาคนิพนธ์,  หนังสืออ้างอิง,  นวนิยาย

– บริการห้องค้นคว้า(Study Rooms) สำหรับนักศึกษาปริญญาโท จำนวน 43 ห้อง ได้แก่ ห้องสำหรับ 4 คน, 6 คน,10 คนและ 7คน โดยสามารถใช้บริการได้ครั้งละ 2 ชั่วโมง

– พื้นที่ให้บริการอื่นๆ ได้แก่ มุมอ่านหนังสือ,  Refreshment Area,  Internet Zone, Digital Bookshelves

ชั้น 4 : ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภาษาต่างประเทศ ได้แก่

– หนังสือ และวารสารเย็บเล่มฉบับล่วงเวลา

– บริการห้องค้นคว้า  (Study Rooms) สำหรับนักศึกษาปริญญาเอก จำนวน 32 ห้อง โดยสามารถใช้บริการได้ครั้งละ 1 คน/วัน

– พื้นที่ให้บริการอื่นๆ ได้แก่  ห้องละหมาดสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม,  ห้องสวดมนต์สำหรับผู้นับถือศาสนาพุธ  และห้อง Common room สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกใช้ทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน

– ได้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร ของสำนักบรรณสารการพัฒนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

– ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กระบวนการทำงานของกลุ่มงานเทคนิคห้องสมุด ร่วมกับบุคลากรของหน่วยงานห้องสมุดอื่น

About